โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ธรรมชาติของสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ จำเป็นต้องเอาตัวรอดจากสถานการณ์อันตรายเพื่อให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ของตนเอง เราจะเห็นตามสารคดีเกี่ยวกับสัตว์ เช่น กวางจะวิ่งหนีทันทีที่เห็นพุ่มไม้สั่นไหว โดยไม่จำเป็นต้องให้เผชิญหน้ากับสิงโตก่อนแล้วค่อยวิ่งหนี มนุษย์เองก็มีการตอบสนองในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน เช่น เด็กนักเรียนที่แอบกินขนมในห้องเรียน รีบกินขนมให้หมดทันทีที่ได้ยินเสียงเดินที่ระเบียง เพราะคิดว่าจะโดนครูลงโทษ กลไกสำคัญเหล่า นี้มีประโยชน์เพราะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงภัยอันตรายที่จะเกิด แต่ในทางกลับกัน ถ้ามีมากขึ้น ก็อาจนำไปสู่ ความวิตกกังวลทั่วๆไป (Anxiety) แต่ถ้าวิตกกังวลมากจนส่งผลถึงการใช้ชีวิต ก็อาจนำไปสู่ความวิตกกังวลที่เกินเหตุ จนอาจเกิดเป็นโรค/ภาวะวิตกกังวล (Anxiety disorder) ได้

ความกลัวและความวิตกกังวลคืออะไร?

โรควิตกกังวล

เราคงเคยเห็นคนกลัวสิ่งแปลก ๆ เช่น กลัวเงาะ กลัวใบไม้ หรือกลัวตุ๊กตาหมี ซึ่งอาจสร้างความฉงนให้คนที่พบเห็น “ความกลัว (Fear)” เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะว่าคนแต่ละคนอาจเคยมีประสบการณ์กับสิ่งที่ทำให้กลัวแตกต่างกัน เช่น เด็กชายที่อยู่ในหมู่บ้านงูจงอาง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กลับไม่ได้รู้สึกกลัวงูเหมือนเด็กส่วนใหญ่ เพราะคุ้นเคยกับงูมาตลอด ดังนั้นความกลัวจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัย 2 อย่างควบคู่กัน

  • อย่างแรกคือ ตัวกระตุ้นที่ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นวัตถุ
  • อีกอย่างหนึ่งคือ ระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานรวดเร็ว ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น เหงื่อแตก ใจสั่น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น

ขณะที่มนุษย์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูง มีพัฒนาการทางสมองมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ โดย เฉพาะความสามารถในการคิดล่วงหน้า หรือจินตนาการได้เอง ทำให้มนุษย์ไม่ได้กลัวเฉพาะวัตถุที่อยู่ตรงหน้า แต่สามารถกลัวไปถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน และมีการคาดการณ์ล่วงหน้าอย่างไร้เหตุผล นั่นคือมนุษย์มีสิ่งที่มากกว่าความกลัว หรือที่เราเรียกว่า “ความวิตกกังวล (Anxiety)” นั่นเอง เราจึงเห็นได้บ่อยครั้งว่า คนใดที่มีความคิดเป็นเลิศ ก็มักมีความกังวลเป็นเลิศควบคู่กันไป

โรควิตกกังวลคืออะไร?

ความกังวลเล็กน้อยนั้นเป็นผลดี เพราะทำให้รู้จักเตรียมตัวต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดในอนา คต แต่ถ้ามากเกินไปจนเป็นผลกระทบต่อการทำงานหรือชีวิตประจำวัน ก็อาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มอาการของ “โรค/ภาวะวิตกกังวล (Anxiety disorder)” ได้ โดยทั่วไปคนเราเมื่อเจอตัวกระตุ้น (Stressor) เช่น ใกล้สอบ หรือต้องนำเสนองานต่อสาธารณชน ก็มีอาการตื่นเต้น ใจสั่น เหงื่อออก ซึ่งเกิดจากความคิดล่วงหน้าเชิงลบเช่น “เราต้องทำข้อสอบได้ไม่ดีอย่างแน่นอน” หรือ “ถ้าเราพูดผิดไปจะโดนคนอื่นตำหนิหรือเปล่า” โดยทั่วไปอาการวิตกกังวลเหล่านี้มักจะหายไปอย่างชัดเจน เมื่อทำงานสำเร็จลุล่วงไปแล้ว อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยโรควิตกกังวล พบว่าความ คิดซ้ำๆเหล่านี้ไม่ได้หายไปเมื่อทำงานลุล่วงไปแล้ว แต่ยิ่งเป็นมากขึ้น เพราะคิดว่ามันยังไม่สม บูรณ์ จนส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิต

