โภชนบำบัดกับกับภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ (ตอนที่ 4)

โภชนบำบัดกับกับภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

ปัญหาพฤติกรรมการรับประทานอาหารในผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้ป่วยได้รับอาหารบางอย่างมากเกินไปไม่ถูกส่วน ทำให้เกิดปัญหาโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไขมันอุดตันในหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง เกิดจากการลืมของผู้ป่วยที่เรียกว่า “ลืมอิ่ม” ผู้ป่วยจะกินเก่งในระยะแรกของโรค เนื่องจากจำไม่ได้ว่ารับประทานไปแล้ว ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเท่าที่อยากให้ทาน ไม่วางอาหารไว้บนโต๊ะในปริมาณมาก กรณีไม่มีคนดูแล อาจทำผู้ป่วยได้รับอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย

ปัญหาการเลือกกิน กินไม่ได้และกินไม่พอ ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร เช่น การขาดแร่ธาตุ แคลเซียม และขาดวิตามินต่างๆ เกิดจากผู้ป่วย “ลืมหิว” ผู้ป่วยมักจะไม่ยอมรับประทานมีปัญหาการกลืน โดยมากจะเป็นในระยะท้ายๆ ของโรค อาจมีปัญหาด้านสุขอนามัย เหงือก และฟัน ควรพิจารณาอาหารว่างระหว่างมื้อ เติมอาหารที่มีประโยชน์ไปในอาหารชนิดที่ผู้ป่วยทานควรเน้นอาหารเนื้อสัตว์ย่อยง่าย

การจัดการด้านกิจวัตรประจำวัน : การรับประทานอาหาร

  1. ผู้ใกล้ชิดควรประเมินความสามารถในการเคี้ยวและกลืนของผู้ป่วย หรือการใช้ฟันปลอม
  2. ให้ผู้ป่วยมีโอกาสเลือกทานอาหารที่ตนเองชอบตามหลักโภชนาการ ไม่ลำบากต่อการเคี้ยว เป็นอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวที่ไม่ต้องเคี้ยวมากนัก เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ซุปข้นๆ ไข่ตุ๋น เต้าหู้ ผักตุ๋นเป็นต้น
  3. แบ่งอาหารให้พอดีคำ เตรียมใส่ช้อนไว้ เน้นให้ตักด้วยตนเอง หากยังสามารถทำเองได้
  4. ควรใช้ ช้อน ส้อม ด้ามใหญ่ เพราะจับถือได้สะดวกมากกว่า
  5. ปรับอุณหภูมิอาหารให้เหมาะสม ไม่ร้อนจัด หรือเย็นจัด
  6. ปรับเวลาอาหารให้เหมาะกับการพักผ่อนนอนหลับและการออกกำลังกาย
  7. พยายามคงบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมเดิมๆของการรับประทานอาหาร เช่น เวลาตำแหน่งของโต๊ะเก้าอี้ และอุปกรณ์ที่ใช้เป็นประจำ
  8. อาหารบนโต๊ะควรมี 2-3 อย่าง ไม่ควรมีอาหารหลายชนิดมากนัก ควรใช้จานสีเรียบ
  9. ควรดูแลผู้ป่วยขณะรับประทานอาหาร ช่วยเหลือเมื่อจำเป็น และให้แน่ใจว่าผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ครบตามหลักโภชนาการ และระวังการสำลักน้ำ อาหาร
  10. กรณีผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานอาหาร ควรให้ผู้ป่วยได้มีส่วนร่วมในการเลือกรายการอาหารหรือมีส่วนร่วมในการทำอาหารที่ผู้ป่วยชอบ เช่น การทำแซนวิช การห่อเกี๊ยว การเด็ดผัก เป็นต้น

อ้างอิง

นัยพินิจ คชภักดี. อาหารฟังก์ชั่นกับการดูแลส่งเสริมสุขภาพและสมอง. การประชุมวิชาการ เรื่อง แนวทางการดูแลสุขภาพและชะลอวัยแบบองค์รวม ; วันที่ 4 กันยายน 2558 ; ณ โรงแรมซากุระแกรนด์วิว สงขลา.

อรพิชญา ไกรฤทธิ์ . Nutritional Therapy for people with dementia . การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่อง งานโภชนาการและโภชนบำบัดกับระบบบริการสุขภาพ ; วันที่ 27 – 29 เมษายน 2558 ; ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลี่ย์. กรุงเทพฯ.

เพียงพร เจริญวัฒน์ . งานโภชนบำบัดกับผู้ป่วยสมองเสื่อม . การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่อง งานโภชนาการและโภชนบำบัดกับระบบบริการสุขภาพ ; วันที่ 27 – 29 เมษายน 2558 ; ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลี่ย์. กรุงเทพฯ.