โพรพราโนลอล (Propranolol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) ถูกนำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง รักษาอาการวิตกกังวล ภาวะหัวใจขาดเลือด (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ) ไมเกรน และอื่นๆ

องค์การอนามัยโลกจัดให้โพรพราโนลอลเป็นยาจำเป็นระดับขั้นมูลฐานของแต่ละประเทศ ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุยาโพรพราโนลอลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จากการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยาโพรพราโนลอลในร่างกายพบว่า โพรพราโนลอล จะจับกับโปรตีนในเลือดประมาณ 90% และถูกเปลี่ยนโครงสร้างเคมีโดยอวัยวะตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 6 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยส่วนใหญ่จะผ่านไปกับปัสสาวะ

โพรพราโนลอลจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย การใช้ยาอย่างปลอดภัยและเหมาะสม ต้องเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาโพรพราโนลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โพรพราโนลอล

ยาโพรพราโนลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ภาวะเจ็บหน้าอกเนื่องจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ
  • ช่วยควบคุมอาการสั่นหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอันมีสาเหตุจากโรควิตกกังวล โรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ)
  • รักษาโรคหัวใจที่มีกล้ามเนื้อหัวใจหนา
  • ป้องกันโรคไมเกรน

ยาโพรพราโนลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

โพรพราโนลอลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของ B1 และ B2 receptors (ตัวรับ/Receptor ในกล้ามเนื้อหัวใจ ที่มีหน้าที่ช่วยให้หัวใจทำงานได้ปกติ) ทำให้ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และยังส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง ตลอดจนถึงลดความต้องการออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจ ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงทำให้โพรพราโนลอลมีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ยาโพรพราโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโพรพราโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นรูปแบบยาเม็ด ขนาด 10 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาโพรพราโนลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโพรพราโนลอลมีขนาดรับประทานดังนี้

ก. รักษาความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นที่ 40 - 80 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น และสามารถปรับขนาดรับประทานเป็น 160 - 320 มิลลิกรัมต่อวัน หรือถ้าใช้ยาในรูปแบบออกฤทธิ์นาน (Extended release tablet) รับประทานเริ่มต้นที่ 80 มิลลิกรัม วันละครั้ง แล้วปรับขนาดรับประ ทานเป็น 120 - 160 มิลลิกรัม วันละครั้ง ขนาดสูงสุดของการรับประทานต้องไม่เกิน 640 มิลลิ กรัมต่อวัน
  • เด็ก: คำนวณจากน้ำหนักตัว เริ่มต้นรับประทาน 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยการแบ่งรับประทาน อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 - 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น

ข. รักษาภาวะหัวใจขาดเลือด/โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 2 - 3 วัน เพิ่มการรับประทานเป็น 80 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น และสามารถสลับและปรับเปลี่ยนการรับประทานเป็น 180 - 240 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
  • เด็ก: ภาวะนี้ไม่ค่อยพบในเด็ก จึงไม่มีคำแนะนำทั่วไปในการใช้ยานี้ในเด็ก

ค. รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmias):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 30 - 160 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
  • เด็ก: รับประทานครั้งละ 250 - 500 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 3 - 4 ครั้ง

ง. ป้องกันโรคไมเกรน (Prophylaxis of migraine):

  • ผู้ใหญ่: ขนาดรับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง จากนั้นเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 160 มิลลิกรัม/วัน และสามารถเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 240 มิลลิกรัม/วันถ้าจำเป็น ควรหยุดการใช้ยา หากการรักษาไม่ดีขึ้นภายใน 4 - 6 สัปดาห์ (ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาก่อน)
  • เด็ก: การใช้ยาขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็ก อายุ และดุลพินิจของแพทย์

จ. รักษาอาการเจ็บหน้าอก (Angina pectoris):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 2 – 3 ครั้ง อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 120 – 240 มิลลิกรัม/วัน หรือในผู้ป่วยบางรายต้องได้รับยาถึง 320 มิลลิกรัม/วัน สำหรับยาโพรพาโนลอลในรูปแบบที่ออกฤทธิ์นาน(Extended release) สามารถให้ผู้ป่วยรับประทานได้ 80 มิลลิกรัม วันละครั้ง และอาจเพิ่มขนาดรับประทานได้ ภายใน 3 – 7 วัน โดยปรับเป็น 160 มิลลิกรัม วันละครั้ง ขนาดสูงสุดของการรับประทานยาชนิดที่ออกฤทธิ์นานไม่เกิน 320 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: อาการนี้ไม่ค่อยพบในเด็ก จึงไม่มีคำแนะนำทั่วไปในการใช้ยานี้ในเด็ก

ฉ. รักษาโรคหัวใจที่มีกล้ามเนื้อหนา (Hypertrophic cardiomyopthy):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 10 - 40 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้ง
  • เด็ก: โรคนี้ไม่ค่อยพบในเด็ก จึงไม่มีคำแนะนำทั่วไปในการใช้ยานี้ในเด็ก

ช. การรักษาอาการหัวใจเต้นเร็วในผู้ป่วยไทรอยด์ฮอร์โมนสูง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 10 - 40 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้ง
  • เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวของเด็ก และดุลพินิจของแพทย์

ซ. สนับสนุนการรักษาในผู้ป่วยโรควิตกกังวล:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง อาจเพิ่มเวลารับประทานเป็นวันละ 2 – 3 ครั้ง หากจำเป็น
  • เด็ก: โรคนี้ไม่ค่อยพบในเด็ก จึงไม่มีคำแนะนำทั่วไปในการใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ยาโพรพราโนลอล สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • การปรับเปลี่ยนขนาดและเวลาในการรับประทานยานี้ ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นโดยเฉพาะในเด็ก
  • ห้ามมิให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานยานี้หรือปรับขนาดการรับประทานเอง