ถ้าพิจารณาโรควิตกกังวลตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช จะแบ่งออกมาเป็น 7 โรค /ภาวะ ด้วยกัน ได้แก่

  • โรคกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)
  • โรคแพนิก (Panic Disorder)
  • โรคกลัวอย่างจำเพาะเจาะจง (Specific Phobia)
  • โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia)
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder)
  • ภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์วินาศภัย (Post Traumatic Stress Disorder)
  • ภาวะกังวลต่อการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder)

อะไรเป็นสาเหตุของโรควิตกกังวล?

จากทั้งหมด 7 โรคที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรควิตกกังวล แต่สามารถสรุปได้ว่าอาจเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก

  • ปัจจัยแรก ได้แก่ กรรมพันธุ์ เช่น ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรควิตกกังวล โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคนี้สูง ขึ้น หรือลักษณะพื้นอารมณ์แบบไม่แสดงออก (Behavioral Inhibition)
  • ในปัจจัยที่ 2 ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เช่น เด็กเลียนแบบพฤติกรรมหลีกเลี่ยงอุปสรรค (Harm Avoidance) จากพ่อแม่ ทำให้เด็กกลัวการเข้าสังคม

โดยสรุปแล้วการวินิจฉัยว่าโรควิตกกังวลมีสาเหตุจากด้านใดนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

อาการของโรควิตกกังวลเป็นอย่างไร?

อาการโรควิตกกังวล สามารถแบ่งออกเป็น 2 ด้าน

  • ด้านแรกได้แก่ อาการทางกาย ซึ่งเกิดจากการตอบสนองทางระบบประสาทอัตโนมัติมากเกิน ไป เช่น เหงื่อแตก ใจสั่น หายใจเร็ว ปวดท้องเกร็ง ในผู้ป่วยโรคแพนิกบางรายอาจมีอาการรุน แรงขนาดทำให้เกิดภาวะมือจีบ (การเกร็งของนิ้วมือ) และหมดสติได้ อย่างไรก็ตามอาการทางกายมักเป็นแค่ชั่วคราว โดยเฉพาะเวลาที่มีตัวกระตุ้น
  • อาการอีกด้าน ได้แก่ กลุ่มอาการทางความคิดหมกมุ่น ซึ่งมักเป็นเรื้อรังมากกว่า ทั้งที่ผู้ป่วยรู้ตัวดีว่าความคิดไร้เหตุผล แต่ก็ไม่สามารถกำจัดความคิดเหล่านั้นออกไปได้ เช่น ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ จะมีความคิดว่า ลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผู้ป่วยโรควิตกกังวลทั่วไป จะมีความกังวลล่วง หน้าในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ในผู้ป่วยหลายราย อาการทางกายและทางความคิดมีความสำคัญอย่างชัดเจน เช่น เมื่อมีอาการใจสั่น ผู้ป่วยก็เริ่มกังวลว่าจะเป็นโรคหัวใจอันตราย เมื่อกังวลมากขึ้นก็ยิ่งทำให้ใจสั่นมากขึ้น มีอาการเหล่านี้กลับไปมาตลอดเวลา จนเป็นวงจรของโรควิตกกังวล

เมื่อไรควรไปพบจิตแพทย์ เมื่อมีความวิตกกังวล?

หลายๆคนคงเคยวิตกกังวลตามสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งบางคนเป็นมากจนสงสัยว่าจะเป็นโรควิตกกังวลหรือไม่ ในทางการแพทย์ ตัวชี้วัดที่ชัดเจนอย่างหนึ่งว่า อาการวิตกกังวลนั้น “มากกว่าปกติ” คือ ให้ดูที่การทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าอาการวิตกกังวลนั้น ส่งผลทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่นั้นได้อย่างเคย เช่น สมาธิในการทำงานเสียไป ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานแย่ลง นอกจากนี้ ถ้ามีอาการทางกายชัดเจน เช่น ใจสั่น นอนไม่หลับ ปวดท้องบ่อยๆ ร่วมด้วย ก็ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อประเมินโรควิตกกังวล

การวินิจฉัยโรควิตกกังวลทำได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรควิตกกังวล ในเบื้องต้น แพทย์จำเป็นต้องประเมินอาการของโรคทางกาย ที่อาจมีอาการคล้ายโรควิตกกังวล เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคไทรอยด์เป็นพิษ อาจมีการเจาะเลือดในผู้ป่วยบางราย เพื่อยืนยันโรคทางกาย หลังจากนั้นจิตแพทย์จะประเมินอาการโดยการสัมภาษณ์ และตรวจสุขภาพจิตว่าอาการเข้าได้กับโรควิตกกังวลกลุ่มใด ทั้งนี้ เกณฑ์อา การต่างๆทางการแพทย์ (ที่ได้จากการประเมินของแพทย์) ในการวินิจฉัยโรควิตกกังวล มีความชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปพบแพทย์

โรควิตกกังวลรักษาได้อย่างไร?

เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า เป็นโรควิตกกังวล จะให้การรักษาโรคต่อไป ซึ่งมีทั้งจิตบำบัดเพื่อปรับพฤติกรรม หรือยาคลายกังวล

ในผู้ป่วยบางราย อาจต้องให้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กันไป เนื่องจากผู้ป่วยมักจะคิดมากว่าตัวเองเป็นโรคประสาท หรือโรคร้ายแรงจนไม่สามารถเยียวยา

เบื้องต้น แพทย์จะให้ความรู้ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรควิตกกังวลว่า ไม่อันตรายและรักษาหาย ขาดได้ โดยส่วนใหญ่ ระยะเวลาในการรักษาใช้เวลาอย่างน้อย 2 ถึง 3 เดือนขึ้นไป ขึ้นกับความรุนแรงของตัวโรค และความต่อเนื่องของผู้ป่วยในการมาพบแพทย์ ดังนั้นความร่วมมือระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด

การทำจิตบำบัด จะเน้นการเผชิญหน้ากับสิ่งเร้าอย่างเป็นขั้นตอน (Systematic Desensitization) โดยเริ่มจากสิ่งเร้าที่กังวลน้อยไปสู่สิ่งเร้าที่กังวลมาก อย่างค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกควบคุมกล้ามเนื้อและควบคุมการหายใจ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ระบบประ สาทอัตโนมัติทำงานรวดเร็วเกินไป และนอกจากนี้ ยังมีการปรับความคิดเพื่อปรับพฤติกรรม(Cognitive Behavioral Therapy) เพื่อขจัดความคิดเชิงลบที่เป็นสาเหตุของความวิตกกังวล การทำจิตบำบัดจะมีรูปแบบที่ชัดเจน และมักจะรวมไปถึงการมอบหมายการบ้านให้ผู้ป่วยไปทำ เช่น ทดลองเผชิญหน้ากับสิ่งที่กังวลทีละนิด หรือ จดบันทึกอารมณ์ เพื่อประเมินความกังวลในแต่ละช่วงเวลา

ยารักษาโรควิตกกังวลที่ใช้รักษา แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม

  • กลุ่มแรกคือยาต้านเศร้า (Antidepressant) ที่นิยมใช้คือ ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์กับสารสื่อประสาท ชนิดที่เรียกว่า Serotonin เช่น ยา Fluoxetine และ ยา Sertraline ยานี้มีผลข้างเคียงน้อย เช่น คลื่นไส้อาเจียน หรือวิงเวียนศีรษะ มีความปลอดภัยเมื่อรับประทานตามขนาดที่แพทย์สั่ง แต่มีข้อเสียที่จำเป็นต้องรับประทานยาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป จึงสามารถบอกผลการรักษาได้ ดังนั้นในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการรักษา แพทย์จึงต้องให้ยากลุ่มที่ 2
  • ยากลุ่มที่ 2 คือยาคลายกังวล (Anxiolytic) เช่น ยา Alprazolam, Clonazepam หรือ Lorazepam ซึ่งยามักออกฤทธิ์ทันที ช่วยลดการตื่นตัวของระบบประสาท และช่วยให้นอนหลับ เนื่องจากยากลุ่มที่ 2 นี้ มีฤทธิ์ง่วงซึม จึงควรระมัดระวังถ้ารับประทานยาในช่วงเวลาทำงาน

โรควิตกกังวลรักษาได้หายขาดหรือไม่?

