โทพิราเมท (Topiramate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

โทพิราเมท (Topiramate) คือ ยาตัวหนึ่งในกลุ่มยาคาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์ (Carbonic anhydrase inhibitor) ใช้รักษาอาการของโรคลมชัก และป้องกันการเกิดไมเกรน ยานี้ถูกค้นพบและพัฒนาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ถูกรับรองในประเทศอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1996 (พ.ศ. 2539)

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาเม็ดและยาแคปซูลชนิดรับประทาน ชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จักกันดีของยานี้คือ ‘Topamax’

ตัวยาโทพิราเมทสามารถดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ประมาณ 80% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 13 - 17% ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้อยู่ตลอดเวลา และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 19 - 25 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยขับผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุวัตถุประ สงค์เพื่อรักษาโรคลมชักและใช้เป็นยาทางเลือกสำหรับรักษาไมเกรนในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล ทั้งนี้สามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วไป

โทพิราเมทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โทพิราเมท

ยาโทพิราเมทมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาโรคลมชัก
  • ป้องกันการเกิดไมเกรน

โทพิราเมทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโทพิราเมทยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่ายานี้มีผลต่อการทำงานของกระแสประสาท และยังมีการรบกวนการส่งผ่านของเกลือโซเดียม อีกทั้งส่งเสริมการทำงานของสารสื่อประสาทบางตัวภายในสมองอีกด้วยเช่น GABA (Gamma-aminobutyric acid) จากกลไกที่ได้กล่าวมานี้จึงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โทพิราเมทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโทพิราเมทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50, 100 และ 200 มิลลิกรัม/แคปซูล

โทพิราเมทมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

เนื่องจากการใช้ยาโทพิราเมทในการป้องกันโรคปวดศีรษะไมเกรน และในกรณีโรคลมชักที่ใช้ยานี้ร่วมกับยากันชักชนิดอื่น แพทย์จะต้องปรับขนาดยาเป็นกรณีไปขึ้นกับอาการและยาอื่นๆที่ใช้ร่วมด้วย

ดังนั้นในบทความนี้จึงขอยกตัวอย่างเฉพาะในการรักษาโรคลมชักและเฉพาะกรณีที่ใช้ยาโทพิราเมทเป็นยารักษาเพียงตัวเดียว (ไม่ใช้ร่วมกับยาอื่น) เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นที่สัปดาห์แรก 25 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน, ในสัปดาห์ถัดมา สามารถเพิ่มขนาดรับประทานอีก 25 - 50 มิลลิกรัมซึ่งต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา, หากขนาดรับประทานมากกว่า 25 มิลลิกรัมต้องแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง, ขนาดรับประทานปกติของยานี้จะอยู่ในช่วง 100 - 400 มิลลิกรัม/วัน, และขนาดรับประทานยานี้สูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)อายุ 10 - 16 ปี: ในสัปดาห์แรกเริ่มต้นรับประทาน 0.5 - 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโล กรัมวันละครั้งก่อนนอน, ในสัปดาห์ถัดมาอาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา, โดยขนาดรับประทานปกติอยู่ที่ 3 - 6 มิลลิกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน, หากขนาดรับประทานเกิน 25 มิลลิกรัม/วันควรแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง, ขนาดยารับประทานสูงสุดไม่เกิน 16 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี: การใช้ยานี้และขนาดยาในเด็กกลุ่มนี้จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโทพิราเมท ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโทพิราเมทอาจส่งผลให้อาการโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโทพิราเมท สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โทพิราเมทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโทพิราเมท สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีอาการสับสน
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • ความคิดอ่านช้า
  • การควบคุมสติเป็นไปได้ยากขึ้น
  • มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักตัวลด
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ซึมเศร้า
  • อ่อนแรง
  • หงุดหงิด
  • รู้สึกกังวล
  • ตัวร้อน

*อนึ่ง ลักษณะของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด เช่น อาจมีอาการชัก, ง่วงนอนมาก, พูดไม่ชัด, ขาดสติ, ความดันโลหิตต่ำ, ปวดท้องมาก, วิงเวียนมาก, ซึมเศร้ามาก , ตาพร่า, ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวหรือสงสัยได้รับยานี้เกินขนาด ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน การแก้ไขภาวะนี้จากแพทย์ คือ ใช้วิธีล้างท้องและให้ผู้ป่วยรับประทานยาถ่านกำมันต์ (Activated charcoal) เพื่อลดการดูดซึมตัวยานี้เข้าสู่ร่างกาย

มีข้อควรระวังการใช้โทพิราเมทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โทพิราเมท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต และหญิงตั้งครรภ์
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ต้องระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากผลข้างเคียงของยาที่ทำให้ง่วงนอน
  • การรับประทานยานี้ต้องดื่มน้ำตามเป็นปริมาณที่เพียงพอเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไต
  • ระหว่างใช้ยานี้ต้องคอยตรวจปริมาณเกลือแร่ในร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอโดยการตรวจเลือดตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • หลีกเลี่ยงการหยุดยานี้โดยกะทันหันซึ่งแพทย์จะค่อยๆปรับลดขนาดยาลงประมาณ 100 มิลลิกรัม/สัปดาห์
  • ถ้ามีอาการตาพร่าหรือปวดลูกตาให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที
  • ยานี้จะทำให้ร่างกายลดการหลั่งเหงื่อจึงทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น/มีไข้ โดยเฉพาะ ผู้ป่วยที่มีที่อยู่อาศัยในเขตอากาศร้อน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโทพิราเมทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โทพิราเมทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโทพิราเมทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโทพิราเมท ร่วมกับ ยากันชักตัวอื่น เช่นยา Phenytoin, Carbamazepine ,และ Phenobarbital สามารถรบกวนและทำให้ความเข้มข้นของยาโทพิราเมทลดน้อยลงไป จนอาจส่งผลต่อการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโทพิราเมท ร่วมกับยา Acetazolamide อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นนิ่วในไต การจะใช้ยาร่วมกันต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยแพทย์จะปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสม และแนะนำผู้ป่วยให้ดื่มน้ำเป็นปริมาณที่เพียงพอทุกครั้งที่รับประทานยานี้
  • การใช้ยาโทพิราเมท ร่วมกับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะเกิดความเสี่ยงต่อการกดประสาทส่วนกลางหรือสมองจึงห้ามรับประทานยาพร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
  • การใช้ยาโทพิราเมท ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดจะส่งผลให้ฤทธิ์การคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงไป ผู้ป่วยควรใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย

ควรเก็บรักษาโทพิราเมทอย่างไร?

ควรเก็บยาโทพิราเมท:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โทพิราเมทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโทพิราเมท มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
EPIMATE (อีพิเมท) Psycorem
EPITOME (อีพิโทม) Triton (Calyx)
EPITOP (อีพิท็อป) Micro Synchro
NEXTOP (เนคท็อป) Torrent (Mind)
NUROMATE (นูโรเมท) Invision
TOPAMATE (โทพาเมท) Cipla
TOPAZ (โทพาซ) Intas
Topamax (โทพาแมกซ์) Janssen-Cilag
TOPEX (โทเพ็ค) Cipla
Topper (ท็อปเปอร์) Lifecare
Trokendi XR (โทรเคนได เอ็กอาร์) Supernus Pharmaceuticals, Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Carbonic_anhydrase_inhibitor#Natural_sources [2021, March27]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Topiramate [2021, March27]
  3. https://www.mims.com/philippines/drug/info/topiramate?mtype=generic [2021, March27]
  4. https://go.drugbank.com/drugs/DB00273 [2021, March27]
  5. https://www.drugs.com/imprints/spn-200-21427.html [2021, March27]