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโพรพราโนลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโพรพราโนลอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรืออาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโพรพราโนลอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาโพรพราโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโพรพาโนลอลสามารถก่อให้เกิดผล /อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • รู้สึกเย็นตามแขนขา
  • นอนไม่หลับ
  • อ่อนเพลีย
  • วิงเวียน
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องผูก
  • รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร
  • รู้สึกหงุดหงิด
  • สับสน
  • ซึมเศร้า
  • จิตหลอน/ประสาทหลอน
  • อาจพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่น
    • หัวใจล้มเหลว
    • หัวใจหยุดเต้น
    • และหลอดลมหดเกร็งตัวทำให้หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรพราโนลอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรพราโนลอล เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจเต้นช้า (Sinus brady cardia) ผู้ป่วยที่อยู่ใน ภาวะช็อกด้วยอาการโรคหัวใจกำเริบ, ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ที่อยู่ในภาวะมีเลือดออกอย่างรุน แรง ผู้ที่มีภาวะความเป็นกรดในร่างกายสูง ผู้ป่วยด้วยหลอดเลือดแดงในระยะรุนแรง และผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติระดับรุนแรง (2nd or 3rd degree heart block)
  • ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3
  • ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยที่มีประวัติภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ดำ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีภาวะตับ - ไตทำงานผิดปกติ
  • ยาโพรพราโนลอลสามารถเพิ่มความเสี่ยงของอาการหัวใจเต้นช้า และมีภาวะความดันโลหิตต่ำ (หน้ามืด วิงเวียน ได้ง่าย) หากพบอาการดังกล่าวควรต้องปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • สำหรับผู้ป่วยสูงอายุ แนะนำให้ใช้ยาโพรพราโนลอลในรูปแบบที่ออกฤทธิ์นาน (Sustained -release preparations) ด้วยตัวยาจะค่อยๆออกฤทธิ์เหมาะต่อร่างกายของผู้สูงอายุ อีกทั้งช่วยป้องกันการลืมรับประทานยาในมื้อถัดไป
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโพรพาโนลอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโพรพราโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโพรพราโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้

  • การรับประทานโพรพราโนลอลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ โดยอาจพบอาการปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม ชีพจรเต้นผิดปกติ หากเกิดอาการดังกล่าวต้องรีบส่งตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ดังนั้นห้ามรับประทานยาโพรพราโนลอลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • การรับประทานโพรพราโนลอลร่วมกับกลุ่มยาวิตามินผสมแร่ธาตุบำรุงร่างกาย อาจทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของโพรพราโนลอลด้อยประสิทธิภาพลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรปรับเวลาในการรับประทานให้ห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป
  • การรับประทานโพรพราโนลอลร่วมกับอาหาร จะทำให้การดูดซึมยาโพรพราโนลอลเข้าสู่ร่างกายดีขึ้นและส่งผลต่อการออกฤทธิ์ในการรักษา และควรรับประทานายาในเวลาเดียวกันในแต่ละวัน นอกจากมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากแพทย์
  • การรับประทานโพรพราโนลอลร่วมกับยาขยายหลอดลม เช่น Aminophylline จะส่งผลให้ฤทธิ์ในการรักษาของโพรพราโนลอลด้อยลงไป อีกทั้งทำให้ฤทธิ์ของ Aminophylline เพิ่มมากขึ้น โดยพบอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ สั่น ชีพจรเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดและระยะเวลาในการรับประทาน
  • การรับประทานโพรพราโนลอลร่วมกับยารักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี เช่น Atazanavir อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน เป็นลม ควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อปรับขนาดยาและแนวทางการรักษาให้สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย
  • การรับประทานโพรพราโนลอลร่วมกับยาลดความดันโลหิต เช่น Verapamil อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยามากยิ่งขึ้น เช่น มีอาการอ่อนแรง ปวดศีรษะ เป็นลม บวม น้ำหนักเพิ่ม หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานให้สอดคล้องและเหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล

ควรเก็บรักษายาโพรพราโนลอลอย่างไร

ควรเก็บยาโพรพราโนลอล เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาโพรพราโนลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโพรพราโนลอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Alperol (อัลพิรอล) Pharmasant Lab
Betalol (เบตาลอล) Berlin Pharm
Betapress (เบตาเพรส) Polipharm
C.V.S. (ซี.วี.เอส) T. Man Pharma
Cardenol (คาร์ดินอล) T.O. Chemicals
Chinnolol (ชินโนลอล) Chinta
Emforal (เอ็มโฟรอล) Remedica
Idelol 10 (ไอดิลอล 10) Medicine Products
Inderal (อินดิรอล) AstraZeneca
Normpress (นอร์มเพรส) Greater Pharma
Palon (พาลอล) Unison
Perlol (เพอร์ลอล) Asian Pharm
P-Parol (พี-พารอล) Osoth Interlab
Pralol (พราลอล) Pharmasant Lab
Prolol (โพรลอล) Atlantic Lab
Pronalol (โพรนาลอล) Burapha
Propanol (โพรพานอล) Utopian
Propranolol GPO (โพรพาโนลอล จีพีโอ) GPO
Proral (โพรรอล) Utopian
Syntonol (ซินโทนอล) Codal Synto

บรรณานุกรม

1. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=propranolol [2020,Jan18]
2. http://www.mims.com/USA/drug/info/propranolol?type=full&mtype=generic#Dosage [2020,Jan18]
3. http://en.wikipedia.org/wiki/Propranolol [2020,Jan18]
4. http://www.drugs.com/drug-interactions/propranolol.html [2020,Jan18]