โดยทั่วไปแล้ว โรควิตกกังวลทุกชนิด มักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี ใช้เวลาการรักษาประมาณครึ่งถึงหนึ่งปี ยิ่งรักษาตั้งแต่เริ่มต้นเท่าใด ก็ยิ่งตอบสนองต่อการรักษาดี การพยากรณ์โรคขึ้นกับอาการในแต่ละโรค เช่น โรคแพนิกจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาดีกว่าโรคย้ำคิดย้ำทำ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางราย อาจจำเป็นต้องกินยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพื่อป้อง กันไม่ให้โรคกลับมาเป็นซ้ำ เนื่องจากเมื่อมีอาการบ่อย ก็ยิ่งทำให้รักษาได้ยากขึ้น ดังนั้น การรัก ษาวิธีใดขึ้นกับดุลยพินิจ และความชำนาญของแพทย์แต่ละท่าน

โรควิตกกังวลก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรควิตกกังวล เมื่อไม่ได้รับการดูแลรักษา เช่น ภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ มีอาการทางกายดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ และอาจหันไปพึ่งสารเสพติด เช่น ดื่มแอลกอฮอล์

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อวิตกกังวล?

การดูแลตัวเองเมื่อเริ่มวิตกกังวล เป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปควรทำความเข้าใจเบื้องต้น เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรง จนพัฒนากลายเป็นโรควิตกกังวลในภายหลังได้

เนื่องจากอาการวิตกกังวลประกอบด้วย อาการทางกายและทางความคิด การปรับความ คิดอาจทำได้ยากกว่าการควบคุมร่างกายตัวเอง ดังนั้นการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และควบคุมการหายใจ จะเป็นการผ่อนคลายความวิตกกังวลในเบื้องต้น สามารถเริ่มทำได้ โดยอยู่ในสิ่ง แวดล้อมที่เงียบสงบ ไม่มีสิ่งรบกวน หายใจเข้าออกช้าๆ นับ 1–10 ต่อการหายใจเข้าออกแต่ละครั้ง ทำร่วมกับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถทำได้โดยอยู่ในท่านั่งหรือท่านอนที่สบาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ เมื่อสามารถทำตามวิธีดังกล่าว จะทำให้ร่างกายตอบสนองลดลงต่อระบบประสาทอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามควรทำอย่างสม่ำเสมอวันละ 10–15 นาที

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อเป็นโรควิตกกังวล สิ่งหนึ่งที่ต้องปรับความคิดและทำความเข้าใจว่า โรคนี้ไม่ได้ร้าย แรงอย่างที่เข้าใจ แต่ความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับโรควิตกกังวล ยิ่งทำให้อาการแย่ลง ตัวอย่างเช่น คนไข้มีความเข้าใจผิดว่า ต้องพยายามควบคุมความคิดเพื่อรักษาอาการ แต่ที่จริงแล้วการพยา ยามควบคุมความคิด ยิ่งทำให้โรคเป็นมากขึ้น การรักษาที่ถูกต้อง แพทย์จะแนะนำว่า ให้รู้สึกผ่อนคลายในสิ่งที่ง่าย ๆ เช่น รู้สึกสบายเมื่อมีลมเย็นๆ ความรู้สึกที่ชัดเจนจะช่วยให้ลดความฟุ้ง ซ่าน ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของโรควิตกกังวล

นอกจากนี้การออกกำลังกาย และทำกิจกรรมตามปกติ จะมีประโยชน์มากกว่าการเก็บตัว ไม่เข้าสังคม เนื่องจากการอยู่คนเดียว จะทำให้ผู้ป่วยอยู่กับความคิดของตนเองคนเดียว และอาจมีความคิดเชิงลบที่มักแทรกซึมเข้ามาทีละนิด เช่น ผู้ป่วยที่ขาดงาน มักปรับตัวต่อการกลับ ไปทำงานใหม่อีกครั้งได้ยาก เพราะเข้าใจว่าเพื่อนที่ทำงานไม่ชอบตัวเอง และทำให้ตอบสนองต่อเพื่อนร่วมงานไม่ดี นำไปสู่ปัญหาที่ทำงานตามมา

ป้องกันความวิตกกังวลและโรควิตกกังวลอย่างไร?

ในคนที่ปัจจุบันยังไม่มีความวิตกกังวล จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีในการป้องกันภาวะวิตกกังวล เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน การรับรู้ถึงสภาวะปกติของตัวเองจะช่วยให้เข้าใจว่า เมื่อมีอาการวิตกกังวลแล้ว ร่างกายกับความคิดตนเองเปลี่ยนแปลงไปในทางใด นอกจากนี้การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยป้องกันความวิตกกังวล และโรควิตกกังวลได้เป็นอย่างดี

บรรณานุกรม

  1. เอกสารประกอบการสอน นิสิตแพทย์ปี 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,นพ.ทรงภูมิ เบญญากร
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Anxiety_disorder [2014,Jan8].
  3. ตำราจิตเวชรามาธิบดี, มาโนช หล่อตระกูล