โพรพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโพรพิลไทโอยูราซิล(Propylthiouracil ย่อว่า พีทียู/PTU) หรือ (6-n-propylthiouracil ย่อว่า PROP)เป็นยาที่นำมาใช้บำบัดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน/ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ที่รวมถึงใช้รักษาโรคภูมิต้านทานที่เล่นงานตนเอง(โรคออโตอิมมูน)ชนิดที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนมากจนเกินไป เช่นโรค Grave’s disease, ยาพีทียู ถูกขึ้นทะเบียนยาและมีการใช้ทางคลินิกตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 (พ.ศ.2490) มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร และกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 80 – 95% ยาพีทียูสามารถซึมผ่านรกและน้ำนมของมารดาได้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยาพีทียูมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในต่อมไทรอยด์ชนิด Thyroperoxidase และชนิด 5-deiodinase ส่งผลยับยั้งการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมน

ยาพีทียูมีผลข้างเคียงที่ดูรุนแรง เช่น ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Agranulocytosis) และมีผลลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน(ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกาย และในปี ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) คณะกรรมการอาหารและยาในต่างประเทศได้ประกาศให้แพทย์ระวังความเสี่ยง(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาพีทียูที่ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อตับ เกิดภาวะตับวายจนอาจทำให้เสียชีวิตในที่สุด

ข้อจำกัดของการใช้ยาพีทียูที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาพีทียูกับผู้ที่แพ้ยานี้
  • มีรายงานทางคลินิกว่า ยาพีทียูสามารถสร้างความเสียหายให้กับผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้ป่วยเด็กที่ใช้ยานี้ จนถึงขั้นตับวายและเสียชีวิต แต่กลับไม่พบว่ายาต่อต้านต่อมไทรอยด์เป็นพิษ(ยาไทโอเอไมด์/Thioamide) อย่างยา Methimazole ทำให้เกิดพิษกับตับของผู้ป่วยเด็ก ทางการแพทย์จึงใช้เหตุผลนี้นำไปสู่ข้อสรุปว่า ห้ามใช้/หลีกเลี่ยงการใช้ยาพีทียูกับผู้ป่วยเด็ก นอกจากว่าการใช้ ยาMethimazole หรือการใช้สารกัมมันตรังสี/น้ำแร่รังสีไอโอดีน (Radio-iodine) หรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ใช้กับผู้ป่วยเด็กไม่ได้ผล หรือก่อให้เกิดผลเสียหายต่อเด็กมากกว่ายาพีทียู
  • ยาพีทียูสามารถก่อความเสียหายกับตับได้ทั้งในสตรีที่ตั้งครรภ์ รวมถึงกับทารกในครรภ์ จากการรวบรวมข้อมูลทางคลินิกพบว่า ในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก อาจใช้ยาพีทียูได้โดยแพทย์ต้องพิจารณาปรับขนาดการใช้ยานี้ลงมา แต่หลังจากอายุครรภ์ข้ามเข้าสู่ ไตรมาสที่ 2 และ 3 ให้เปลี่ยนการใช้ยาพีทียูมาเป็นยา Methimazole แทน
  • ยาพีทียูขับออกทางน้ำนมมารดาและเข้าสู่ทารกที่ดื่มนมมารดาได้ กรณีที่จำเป็นต้องให้ยาพีทียูกับมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเอง แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้นมผงดัดแปลงสำหรับเลี้ยงทารกแทน
  • ผู้ที่มีประวัติไขกระดูกทำงานผิดปกติ รวมถึงอวัยวะไต ตับ ปอด มีปัญหาเรื่องการทำงาน การใช้ยาพีทียูกับผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับอวัยวะดังกล่าว อาจส่งเสริมให้ความรุนแรงของโรคเกิดมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง
  • ยากลุ่ม ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์(Beta blocker) ยาDigoxin ยาTheophylline หากใช้ร่วมกับยาพีทียู สามารถกระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงจากยากลุ่มดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น เป็นอีกกรณีที่ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกรว่า มีการใช้ยาชนิดใดอยู่บ้าง

ยาพีทียู จัดเป็นยาที่มีการใช้กับมนุษย์มายาวนาน องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาพีทียู อยู่ในหมวดยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลต่างๆควรมีสำรองเพื่อให้บริการกับผู้ป่วย และกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้บรรจุให้ยาพีทียูอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย

การใช้ยาพีทียูจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น โดยประชาชนสามารถพบเห็นการใช้ยาพีทียูได้จากสถานพยาบาลทั้งของรัฐ-เอกชน และสามารถซื้อหายานี้ได้จากร้านขายยาโดยทั่วไป

โพรพิลไทโอยูราซิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โพรพิลไทโอยูราซิล

ยาโพรพิลไทโอยูราซิล/ยาพีทียู มีสรรพคุณบำบัดรักษาภาวะไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมเกิน(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ)ก่อนการใช้สารกัมมันตรังสี(น้ำแร่รังสีไอโอดีน,Radio-iodine) หรือก่อนใช้การผ่าตัดต่อมไทรอยด์เป็นการรักษา ซึ่งสามารถใช้ยานี้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

โพรพิลไทโอยูราซิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาพีทียู มีกลไกการออกฤทธิ์เป็น 2 ขั้นตอน เพื่อยับยั้งการผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนทั้งชนิด ที3 (T3, Triiodothyronine) และชนิด ที4 (T4, Tetraiodothyronine หรือ Thyroxine) ดังนี้

