โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บ (Propoliz Plus extherb)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บ (Propoliz Plus extherb) สเปรย์บรรเทาอาการเจ็บคอ ระคายคอและช่วยให้ชุ่มคอสำหรับพ่นในช่องปากและลำคอที่ผสมสารสกัดจากสองพลังธรรมชาติของโพรพอลิส (Propolis) และสมอไทย (Terminalia chebula ) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาจากสมุนไพรที่วิจัยพัฒนา

โพรพอลิส หรือ สารสกัดโพรพอลิส(Propolis Extract) เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่ได้จากผิวของรังผึ้ง มีการค้นพบบันทึกการใช้โพรพอลิสเพื่อรักษาโรคติดเชื้อในช่องปากและลำคอ เจ็บคอหรือปวดฟัน ช่วยสมานแผลมาอย่างยาวนาน ในปัจจุบันมีการนำโพรพอลิสมาใช้ในทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการฆ่าเชื้อ ลดการอักเสบ โดยอยู่ในรูปแบบของสเปรย์บรรเทาอาการเจ็บคอ ยาอมแก้เจ็บคอ น้ำยาบ้วนปาก เจลป้ายแผลในปาก ยาสีฟัน สบู่ ครีมและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

สมอไทย หรือ สารสกัดสมอไทย (Terminalia chebula extract) เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคที่มีสรรพคุณทางยามากมายและใช้มาอย่างยาวนานทั้งในวงการแพทย์แผนไทย แพทย์อายุรเวทอินเดียและทิเบต เช่น บรรเทาอาการไอ ลดไข้ รักษาอาการท้องร่วง ยับยั้งเชื้อจุลชีพ ในประเทศอินเดียถือว่าสมอไทยเป็น “ราชาสมุนไพร” หรือ “ราชาแห่งยา”

จากการวิจัยพบว่าการใช้ “โพรพอลิสร่วมกับสมอไทย” ช่วยเสริมฤทธิ์การยับยั้งจุลชีพ และสารผสมดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อยับยั้งเชื้อจุลชีพในช่องปากและลำคอได้ (Kaewmanee et al, 2012) จนเป็นที่มาของการวิจัยและพัฒนายาจากสมุนไพร โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บ ที่มีส่วนประกอบจากสารสกัดโพรพอลิสและสมอไทยในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อใช้บรรเทาอาการเจ็บคอ ระคายคอที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อและการอักเสบ พร้อมทั้งช่วยให้ชุ่มคอ ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและหันมาใช้ยาจากธรรมชาติเพิ่มขึ้น

ส่วนประกอบและลักษณะของโพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บ ?

โพรโพลิซพลัสเอ็กเฮิร์บ
  • ส่วนประกอบในตำรับ:
    • ตัวยาสำคัญ: ใน 100 กรัม ประกอบด้วย
      • สารสกัดโพรพอลิส (proplis extract)
      • สารสกัดสมอไทย (Terminalia chebula extract)
  • ลักษณะ: ยาน้ำใสสีน้ำตาล

โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) และกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร ?

โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บ (Propoliz Plus extherb) เป็นยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณระงับเชื้อในช่องปากและลำคอช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ระคายคอ ช่วยให้ชุ่มคอ โดยโพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บ ประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือสารสกัดโพรพอลิสและสารสกัดสมอไทย ซึ่งตัวยาแต่ละชนิดมีสรรพคุณที่สอดคล้องกับการใช้ในช่องปากและลำคอดังนี้

  • สารสกัดโพรพอลิส ปัจจุบันมีงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดโพรพอลิสอย่างกว้างขวาง โดยพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาทั้งในด้านการต้านเชื้อจุลชีพทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (ต้าน Arachidonic acid) และบรรเทาอาการปวด เร่งกระบวนการสมานแผล นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ เช่น ต้านการออกซิเดชั่น
  • สารสกัดสมอไทย มีสรรพคุณและกลไกการออกฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อจุลชีพทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและยีสต์ บรรเทาอาการไอโดยเคลือบจุดรับสัญญาณการไอจากสิ่งแปลกปลอม รวมทั้งมีฤทธิ์ทางยาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ลดไข้ ลดอาการท้องร่วง ลดการอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้ รักษาโรคผิวหนัง การติดเชื้อจากทางเดินปัสสาวะ

สองพลังธรรมชาติช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ระคายคอที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อและการอักเสบ พร้อมทั้งช่วยให้ชุ่มคอ

