โทซิลิซูแมบ (Tocilizumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของอวัยะต่างๆในร่างกาย ที่เห็นเด้นชัดคือบริเวณข้อและเส้นเอ็น ที่เรียกว่า โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์/โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามข้อ ข้อฝืด เป็นต้น ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายทำลายอวัยวะของตัวเอง การรักษาโรคนี้ด้วยวิธีการดั้งเดิมคือการใช้ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบทั้งชนิดเสตียรอยด์ และชนิดไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs) และยาเคมีสังเคราะห์เพื่อกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Disease-modifying anti-rheumatic drugs; DMARDs) เป็นต้น แต่ทางการแพทย์พบว่า ยาเหล่านี้ไม่มีความจำเพาะในการออกฤทธิ์ ผู้ป่วยจึงได้รับผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวค่อนข้างมาก

การพัฒนายาเพื่อรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ในปัจจุบัน นิยมพัฒนายาชีววัตถุ (Biologics) ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ มีความจำเพาะต่อโรค/ตัวรับ(Receptor)สูง จึงส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น และลดผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ลงได้

ยาโทซิลิซูแมบ(Tocilizumab) เป็นยาชีววัตถุชนิดโมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies) หรือการใช้สารภูมิต้านทานมาพัฒนาเป็นยาในการรักษา ที่มีความจำเพาะสูงต่อต่อตัวรับไซโตไคน์(Cytokine receptor,ตัวรับต่อการอักเสบของเนื้อเยื่อ)ชนิดอินเตอร์ลิวคิน-6 (Interleukin-6) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณต่างๆของร่างกาย

ปัจจุบัน ยาโทซิลิซูแมบจัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายยาของไทย ใช้ได้ในความควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น

ยาโทซิลิซูแมบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โทซิลิซูแมบ

ยาโทซิลิซูแมบ มีสรรคุณ/ข้อบ่งใช้ดังต่อไปนี้ เช่น

1. ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis; RA) ร่วมกับยาเมโธเทรกเซต (Methotrexate)

2. ใช้รักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก (Juvenile Idiopathic Arthritis) ตั้งแต่เด็กอายุ 2 ปี ขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาโทซิลิซูแมบในข้อบ่งใช้อื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน (Off-label use) การใช้ในโรคเหล่านี้ เช่น ในการรักษาโรคแคสเทิลแมน (Castleman’s Disease, โรคชนิดหนึ่งที่พบได้น้อยมากๆ ที่มีความผิดปกติในการเจริญเติบโตของต่อมน้ำเหลือง จนทำให้เกิดภาวะต่อมน้ำเหลืองโตได้ทั่วร่างกาย) และการใช้รักษากลุ่มอาการจากการหลั่งไซโตไคน์ (Cytokine Release Syndrome; CRS)

ยาโทซิลิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโทซิลิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของสารอินเตอร์ลิวคิน 6 (Interleukin-6 ย่อว่า IL-6) ซึ่งเป็นสารไซโตไคน์(Cytokine, สารที่ก่อให้เกิด การอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ)ชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ โดยเข้าจับกับตัวรับของ IL-6 แล้วทำให้ IL-6 ไม่อยู่ในสภาพออกฤทธิ์ จึงช่วยลดการอักเสบลงได้

ยาโทซิลิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโทซิลิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็นยาชนิดฉีด มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ 2 ชนิดคือ

1. ยาน้ำปราศจากเชื้อบรรจุในกระบอกฉีด คือยาชนิดพร้อมฉีด (Pre-filled Syringe) ขนาดความแรง 162 มิลลิกรัม ในยาน้ำ 0.9 มิลลิลิตร

2. ยาน้ำชนิดหยดเข้าหลอดเลือด (Infusion) ขนาดความแรง 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มี 3 ขนาดบรรจุ ได้แก่ 80 มิลลิกรัม ต่อ 4 มิลลิลิตร, ขนาด 200 มิลลิกรัม ต่อ 10 มิลลิลิตร, และ ขนาด 400 มิลลิกรัม ต่อ 20 มิลลิลิตร

ยาโทซิลิซูแมบมีขนาดการใช้และวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาโทซิลิซูแมบ มีขนาดการใช้ยาและมีวิธีการบริหารยา/ใช้ยาแตกต่างกันตามรูปแบบเภสัชภัณฑ์ คือ

1. ใช้ Pre-filled Syringe ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) ขนาด 162 มิลลิกรัม (0.9 มิลลิลิตร) สัปดาห์ละ 1ครั้ง ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบรู มาตอยด์

2. ใช้หยดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous Infusion,IV) มีขนาดยาที่แนะนำตามน้ำหนักตัว(เป็นกิโลกรัม)ของผู้ป่วยคือ ยา 8 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 800 มิลลิกรัม โดยเจือจางตัวยาในน้ำเกลือปราศจากเชื้อสำหรับฉีด (Sterile, non-pyrogenic sodium chloride) ใช้เวลาหยดยาทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง โดยใช้ยาทุกๆ 4 สัปดาห์ การบริหารยารูปแบบนี้ สามารถให้ได้ทั้งในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรู มาตอยด์ และโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก

*อนึ่ง บทความนี้ ขอไม่กล่าวถึงขนาดและวิธีใช้ยานี้ในการรักษาโรคที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน (Off-label use)

