โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ตอน 3 สารอาหารที่สำคัญ (ต่อ)

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตอน-3

      

      หมวดที่ 2 ข้าวแป้ง

      อาหารกลุ่มนี้ได้แก่ ข้าว ข้าวเหนียว เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นขนมจีน แป้ง ข้าวโพด เผือก มัน น้ำตาล สารอาหารที่มีมากคือ คาร์โบไฮเดรต ที่เป็นแหล่งของพลังงาน ทำให้ระบบต่างๆของร่างกายสามารถทำงานได้ตามกิจวัตรประจำวัน หากร่างกายได้รับพลังงานจากคาร์-โบไฮเดรดไม่เพียงพอ ร่างกายจะดึงโปรตีนมาใช้เป็นพลังงาน ทำให้ร่างกายขาดโปรตีนได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องจำกัดโปรตีน อาหารในกลุ่มข้าวแป้งสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามปริมาณโปรตีนได้แก่

      1.กลุ่มที่มีโปรตีน อาหารในกลุ่มนี้ได้แก่ ข้าว ข้าวเหนียว เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นขนมจีน ขนมปัง ข้าวโพด เผือก มัน เส้นบะหมี่ ฯลฯ สำหรับผู้ที่ต้องจำกัดโปรตีนควรบริโภคข้าวแป้งกลุ่มนี้ในปริมาณที่จำกัด คือ บริโภคข้าวสวย ไม่เกินมื้อละ 2 ทัพพี ดังนั้นข้าวสวย 1 ทัพพี สามารถนำไปแลกข้าวต้มไม่รวมน้ำ 2 ทัพพี เส้นก๋วยเตี๋ยว 1 ทัพพี เส้นบะหมี่ 1 ทัพพี เส้นขนมจีน 1 ทัพพี ข้าวเหนียว 3 ก้อนเล็ก หรือขนมปัง 1 แผ่น เนื่องจากอาหารกลุ่มนี้ให้โปรตีนและพลังงานเท่ากันตามอาหารแลกเปลี่ยน (food exchange list)

      2. กลุ่มที่ไม่มีโปรตีน เรียกกลุ่มนี้ว่าแป้งปลอดโปรตีน อาหารกลุ่มนี้จะมีลักษณะเฉพาะเมื่อสุกแล้วจะมีลักษณะใส ได้แก่ วุ้นเส้น เส้นก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ แป้งมัน แป้งท้าวยายม่อม และสาคู ข้าวแป้งกลุ่มนี้ยังให้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตเช่นเดียวกับกลุ่มแรก แต่ปราศจากโปรตีนเนื่องจากในกระบวนการผลิตมีการสกัดโปรตีนออก ทำให้แป้งมีแร่ธาตุต่ำ และไม่มีโปรตีน แป้งปลอดโปรตีนจึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของผู้ป่วยที่จำกัดโปรตีน แป้งปลอดโปรตีนยังมีคุณสมบัติที่ดีต่อผู้ป่วย คือ เมื่อผ่านการย่อยแล้วทำให้ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยโรคไต เบาหวาน และมีเกลือแร่ โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัสต่ำ

      สำหรับผู้ที่ต้องจำกัดโปรตีน เพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด หากรับประทานข้าวแป้งที่มีโปรตีนแล้วไม่อิ่มสามารถเลือกรับประทานกลุ่มข้าวแป้งที่ปลอดโปรตีนได้ แต่ควรระมัดระวังเรื่องพลังงานเกินด้วย อาหารที่ทำจากข้าวแป้งปลอดโปรตีน เช่น ผัดวุ้นเส้น ยำวุ้นเส้น ทอดกรอบเส้นเซี่ยงไฮ้ แกงเหลืองเม็ดสาคู ขนมลอดช่องแก้ว ซ่าหริ่ม ขนมลืมกลืน ขนมชั้น สาคูเปียก สาคูน้ำเชื่อม ฯลฯ และในผู้ที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ควรจำกัดการบริโภค น้ำตาล กะทิเลือกรับประทานอาหารประเภทคาวแทน

      

เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างข้าวแป้งมีโปรตีน และข้าวแป้งไม่มีโปรตีน
 
 ข้าวแป้ง
 
 มีโปรตีน
 ให้พลังงานแก่ร่างกาย
 ไม่มีโปรตีน
 น้ำตาลในเลือดขึ้นเร็วกว่า
 
 ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นช้าๆ
 มีโซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส
 
 โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ต่ำ
 ยังมีของเสียจากโปรตีน
 
 ไม่เพิ่มของเสียจากโปรตีน
 เมื่อไตเสื่อมมากต้องจำกัดปริมาณ
 
 เมื่อไตเสื่อมมากใช้แทนแป้งที่มีโปรตีนโดยที่ยังให้พลังงาน
 อาทิ ข้าว ข้าวเหนียว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่
 
 อาทิ วุ้นเส้นจากถั่วเขียว แป้งมัน สาคู
 ขนมปัง ข้าวโพด มัน เผือก
 
 ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้

      

***ความแตกต่างที่เห็นชัดเจนคือ ปริมาณโปรตีนและแกลือแร่

      

แหล่งข้อมูล:

  1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์.โภชนาการสำหรับผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง. กรุงเทพฯ: บริษัท ไอดี ออล ดิจิตอล พริ้น จำกัด; 2560.
  2. ชนิดา ปโชติการ,สุนาฎ เตชางาม.จัดอาหารให้เหมาะสมเมื่อเบาหวานลงไต. ว.สมาคมนักกำหนดอาหาร 2551;28:7.