การรวมกันของสารสกัดจากธรรมชาติทั้งโพรพอลิสและสมอไทย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านเชื้อจุลชีพที่เรียกว่า ออกฤทธิ์เสริมกัน (synergistic effect) เนื่องจากโพรพอลิสมีข้อจำกัดในการทำลายจุลชีพก่อโรคในกลุ่มแบคทีเรียแกรมลบ ซึ่งอาจพบได้ในช่องปากและลำคอ การใช้สารสกัดสมอไทยซึ่งเป็นสารต้านจุลชีพจากธรรมชาติอีกชนิดที่ออกฤทธิ์ทำลายเชื้อจุลชีพได้ดีจึงช่วยเสริมกัน โดยพบว่าสมอไทยที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งจุลชีพในวงกว้าง ทั้งไวรัส แบคทีเรียก่อโรคทั้งแกรมบวกและแกรมลบ ยีสต์และราอีกด้วย นอกจากนี้สารสกัดสมอไทยยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบและช่วยให้ชุ่มคอ จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ลดอาการระคายคอได้ดียิ่งขึ้น

โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บมีวิธีการใช้อย่างไร ?

สำหรับอาการเจ็บคอ ระคายคอ คอแห้ง เสียงแหบ

ฉีดพ่นในช่องปากและลำคอ ครั้งละ 2-3 พัฟ วันละ 3-4 ครั้ง หรือใช้บ่อยตามต้องการหรือตามแพทย์สั่ง

หลังใช้โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บ แนะนำให้เช็ดปลายหลอดด้วยผ้าสะอาด และปิดฝาให้สนิท

เมื่อมีการใช้โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บ ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกรหรือพยาบาลอย่างไร ?

เมื่อมีการใช้โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ เภสัชกรหรือพยาบาลดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด
  • ประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์จากรังผึ้ง น้ำผึ้ง
  • โรคประจำตัวต่างๆ รวมถึงกำลังกินยาอะไรอยู่
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร

หากลืมใช้โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บควรทำอย่างไร ?

หากลืมใช้โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บ สามารถใช้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ในครั้งถัดไป ให้ใช้ตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดเป็น 2 เท่า

หากใช้โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บเกินขนาดที่แนะนำ ควรทำอย่างไร ?

ยังไม่พบข้อมูลอันตรายจากการใช้ยาเกินขนาด อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการผิดปกติที่รุนแรงให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร ?

อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยอาจแพ้ที่ผิวหนังเช่น ผื่นแดงคัน บวมที่ใบหน้า หรือแพ้ที่ระบบทางเดินหายใจ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าวให้หยุดยาและรีบไปพบแพทย์ทันที

ห้ามใช้โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บเมื่อไร ?

เคยแพ้ยานี้ หรือส่วนประกอบของยานี้ เช่นมีประวัติแพ้เกสรดอกไม้ ผลิตภัณฑ์จากรังผึ้งหรือสมอไทย

มีข้อควรระวังการใช้โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บอย่างไร ?

ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เมื่อกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากไม่มีข้อมูลความปลอดภัย

โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร ?

โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บเป็นผลิตภัณฑ์ใช้เฉพาะที่ จึงไม่ค่อยพบปฏิกิริยาระหว่างยาที่มีอยู่ในฐานข้อมูลการศึกษา

ควรเก็บรักษาโพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บอย่างไร ?

  • เก็บไว้ในภาชนะบรรจุเดิมตามที่ได้รับมา
  • เก็บยาในที่แห้ง หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด ความร้อนและความชื้นโดยตรง ควรเก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส
  • เก็บให้พ้นมือเด็ก

โพรโพลิซ พลัส เอ็กเฮิร์บ ผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัทอะไร ?

ผลิตโดย บริษัท เฮเว่นเฮิร์บ จำกัด และจัดจำหน่ายโดย บริษัท ที.แมน ฟาร์มา จำกัด

บรรณานุกรม

  1. ศิริวรรณ อธิคมกุลชัย. Propolis: A Gift from Natural. Thai Pharm Health Sci J. 2008; 3(2): 286-95.
  2. Malekzadeh F, Ehsanifar H, Shahamat M, et al. Antibacterial activity of black myrobalan (Terminalia chebula Retz) against Helicobacter pylori. J. Antimicrob. Agents. 2001; 18: 85-8.
  3. Kaewmanee P, Rachtanapun C and Luangpirom N. 2012b. Synergistic antimicrobial effect of propolis and myrobalan extracts, pp. 34-42 In Proceeding of 50th Kasetsart University Annual Conference. 31 Jan – 2 Feb 2012, Kasetsart University, Bangkok.
  4. ภก.ดร.บุญดิศย์ วงศ์ศักดิ์. Chemical Diversity of the Active Constituents and Precaution of Propolis. เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย
  5. Andrzej K. Kuropatnicki, Ewelina Szliszka. Historical Aspects of Propolis Research in Modern Times. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine 2013.
  6. E.A. Ophori, E.C. Wemabu, Antimicrobial activity of propolis extract on bacteria isolated from nasopharynx of patients with upper respiratory tract infection admitted to Central Hospital, Benin City, Nigeria, African J of Microbiology Research 2010; 1719-23.