โพรบูคอล (Probucol)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โพรบูคอล (Probucol) คือ ยาลดไขมัน ที่มีกลไกการออกฤทธิ์หลัก คือ เพิ่มอัตรา เผาผลาญไขมันในเลือดชนิดคอเลสเตอรอล(ชนิดแอลดีแอล/LDL), นอกจากนี้ ตัวยาฯ ยังช่วยยับยั้งการสังเคราะห์ไขมันคอเลสเตอรอล, และชะลอการดูดซึมไขมันชนิดนี้จากระบบทางเดินอาหารเข้ากระแสเลือดอีกด้วย,รูปแบบยานี้เป็นยารับประทาน, โดยเริ่มแรกที่มีการนำมาใช้ จะใช้ยานี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการบำบัดโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ, กลุ่มผู้บริโภค/ผู้ป่วยที่แพทย์สามารถนำยานี้มาบำบัดรักษาได้นั้น จะต้องมีสภาพร่างกายหรือประวัติการเจ็บป่วย  เช่น

  • ไม่ใช่ผู้ที่เคยแพ้ยาโพรบูคอลมาก่อน
  • ไม่ใช่ผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ด้วยคอเลสเตอรอลจัดเป็นสารอาหารสำคัญของเด็กวัยนี้ที่จำเป็นต่อพัฒนาการของร่างกาย
  • สตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร อยู่ในกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาต่างๆ รวมถึงยาโพรบูคอล โดยไม่จำเป็น
  • ผู้ป่วยบางกลุ่ม หรือที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาโพรบูคอล   ด้วยเหตุผลของอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) หรือทำให้อาการป่วยด้วยโรคดังกล่าวแย่ลง เช่น   ผู้ที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี   ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดบางชนิด  ผู้ป่วยด้วยโรคตับ  เป็นต้น

ทางคลินิก ผู้ที่มีภาวะไขมันในร่างกายเกิน/สูง  อาจจะไม่พบสัญญาณเตือนใดๆและยังรู้สึกเหมือนเป็นปกติ,  นอกจากได้รับการตรวจร่างกายแล้วแพทย์พบร่องรอยของโรค,  กรณีที่แพทย์ทำการจ่ายยาโพรบูคอล  ผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ถึงแม้จะมีอาการเป็นปกติก็ตาม  

ยาโพรบูคอล ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ควบคุมระดับไขมันในเลือด ไม่ได้มุ่งเน้นเป็นยารักษาอาการเจ็บป่วยที่ทรุดหนักแล้ว,  นอกจากการใช้ยา ผู้ป่วยจำเป็นต้องควบคุมการรับประทานอาหารประเภท หวานจัด เค็มจัด ไขมันสูง เพื่อสนับสนุนประสิทธิภาพของยานี้ 

ข้อด้อยบางประการของยาโพรบูคอล คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ลดไขมันในเลือดชนิดคอเลสเตอรอลชนิดดีที่เรียกว่า เฮชดีแอล (HDL)ได้ด้วย จึงอาจเป็นเหตุผลให้บางประเทศในซีกโลกตะวันตกเพิกถอนและยกเลิกการใช้ยาโพรบูคอล

โพรบูคอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

 

ยาโพรบูคอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ควบคุมระดับไขมันแอลดีแอล (LDL) ของร่างกายที่เกินปกติ

โพรบูคอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโพรบูคอลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ให้ร่างกายเพิ่มการเผาผลาญไขมันแอลดีแอล (LDL) มากยิ่งขึ้น  รวมถึงช่วยชะลอการสังเคราะห์ไขมันแอลดีแอล (LDL), ในทางคลินิกยังพบว่ายาโพรบูคอลช่วยยับยั้งการดูดซึมไขมันดังกล่าวจากระบบทางเดินอาหารได้เล็กน้อยอีกเช่นกัน, จากกลไกเหล่านี้ จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โพรบูคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโพรบูคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด

โพรบูคอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโพรบูคอล มีขนาดรับประทาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม, วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เช้า – เย็น, และควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา, และหากจำเป็นต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป  แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาการใช้ยาได้อย่างเหมาะสม

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโพรบูคอล   ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโพรบูคอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโพรบูคอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาโพรบูคอลตรงเวลา

โพรบูคอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโพรบูคอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย:  เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการ วิงเวียน  เป็นลม  ปวดหัว  ชานิ้วมือ  ชาบริเวณใบหน้า
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ  อาการใบหน้าบวม  มือ-เท้า-ปากบวม
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ ท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง

มีข้อควรระวังการใช้โพรบูคอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรบูคอล: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาโพรบูคอล
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร 
  • การใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ควรรับประทานยาตรงเวลา
  • ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ควรรับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่, มีการออกกำลังกาย  พักผ่อน ตามคำแนะนำของแพทย์
  • *กรณีเกิดอาการแพ้ยานี้ เช่น ตัวบวม ใบหน้าบวม อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก  ผื่นคันขึ้นเต็มตัว *ให้หยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • ควรตรวจสอบระดับไขมันในเลือด ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยาโพรบูคอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ สมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โพรบูคอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโพรบูคอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาโพรบูคอล ร่วมกับยา Amiodarone, Ciprofloxacin,  Clozapine,  Dolasetron,  Haloperidol, Quinidine, Sotalol, อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, หรือไม่ก็มีระดับเกลือแร่ในเลือด (อิเล็กโทรไลต์/Electrolyte) เช่น แมกนีเซียม  และ/หรือโพแทสเซียม ในเลือดต่ำกว่าปกติ,  เพื่อมิให้เกิดภาวะดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโพรบูคอล ร่วมกับยา Bisacodyl ด้วยจะทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือแมกนีเซียม และ/หรือโพแทสเซียม  ส่งผลต่อสมดุลของเกลื่อแร่/แร่ธาตุ/อิเล็กโทรไลต์ของร่างกายผิดปกติ และเกิดภาวะ  อ่อนเพลีย อ่อนแรง วิงเวียน รู้สึกสับสน, ติดตามมา
  • การใช้ยาโพรบูคอล ร่วมกับยา Cyclosporine อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของ Cyclosporine ลดต่ำลง,  หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาโพรบูคอลอย่างไร?

ควรเก็บยาโพรบูคอล: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โพรบูคอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโพรบูคอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Lorelco (โลเรลโค) Aventis Pharmaceuticals

 

บรรณานุกรม

  1. https://go.drugbank.com/drugs/DB01599  [2022,Nov19]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Probucol  [2022,Nov19]
  3. https://www.drugs.com/cons/probucol.html  [2022,Nov19]
  4. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/probucol-oral-route/before-using/drg-20065644  [2022,Nov19]
  5. https://www.mims.com/India/drug/info/probucol/?type=full&mtype=generic  [2022,Nov19]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/probucol-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Nov19]
  7. https://www.drugs.com/imprints/lorelco-250-2681.html  [2022,Nov19]