โรคคอตีบ ต้องรีบสยบ (ตอนที่ 1)

นายแพทย์ พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อพัฒนาศักยภาพทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว สำหรับการป้องกันควบคุมโรคคอตีบในพื้นที่ที่เกิดโรคและพื้นที่ใกล้เคียงว่า จากสถานการณ์โรคคอตีบ (ตั้งแต่ 1 มิถุนายน - 25 กันยายน 2555) พบผู้ป่วยโรคคอตีบ จำนวน 59 ราย เป็นผู้ป่วยจาก จังหวัดเลย 46 ราย จังหวัดเพชรบูรณ์ 10 ราย และ จังหวัดหนองบัวลำภู 3 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ที่ จังหวัดเลย ซึ่งสถานการณ์ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่ที่อาจไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

นอกจากนี้ นายแพทย์ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ที่เกิดโรคและพื้นที่ใกล้เคียง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขและสำนักงานป้องกันควบ คุมโรคเขตนั้น ทำให้การดำเนินงานในการควบคุมโรคคอตีบเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

โรคคอตีบ (Diphtheria) เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่า “โรคคอตีบ” ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังเป็นโรคที่อาจกระทบกับผิวหนัง (Cutaneous diphtheria) เยื่อบุในหู ตา และอวัยวะเพศได้

ในอดีต โรคคอตีบมักเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเด็ก โดยโรคคอตีบถูกพบครั้งแรกในปีช่วงปี พ.ศ. 2323 หลังจากนั้นก็มีการคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันโรคคอตีบมาตลอด จนสำเร็จได้ในปี พ.ศ .2363 ซึ่งทำให้อัตราการเกิดโรคดังกล่าวลดลงอย่างชัดเจน แม้ว่าปัจจุบันจะยังคงมีการระบาดของโรคอยู่ในหลายส่วนของโลก แต่ในสหรัฐอเมริกา มีการพบผู้เป็นโรคคอตีบสูงสุดเพียง 5 รายต่อปี

โรคคอตีบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae (C. diphtheriae) ซึ่งมีอยู่ 4 ชนิด คือ Gravis, Mitis, Intermedius และ Belfanti ลักษณะและอาการของโรคคอตีบจะทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ในระบบทางเดินหายใจ บางกรณีที่รุนแรงเชื้อแบคทีเรียอาจมีการกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายได้

โรคคอตีบติดต่อกันได้ง่าย โดยการได้รับเชื้อโดยตรงจากการไอจามรดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือ การดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยโรคคอตีบในชุมชนแออัด ในกลุ่มชนที่มีฐานะไม่ดี เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนจะติดเชื้อได้ตั้งแต่เล็กหลังจากภูมิต้านทานจากแม่หมดลง

มนุษย์เป็นแหล่งเพาะเชื้อที่สำคัญของแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae ผู้ติดเชื้ออาจมีอาการของโรคคอตีบ หรือไม่มีอาการแต่เป็นพาหะ (Asymptomatic carriers) แพร่เชื้อที่สำคัญในชุมชน ระยะฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง 2 - 5 วัน โดยอาการของโรคคอตีบที่ปรากฏโดยทั่วไปรวมถึง

  • อาการเจ็บคอ
  • เป็นไข้
  • รู้สึกไม่สบาย
  • กลืนลำบาก
  • หายใจลำบาก

แหล่งข้อมูล:

  1. สาธารณสุขหวั่นโรคคอตีบระบาด เร่งส่ง 17 ทีม เคลื่อนที่เร็ว ให้ความรู้ประชาชน 8 จังหวัด http://www.naewna.com/local/25422 [2012, October 22].
  2. Diphtheria. http://www.medicinenet.com/diphtheria/article.htm [2012, October 22].