โปรไคเนติก เบนซาไมด์ (Prokinetic benzamide derivative)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อนุพันธุ์ยา/กลุ่มยา/ยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ (Prokinetic benzamide derivative หรือ Prokinetic benzamide) เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ถูกนำมาใช้บำบัดอาการป่วยได้หลายวัตถุประสงค์เช่น

  • กระตุ้นให้ลำไส้เล็กบีบตัวหรือทำงานดีขึ้นหลังเข้ารับการผ่าตัด
  • บำบัดภาวะกระเพาะอาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่มีการบีบตัว (Diabetic gastroparesis)
  • ลำไส้ใหญ่ไม่บีบตัว (Colonic pseudo obstruction)
  • ภาวะลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome/IBS)
  • รักษาภาวะกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux)

จากสรรพคุณที่ได้กล่าวถึงนั้นอาจมาจากกลไกการออกฤทธิ์ของกลุ่มยาโปรไคเนติก เบนซา ไมด์ที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในร่างกายที่พอจะสรุปได้ดังนี้

  • กลุ่มยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์จะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ (Receptor) ชื่อ Muscarinic acetylcholine receptor M1 ที่อยู่ที่กล้ามเนื้อของกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เพิ่มการหลั่งสาร Acetylcholine ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อของกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือ
  • ยาในกลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่คอยทำลายสาร Acetylcholine ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Acetylcholinesterase ส่งผลให้ระดับสาร Acetylcholine ในร่างกายมีเพิ่มขึ้น และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณระบบทางเดินอาหารทำงานได้มากขึ้นตามมา หรือ
  • กลุ่มยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อหูรูดในบริเวณหลอดอาหารต่อกับกระเพาะอาหาร ส่งผลให้กระเพาะอาหารเกิดการเคลื่อนไหวและบีบตัวมากขึ้น หรือ
  • ยาในกลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์แสดงฤทธิ์ที่มีลักษณะเฉพาะโดยทางคลินิกจะเรียกว่า Selective serotonin agonist ซึ่งจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT (5-hydroxytryptamine receptor) 4 receptor ที่สามารถส่งผลให้กล้ามเนื้อของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารบีบตัวได้ดียิ่งขึ้น หรือ
  • ยากลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์ในลักษณะ Dopamine D2- D3 receptor antagonist จะส่งผลให้บรรเทาอาการคลื่นไส้และทำให้กระเพาะอาหารมีการบีบตัวได้ดีขึ้น

จากกลไกการออกฤทธิ์ที่หลากหลายของยาในกลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์อย่างที่กล่าว มาข้างต้นล้วนแล้วช่วยทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจากภาวะคลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แสบร้อนกลางอกจากกรดในกระเพาะหรือที่เรียกว่า กรดไหลย้อน รวมถึงภาวะกล้ามเนื้อของกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานน้อยหลังจากได้รับการผ่าตัดหรือทำหัตถการในบริเวณช่องท้องหรือ จะกล่าวว่าช่วยบรรเทาอาการท้องผูกนั่นเอง

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยากลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์จะมีทั้งยาชนิดรับประทาน ยาฉีด ยาเหน็บทวาร แต่ผู้บริโภคจะคุ้นเคยและพบเห็นในรูปแบบยารับประทานเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตัวยา นี้สามารถถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์นี้ก็สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆอาทิ ปวดท้อง ท้องเสีย ผื่นคัน ปวดศีรษะ มีปัญหาในการนอนหลับ/นอนไม่หลับ วิงเวียน เต้านมโตขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของตัวยาและการตอบสนองต่อตัวยาของตัวผู้ป่วยแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน

ทางคลินิกพอจะจำแนกกลุ่มรายการยาในหมวดโปรไคเนติก เบนซาไมด์ได้ดังนี้ Alizapride, Batanopride, Bromopride, Cinitapride, Cisapride, Clebopride, Dazopride, Domperidone, Itopride, Metoclopramide, Mosapride, Prucalopride, Renzapride, Trimethobenzamide, Zacopride

อนึ่งยาบางตัวในกลุ่มยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ก็ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของ ไทยอย่าง Metoclopramide และ Domperidone บางตัวก็จัดอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษ และส่วนมากจะถูกระบุให้เป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยากลุ่มนี้ได้ตามสถานพยาบาลและมีจำหน่ายในร้านขายยาโดยทั่วไป

อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โปรไคเนติก-เบนซาไมด์

ยาอนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • บำบัดรักษาอาการต่างๆในระบบทางเดินอาหารเช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • ภาวะกรดไหลย้อน
  • อาการคลื่นไส้-อาเจียน และ
  • ภาวะท้องผูกหลังการผ่าตัด

อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

จาก “บทนำ” พอจะสรุปกลไกการออกฤทธิ์ให้ฟังดูง่ายๆดังนี้ กลุ่มยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์จะออกฤทธิ์ต่อการทำงานของสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างมีแรงดันเพิ่มขึ้นพร้อมกับกระตุ้นให้กล้ามเนื้อของกระเพาะ อาหารและลำไส้มีการเคลื่อนและบีบตัว ทำให้อาหารที่ตกค้างไม่ว่าจะเป็นในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กสามารถเคลื่อนตัวและผ่านกระบวนการย่อยอาหารได้ตามปกติจนไปสิ้นสุดที่ลำไส้ใหญ่ จึงส่งผลให้มีการขับถ่ายอย่างเป็นปกติตามมาซึ่งเป็นที่มาของสรรพคุณ

อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาเม็ด และยาน้ำ ชนิดรับประทาน
  • ยาฉีด และ
  • ยาเหน็บทวาร

อนึ่งความแรงของยา/ขนาดยาจะมีความแตกต่างกันออกไปทั้งนี้ขึ้นกับโครงสร้างในระดับโมเลกุลของตัวยาแต่ละชนิด

อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยตัวยาของกลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์มีหลากหลายรายการ ขนาดรับประทานจึงต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายยาได้อย่างเหมาะสมถูกต้องและปลอดภัยต่อผู้ป่วย

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ตรงเวลา

อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาในกลุ่มอนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้าง เคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก น้ำลายออกมามาก และคลื่นไส้
  • ผลต่อระบบโลหิต: เช่น ปริมาณเม็ดเลือดขาดลดต่ำลงหรือที่เรียกว่า Leukocytopenia และเกิดภาวะ Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ)
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin, ฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำ นม) เพิ่มมากขึ้นจนอาจเกิดภาวะเต้านมโตขึ้น (Gynecomastia) อาจทำให้มีอาการน้ำนมไหล และ/ หรือภาวะขาดประจำเดือน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอนหรือนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มีอาการตัวสั่น รู้สึกสับสน ซึมเศร้า
  • ผลต่ออวัยวะตับ: เช่น มีอาการดีซ่าน ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้นเช่นค่า SGOT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase) และ SGPT (Serum glutamic pyruvic transaminase)
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผื่นคัน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น สามารถก่อให้เกิดอาการหัวใจเต้นช้าหรือเร็ว/หัวใจเต้น ผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่มีแผลในอวัยวะระบบทางเดินอาหารหรือมีภาวะช่องทางเดินอาหารตีบตัน/ลำไส้อุดตัน
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตัวเอง
  • หากพบอาการแพ้ยาหลังใช้ยากลุ่มนี้เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ต้องหยุดการใช้ยานั้นๆทันทีแล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ระวังการใช้ยานี้บางตัวกับผู้มีประวัติมะเร็งเต้านม รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด Pheochromocytoma ด้วยสามารถกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูงติดตามมา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับ โรคไต เพราะอาจส่งผลต่อการกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย
  • เมื่อทำการรักษาจนครบคอร์ส (Course) ของยานี้แล้ว อาการป่วยไม่ดีขึ้น ควรต้องกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมอนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ห้ามใช้ยากลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์ร่วมกับการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ด้วยผลข้างเคียงจากยาจะสูงขึ้น
  • การใช้ยากลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์ร่วมกับยากลุ่ม Anticholinergic อาจทำให้ประสิทธิ ภาพการรักษาของยาอิโทไพรด์ลดน้อยลงจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Metoclopramide ร่วมกับยาบางกลุ่มสามารถทำให้ยากลุ่มนั้นๆถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้มากยิ่งขึ้นซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆติดตามมา ยากลุ่มดังกล่าวเช่น ยาแก้ปวด (เช่น Acetaminophen/Paracetamol) หรือยาปฏิชีวนะ (เช่น Tetracycline)
  • การใช้ยา Cisapride ร่วมกับยาขับปัสสาวะเช่น Furosemide อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และมักมีอาการวิงเวียนเป็นลมติดตามมา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน

ควรเก็บรักษาอนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์อย่างไร

ควรเก็บยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius) หรือตาม คำแนะนำในเอกสารกำกับยา ไม่เก็บยาในห้องน้ำ รถยนต์ หรือในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ganaton (กานาทอน)Abbott
Cipasid (ซิพาซิด)Siam Bheasach
Cisapac (ซิซาแพค)Inpac Pharma
Cisapid (ซิซาพิด)Inpac Pharma
Cisaride (ซิซาไรด์)Pharmasant Lab
Palcid (แพลซิด)Pharmadica
Pri-De-Sid (ไพร-เด-ซิด) Polipharm
Emex (อีเม็ก)Thai Nakorn Patana
Meridone (เมอริโดน)GPO
Mirax-M (ไมแร็ก-เอ็ม)Berlin Pharm
Mocydone M (โมไซโดน เอ็ม)Pharmasant Lab
Modomed (โมโดเมด)Medifive
Molax (โมแล็ก)Siam Bheasach
Molax-M (โมแล็ก-เอ็ม)Siam Bheasach
Moticon (โมทิคอน)Condrugs
Motidom (โมทิดอม)T.O. Chemicals
Motidom-M (โมทิดอม-เอ็ม)T.O. Chemicals
Motilar (โมทิลาร์)Inpac Pharma
Motilin (โมทิลิน)Inpac Pharma
Emetal (อีเมทัล)Asian Pharm
Hawkperan (ฮ็อกเพอแรน)L.B.S.
H-Peran (เฮท-เพอแรน)L.B.S.
K.B. Meta (เค.บี. เมต้า) K.B. Pharma
Manosil (แมโนซิล)March Pharma
Maril (แมริล)Atlantic Lab
Metoclopramide GPO (เมโทโคลพราไมด์ จีพีโอ)GPO
Metoclor (เมโทคลอ)Pharmaland
Met-Sil (เม็ท-ซิล)T P Drug
Nausil (นอซิล) Siam Bheasach
Plamide (พลาไมด์)Utopian

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Prokinetic_agent [2016,May21]
  2. file:///C:/Users/apai/Downloads/35-143-1-PB.pdf [2016,May21]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Acetylcholine [2016,May21]
  4. http://www.digestivedistress.com/motility-rx [2016,May21]
  5. http://www.healthline.com/health/gerd/prokinetics#2 [2016,May21]