โภชนาการกับการหายของแผล(Nutrition in Wound Care) ตอนที่ 5

โภชนาการกับการหายของแผล

การเลือกรับประทานอาหาร มีอิทธิพลต่อภาวะโภชนาการ การรักษาบาดแผลเนื่องจากบาดแผลที่รุนแรงต้องการ โปรตีน พลังงาน วิตามิน แร่ธาตุ ซึ่งวิตามินต่างๆเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีความจำเป็นในการส่งเสริมการหายของบาดแผล โดยจะมีกลุ่มวิตามินที่จำเป็นดังนี้

1. วิตามินซี เป็นส่วนสำคัญในการสร้างคอลลาเจน ช่วยสร้างสารภายในเซลล์ ซึ่งมีหน้าที่ยึดเซลล์ให้ติดกับเซลล์อื่นๆ รักษาผนังหลอดเลือดฝอยให้แข็งแรง ช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อและช่วยป้องกันการติดเชื้อ การขาดวิตามินซี จะทำให้การสังเคราะห์ใยคอลลาเจนไม่สมบูรณ์และใยคอลลาเจนที่สร้างมีน้อย และมีคุณสมบัติผิดปกติ เป็นอุปสรรคต่อการหายของแผล วิตามินที่ผู้ป่วยควรได้รับอยู่ในช่วง 100 – 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของแผล

แหล่งที่ดีของวิตามินซี ได้แก่ ฝรั่ง ส้ม พริกหวานเขียว ส้มโอ มะขามป้อม บล็อกโคลี มะเขือเทศ น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เป็นต้น วิตามินซีมีความไวต่อแสงอากาศและความร้อน ดังนั้นเราจะได้รับวิตามินซีมากที่สุดถ้า รับประทานผักและผลไม้สด

2. วิตามิน เอ มีความจำเป็นในการสร้าง การสังเคราะห์ใยคอลลาเจน การเจริญและพัฒนาของเยื่อบุผิว เนื้อเยื่อและกระดูก การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้บาดแผลสามารถฟื้นฟูได้ดี ภาวะขาดวิตามินเอ มักพบบ่อยในผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรือไฟไหม้ ภาวะขาดวิตามินจะลดปริมาเนื้อเยื่อผิวหน้าแผลผ่าตัด ลดสารเคมีที่หลั่งจากแผลซึ่งจะช่วยสร้างความเหนียวและการหายของแผล อาหารที่มีวิตามิน เอ คือ ไข่แดง ตับ ผลิตภัณฑ์นม ผัก ผลไม้ที่มีสีเหลืองสีส้มเข้ม

3. วิตามินบีรวม ส่งเสริมการให้เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่กำจัดแบคทีเรียในแผล ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่แผล ทำให้แผลหาย อาหารที่มีวิตามินบีรวม คือ กล้วย ผักใบเขียว ข้าวที่มีสี ถั่วต่างๆและ โยเกิรต์

4. วิตามิน เค ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ป้องกันภาวะเลือดออกผิดปกติ ช่วยให้เกิดปฏิกิริยาการย่อยและการสังเคราะห์กรดอะมิโนเพื่อสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อ วิตามิน เค พบในผักกาดหอม คะน้า ผักตระกูลกล่ำ โหระพา หน่อไม้ฝรั่ง ไข่ ตับ .

อ้างอิง

วีระเดช พิศประเสริฐ . การคัดกรองและประเมินสภาวะโภชนาการ. Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.

ปรียานุช แย้มวงษ์. Nutrition Assessment. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.

รุจิรา สัมมะสุต.หลักการปฏิบัติด้านโภชนบำบัด ; บริษัทพรการพิมพ์จำกัด ,2541

อนุชตรา วรรณเสวก.พยาบาลโภชนบำบัด Nutrition Support Nurse;2557.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