โดลาซีตรอน (Dolasetron)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โดลาซีตรอน (Dolasetron หรือ Dolasetron mesylate) คือ ยาบำบัดรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด,  และ/หรือ ภายหลังการให้ยาเคมีบำบัด, โดยเป็นยาในกลุ่ม Serotonin 5-HT3 receptor antagonist, และมีรูปแบบเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด    

ยาโดลาซีตรอนนี้ใช้ได้กับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป โดยตัวยาจะไปลดการทำงานของเส้นประสาทสมองที่มีชื่อว่า 'เวกัส (Vagus nerve)' ซึ่งมีหน้าที่หลักคือควบคุมการออกเสียงและการกลืน

หากเส้นประสาทเวกัสเสียหาย จะทำให้การออกเสียงและกลืนอาหารได้ลำบาก และเส้นประสาทเวกัสนี้เองที่สามารถกระตุ้นศูนย์ควบคุมการอาเจียนในก้านสมองส่วนที่เรียกว่า เมดัลลาออบลองกาตา (Medulla oblongata)

 หลังจากถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร/เข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาโดลาซีตรอนจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 69 - 77%, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 8.1 ชั่วโมงเพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแสเลือด

มีข้อมูลทางคลินิกซึ่งถือเป็นข้อจำกัดในการใช้ยาโดราซีตรอนที่ผู้บริโภคควรทราบ เช่น

  • แพทย์จะไม่ใช้กับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้มาก่อน
  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือมีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หรือเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ถือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ห้ามใช้ยาโดลาซีตรอน
  • ห้ามใช้ยาโดลาซีตรอนกับผู้ป่วยที่มีการใช้ยา Apomorphine หรือยา Nilotinib อยู่ก่อนแล้ว
  • ยานี้อาจทำให้มีอาการวิงเวียนหรือง่วงนอน สภาวะดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นหากผู้ป่วยดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เจือปน แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆและ/หรือทำงานกับเครื่องจักรขณะที่มีการใช้ยานี้เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
  • ผู้ป่วยกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องแจ้งสถานภาพของสุขภาพตนเองดังกล่าวให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกรทราบทุกครั้ง
  • กลุ่มผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จะมีโอกาสแพ้ยาชนิดนี้ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
  • อาการข้างเคียง /ผลข้างเคียง ที่สามารถพบได้หลังการใช้ยาโดลาซีตรอนจะมีเรื่องวิงเวียน ปวดหัว เหนื่อยง่าย อาการต่างๆเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้นหลังจากหยุดการใช้ยานี้
  • *หลังการใช้ยานี้ แล้วอาการคลื่นไส้-อาเจียนไม่ทุเลา หรือกลับแย่ลงควรรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีเพื่อแพทย์พิจารณาปรับวิธีการรักษา

ทั่วไป เราจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเสียเป็นส่วนใหญ่, เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเอง การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาแต่เพียงผู้เดียว

โดลาซีตรอนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โดลาซีตรอน

 

ยาโดลาซีตรอนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:  

  • ใช้เป็นยาป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนก่อนได้รับยาเคมีบำบัด
  • ใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังได้รับการผ่าตัด

โดลาซีตรอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโดลาซีตรอนมีกลไกออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ในสมองที่มีชื่อว่า ‘Serotonin 5-HT3 receptor (Serotonin 5-hydroxytryptamine 3 receptor)’ จนส่งผลต่อการหลั่งสารสื่อประสาทประเภทเซโรโทนิน (Serotonin), นอกจากนี้ตัวยายังลดการทำงานของเส้นประสาทสมองที่ชื่อ เวกัส (Vagus nerve) ที่จะไปกระตุ้นศูนย์อาเจียนในสมอง, จากกลไกดังกล่าว ทำให้เกิดฤทธิ์ยับยั้งการคลื่นไส้อาเจียนได้ตามสรรพคุณ

โดลาซีตรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโดลาซีตรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:   

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

โดลาซีตรอนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโดลาซีตรอนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา:  เช่น

ก. ใช้ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนก่อนเข้ารับยาเคมีบำบัด: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานยา 100 มิลลิกรัมภายใน 1 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับยาเคมีบำบัด
  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทานยา 1.8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ภายใน 1 ชั่ว โมงก่อนเข้ารับการทำเคมีบำบัด, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม

ข. ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 12.5 มิลลิกรัมก่อนได้รับยาสลบ 15 นาที
  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 0.35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมก่อนได้รับยาสลบ 15 นาที, หรือใช้เป็นแบบยารับประทานขนาด 1.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมภายใน 2 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัด, โดยขนาดรับประทานสูงสุดต้องไม่เกิน 100 มิลลิกรัม