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโทซิลิซูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ที่สำคัญ ดังนี้ เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆ ทั้งยาที่ซื้อทานเอง และยาที่แพทย์สั่งจ่าย วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร/อาหารเสริม สมุนไพร โดยเฉพาะประวัติการใช้ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ยาที่กดภูมิคุ้มกันที่กำลังใช้อยู่หรือที่เคยใช้ในอดีต
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ หากกำลังอยู่ระหว่างการรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ ทั้งที่เกิดจาก เชื้อไวรัส แบคทีเรีย และ/หรือเชื้อรา
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ หากกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ ถึงประวัติอาการเจ็บป่วยต่างๆ และประวัติการรับวัคซีนชนิดต่างๆ โดยเฉพาะหากมีประวัติ โรคตับ โรคไวรัสตับอักเสบ-บี โรคไต

หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมเข้ารับการบริหารยา/ฉีดยาโทซิลิซูแมบ ให้ติดต่อสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาอยู่โดยเร็วที่สุด เพื่อนัดหมายใหม่ถึงวันเข้ารับยานี้

ยาโทซิลิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโทซิลิซูแมบ อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)บางประการ เช่น อาการเจ็บ/ ปวด หรือคัน ในบริเวณที่ฉีดยา อาจ ปวดท้อง ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ไอ หรือมีอาการเหมือนไม่สบายบ่อยครั้ง เช่น มีไข้ เจ็บคอ ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มว่าจะทุเลาลง ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาลทราบ/รีบมาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด

หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรง เช่น เกิดผื่นขึ้นตามลำตัว การเกิดโรคเริม รวมไปถึงอาการแพ้ยาแบบฉียบพลัน เช่น มีผื่นคันขึ้นตาตัว ใบหน้า เปลือกตา และริมฝีปากบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ยาโทซิลิซูแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโทซิลิซูแมบ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อ ทั้งจาก เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา
  • ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจการติดเชื้อวัณโรคก่อนเริ่มต้นการใช้ยานี้ และระหว่างการใช้ยานี้ ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • หลีกเลี่ยงการรับวัคซีนต่างๆขณะใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยควรได้รับการติดตามความดันโลหิต ค่าไขมันในเลือด และเอนไซม์การทำงานของตับในเลือด ระหว่างการใช้ยานี้ ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา เนื่องจากยานี้ส่งผลให้เกิด ความดันโลหิตสูง มีไขมันเลว (Low Density Lipoprotein ; LDL) ในเลือดสูงมากขึ้น หรืออาจทำให้ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น เช่น ค่า SGPT(Serum glutamic-pyruvic transaminase)
  • ผู้ป่วยควรได้รับการติดตามระดับเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด(การตรวจเลือด CBC)ในระหว่างการใช้ยานี้อย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโทซิลิซูแมบ) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโทซิลิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโทซิลิซูแมบ จะมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) ชนิดอื่นๆ เช่น ยานาทาลิซูแมบ (Natalizumab) ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus) ยาโทฟาซิทินิบ (Tofacitinib) เป็นต้น โดยจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาโทซิลิซูแมบจนอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการบริหาร/การได้รับวัคซีนต่างๆ เนื่องจากยาโทซิลิซูแมบเป็นยาชนิดกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย การฉีดหรือรับวัคซีนเชื้อเป็นในระหว่างการใช้ยานี้ จึงอาจเพิ่มฤทธิ์การก่อโรคของเชื้อในวัคซีนได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนขณะใช้ยานี้ด้วย

ควรเก็บรักษายาโทซิลิซูแมบอย่างไร?

ยาโทซิลิซูแมบควรได้รับการเก็บรักษาในตู้เย็นช่วงอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง เก็บยาในขวดหรือในกระบอกฉีดยาในกล่องหรือในบรรจุภัณฑ์ที่มากับผู้ผลิต เพื่อป้องกันยาจากแสงสว่าง/แสงแดด

อย่างไรก็ดี ควรสอบถามฝ่ายเภสัชกรรมของแต่ละสถานพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายานี้

ยาโทซิลิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโทซิลิซูแมบ มียาชื่อการค้า คือ แอกเทมร่า (Actemra) และ แอตลิซยูแมบ(Atlizumab) ในบางประเทศใช้ชื่อว่า ยาโรแอกเทมร่า (RoActemra) ผลิตโดยบริษัทฮอฟแมน-ลา โรช (Hoffmann-La Roche) ประเทศสวีสเซอร์แลนด์ ร่วมกับบริษัทชูไก ฟาร์มาซูติคอล (Chugai Pharmaceutical) ประเทศญี่ปุ่น

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Tocilizumab. Drug Information Handbook with Trade names index. 23;2014:2101-3.
  2. Daniel W. Lee, Rebecca Gardner, David L. Porter, et al. Current concepts in the diagnosis and management of cytokine release syndrome. Blood 2014 124:188-195.
  3. RoActemra Summary of Product Characteristics. Medicines.org.uk (eMC). http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/28809 [2016,Sept24]
  4. Tocilizamab. American College of Rheumatology http://www.rheumatology.org/I-Am-A/Patient-Caregiver/Treatments/Tocilizumab-Actemra [2016,Sept24]
  5. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. http://wwwapp1.fda.moph.go.th/consumer/conframe.asp [2016,Sept24]