1. ยาพีทียูจะออกฤทธิ์ยังยั้งการทำงานของเอนไซม์ในต่อมไทรอยด์ชนิด Thyroperoxidase มีผลชะลอ การเปลี่ยนแปลงเกลือไอโอไดร์ (Iodide) ไปเป็นธาตุไอโอดีน ซึ่งเป็นผลให้การสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมนชนิด ที4 (T4) ลดลง

2. ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในต่อมไทรอยด์ชนิด 5-deiodinase ทำให้ไทรอยด์ฮอร์โมน ที4(T4) ไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็น ที3(T3) เป็นเหตุให้ให้ไทรอยด์ฮอร์โมน ที3(T3) ลดต่ำลง

จากกลไกดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการต้านการทำงานของต่อมไทรอยด์และเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โพรพิลไทโอยูราซิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโพรพิลไทโอยูราซิล/ยาพีทียู มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 มิลลิกรัม/เม็ด

โพรพิลไทโอยูราซิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโพรพิลไทโอยูราซิลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ห่างกันทุก 8 ชั่วโมง รวม 300 มิลลิกรัม/วัน ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาคือ 100-150 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 50 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: การใช้ยานี้ให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้ พร้อมกับอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีลงมา
  • ระหว่างใช้ยานี้ ระวังการเกิดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเพื่อ การตรวจเลือดดูระดับไทรอยด์ฮอร์โมนตามแพทย์สั่ง ว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้หรือปรับขนาดรับประทานโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • สำหรับ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ แพทย์จะพิจารณษปรับขนาดรับประทานลง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพีทียู ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคเลือด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยา และ/หรือ อาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาพีทียูอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาพีทียู สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาพีทียูตรงเวลา

โพรพิลไทโอยูราซิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพีทียูสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน: เช่น เกิดภาวะ Lupus-like syndrome(ผลข้างเคียงจากยาที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการที่คล้ายโรคลูปัส)
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป ปวดศีรษะ ง่วงนอน วิงเวียน เส้นประสาทอักเสบ อาการชานิ้วมือ-นิ้วเท้า ชาใบหน้า
  • ผลต่อตา: เช่น ตาแดง น้ำตามาก เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดอักเสบชนิด Interstitial pneumonitis
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • ผลต่อตับ: การทำงานของตับผิดปกติ/ตับอักเสบ ตับวาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ Stevens Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Agranulocytosis) Eosinophilia(เม็ดเลือดขาวชนิดEosinophil ในเลือดสูง) Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ)

มีข้อควรระวังการใช้โพรพิลไทโอยูราซิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรพิลไทโอยูราซิล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง การลดหรือเพิ่มขนาดรับประทานตลอดจนถึงขั้นหยุดการใช้ยานี้ ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องคอยตรวจสอบผลเลือดตามแพทย์สั่ง ว่ามีอาการของโลหิตจาง หรือมีความผิดปกติในระบบเลือดของผู้ป่วยหรือไม่
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคที่มีความผิดปกติในระบบเลือด เช่น โลหิตจาง เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เป็นต้น
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น เกิดผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ทันที/ฉุกเฉินโดยเร็ว
  • ยากลุ่มนี้อาจทำให้รู้สึก สับสน ความจำแย่ลง เมื่อมีอาการดังกล่าวจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้งเพื่อรับการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโพรพิลไทโอยูราซิลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โพรพิลไทโอยูราซิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโพรพิลไทโอยูราซิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาพีทียูร่วมกับยา Leflunomide, Teriflunomide อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ/ ตับอักเสบ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาพีทียูร่วมกับยา Deferiprone (ยาลดธาตุเหล็กในเลือด), Fluphenazine(ยารักษาทางจิตเวช) อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของไขกระดูก ทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวในเลือดลดต่ำลงส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจนเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาพีทียูร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin อาจทำให้มีภาวะเลือดออกได้ง่ายขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาด ให้การใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาพีทียูร่วมกับยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่นยา Propranolol สามารถนำมาซึ่งอาการชีพจรเต้นผิดจังหวะ หายใจติดขัด/หายใจลำบาก วิงเวียน อ่อนแรง เป็นลม หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาโพรพิลไทโอยูราซิลอย่างไร

เก็บยาพีทียูภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โพรพิลไทโอยูราซิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพีที่ยูที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
P T U (พี ที ยู)T. O. Chemicals
Peteyu (พีทียู)T. Charoon Bhesaj
Propylthiouracil GPO (โพรพิลไทโอยูราซิล จีพีโอ)GPO
Propylthiouracil Greater Pharma (โพรพิลไทโอยูราซิล เกรทเตอร์ ฟาร์มา)Greater Pharma
Propylthiouracil Lederle (โพรพิลไทโอยูราซิล ลีเดอร์เล)Lederle

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Propylthiouracil [2016,Nov26]
  2. https://www.drugs.com/pro/propylthiouracil.html [2016,Nov26]
  3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/109#item-8712 [2016,Nov26]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/propyl/?type=brief [2016,Nov26]
  5. https://www.drugs.com/dosage/propylthiouracil.html [2016,Nov26]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/propylthiouracil-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Nov26]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/propylthiouracil-with-warfarin-1958-0-2311-0.html [2016,Nov26]