*อนึ่ง:

  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลด้านผลข้างเคียงจากยานี้ที่ชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
  • การใช้ยานี้ชนิดรับประทานกับเด็ก สามารถผสมยากับน้ำผลไม้ เช่น น้ำองุ่น น้ำแอปเปิ้ล ทั้งนี้เพื่อกลบรสชาติและทำให้เด็กรับประทานยานี้ได้ง่ายมากขึ้น
  • การใช้ยานี้เพื่อป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนกับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับการทำเคมีบำบัด แพทย์มักจะใช้เป็นยารับประทานมากกว่าการใช้ยาฉีด, ในความเห็นของตัวผู้เขียนบทความนี้เข้าใจว่ายารับประทานจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆของยานี้ได้ช้ากว่ายาฉีด จึงทำให้ร่างกายผู้ป่วยปรับตัวได้ดีกว่า

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโดลาซีตรอน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโดลาซีตรอนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยาโดลาซีตรอนมักกระทำในสถานพยาบาล และมีตารางเวลาการใช้ยาซึ่งเป็นคำสั่งจากแพทย์ จึงถือเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะเกิดเหตุการณ์ลืมรับประทานหรือลืมฉีดยานี้ให้กับผู้ป่วย

โดลาซีตรอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโดลาซีตรอนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการ ปวดหัว วิงเวียน การควบคุมการทรงตัวผิดปกติ เช่น มีอาการเดินเซ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องผูก  ท้องอืด เบื่ออาหาร
  • ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ มีภาวะบิลิรูบินในเลือดสูง มีอาการ ตัวเหลือง ระดับค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง เช่น SGOT (Serum glutamic-oxaloacetic transaminase) และ SGPT (Serum glutamic-pyruvic transaminase)
  • ผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ: เช่น มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจีเปลี่ยนไป เกิดความดันโลหิตต่ำ บวมตามปลายมือ - เท้า เจ็บหน้าอก มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งหากเกิดอาการรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยถึงตายได้
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เพิ่มการขับเหงื่อทางผิวหนัง
  • ผลต่อตา: เช่น มีภาวะตาพร่า และตาไม่สู้แสงได้ง่าย
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดอาการโลหิตจาง ปัสสาวะมีโลหิตปน/ปัสสาวะเป็นเลือด มีภาวะเลือดออกตามเนื้อเยื่อต่างๆ มีเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อและข้อ : เช่น ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อ
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น มีอาการหายใจลำบากด้วยเกิดภาวะหลอดลมเกร็งตัว
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมาก หรือไม่ก็ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อการทำงานของไต: เช่น เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน

มีข้อควรระวังการใช้โดลาซีตรอนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโดลาซีตรอน: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง, ควรต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • รูปแบบยานี้ชนิดรับประทานมักใช้กับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้ารับการทำเคมีบำบัดมากกว่าการใช้ยาฉีด
  • *หากพบอาการแพ้ยานี้ ต้องรีบแจ้งแพทย์พยาบาล/มาโรงพยาบาลทันที
  • ระวังการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนินจากการใช้ยานี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโดลาซีตรอนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โดลาซีตรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโดลาซีตรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • ห้ามใช้ยาโดลาซีตรอน ร่วมกับยา Mequitazine  ด้วยจะกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดลาซีตรอน ร่วมกับยา Apomorphine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะ ความดันโลหิตต่ำเกิดขึ้นได้
  • การใช้ยาโดลาซีตรอน ร่วมกับยา Tapentadol (ยาแก้ปวด) และ Tramadol, อาจทำให้ฤทธิ์รักษาอาการปวดของ Tapentadol และ Tramadol ด้อยประสิทธิภาพลง  กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาโดลาซีตรอนอย่างไร?

สามารถเก็บยาโดลาซีตรอนชนิดรับประทานและชนิดยาฉีด: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โดลาซีตรอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโดลาซีตรอน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Anzemet (แอนซีเมท) sanofi-aventis

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dolasetron   [2022,Dec24]
  2. https://www.drugs.com/mtm/dolasetron.html   [2022,Dec24]
  3. https://www.mims.com/India/drug/info/dolasetron/?type=full&mtype=generic#Dosage   [2022,Dec24]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2013/020623s010lbl.pdf,020624s023lbl.pdf   [2022,Dec24]
  5. https://www.drugs.com/monograph/dolasetron.html  [2022,Dec24]