โดฟีทิไลด์ (Dofetilide)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โดฟีทิไลด์ (Dofetilide) คือ ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทั้งแบบการเต้นผิดจังหวะของตำแหน่งห้องบน (Atrial fibrillation), หรือมีภาวะเต้นถี่ๆ (Atrial flutter), มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยารับประทาน, ตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์โดยปิดกั้นการแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้าที่เป็นเกลือโพแทสเซียมในเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจ (แต่ยานี้ไม่มีผลต่อการทำงานของโซเดียมที่เรียกว่า โซเดียมแชนแนล/Sodium channel), รวมถึงตัวรับ (Receptor) ของสารสื่อประสาทที่กระตุ้นการทำงานของหัวใจที่เรียกว่า Adrenergic alpha-receptors, และ/หรือ Adrenergic beta-receptors,

ยาโดฟีทิไลด์ สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดมากกว่า 90%, จากนั้นตัวยาจะรวมตัวกับพลาสมาโปรตีน 60 – 70%, ร่างกายต้องใช้เวลา 10 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดผ่านทางไต/ปัสสาวะ,  ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับยาโดฟีทิไลด์อาจต้องใช้เวลารับประทานยามากกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะทำให้อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะกลับมาเป็นปกติ

ยังมีเงื่อนไขทางคลินิกบางประการที่ยืนยันและบ่งบอกว่าสามารถใช้ยาโดฟีทิไลด์กับผู้ป่วยได้หรือไม่นั้น เช่น

  • ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติแพ้ยาโดฟีทิไลด์มาก่อน
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคไตระดับรุนแรง หรือผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดการนำส่งกระแสไฟฟ้าของหัวใจห้องล่างผิดปกติ
  • ยาบางกลุ่มสามารถส่งผลต่อการรักษาของยาโดฟีทิไลด์, ทางคลินิกจึงแนะนำไม่ให้ใช้ยาร่วมกัน เช่น ยา Verapamil, Cimetidine,  Hydrochlorothiazide, Trimethoprim, Itraconazole,  Ketoconazole, Prochlorperazine, Dolutegravir, Megestrol
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ล้วนเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงได้สูงต่อการใช้ยานี้
  • ผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยโรคประจำตัวบางอย่างที่สามารถเกิดผลกระทบ (ผลข้างเคียง) หากใช้ยาโดฟีทิไลด์ เช่น ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียม และเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ หรือผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติบางประเภท
  • ผู้ที่ได้รับยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดอื่นอยู่ก่อน ก็ถือเป็นข้อห้ามการใช้ยาโดฟีทิไลด์ซ้ำซ้อน

การใช้ยาโดฟีทิไลด์ ยังต้องการตัวชี้วัดทางสุขภาพมาประกอบในการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ค่าสัญญาณชีพต่างๆ ค่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี รวมถึงจังหวะการเต้นของหัวใจ (Sinus rhythm)  ระดับเกลือโพแทสเซียม และเกลือแมกนีเซียมในเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่   

นอกจากนี้เมื่อใช้ยาโดฟีทิไลด์ ยังมีอาการข้างเคียงต่างๆที่ผู้ป่วยต้องเรียนรู้ว่าสามารถเกิดขึ้นได้ และควรต้องปรับตัวอย่างไรเมื่อเกิดอาการดังกล่าว เช่น อาการวิงเวียน ปวดหัว  มีไข้ต่ำ  ไอ  เจ็บคอ     

ยาโดฟีทิไลด์ ถูกออกแบบและมีการศึกษาการใช้ทางคลินิกสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น การใช้ยาในผู้ป่วยเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ยังขาดข้อมูลความปลอดภัยมาสนับสนุน  หากจะใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยเด็กแพทย์จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก  

ผู้บริโภคสามารถสอบถามรายละเอียดของยาโดฟีทิไลด์เพิ่มเติมได้จาก แพทย์/เภสัชกรตามสถานพยาบาล หรือตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป

โดฟีทิไลด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาโดฟีทิไลด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาอาการโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โดฟีทิไลด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโดฟีทิไลด์ คือตัวยาจะยับยั้งการส่งผ่านประจุไฟฟ้าในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ โดยปรับให้เกิดสมดุลของโพแทสเซียมไอออน (Potassium ion) โดยมิได้ยุ่งเกี่ยวกับการส่งผ่านประจุของเกลือโซเดียมแต่อย่างใด  จากกลไกนี้ ทำให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะที่เป็นปกติเช่นเดิม, และเป็นที่มาของสรรพคุณ

โดฟีทิไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโดฟีทิไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 0.125 และ 0.25 มิลลิกรัม/แคปซูล

โดฟีทิไลด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโดฟีทิไลด์ มีขนาดรับประทาน:  

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 0.125 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, หรือ รับประทานครั้งละ 0.5 มิลลิกรัม, วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น,  โดยขึ้นกับอาการและคำสั่งแพทย์,  และสามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือหลังอาหาร ก็ได้
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิก แนะนำการใช้ยานี้ในเด็ก

*อนึ่ง:  สำหรับผู้ป่วยโรคไต แพทย์ต้องปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับอัตรากำจัดของเสียของไต

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง                          ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโดฟีทิไลด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น             

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น  หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย                                                                                                                                  
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ  รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโดฟีทิไลด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน                                                     
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโดฟีทิไลด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป  ก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า 

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาโดฟีทิไลด์ ตรงเวลา ด้วยการรักษาต้องอาศัยความต่อเนื่องของฤทธิ์ยานี้ในการรักษา

โดฟีทิไลด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโดฟีทิไลด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ: เช่น อาจทำให้หัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น หัวใจเต้นช้า มีอาการบวม ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น  คลื่นไส้  ท้องเสีย  และปวดท้อง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น  โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ  ไอ  หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น  ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ใบหน้าเกิดอัมพาต ไมเกรน หมดสติชั่ววูบ
  • ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น ตับอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้โดฟีทิไลด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโดฟีทิไลด์: เช่น             

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร  เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีm ลงมาและผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
  • หากพบอาการวิงเวียนหลังรับประทานยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ ต่างๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • *กรณีใช้ยานี้แล้วมีอาการ เบื่ออาหาร กระหายน้ำมาก  อาเจียนรุนแรง  เหงื่อออกมาก ท้องเสียซึ่งมักมีภาวะอิเล็กโทไลต์/เกลือแร่/แร่ธาตุ (Electrolyte) ในร่างกายบกพร่องร่วมด้วย  ควรรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • *หากพบอาการแพ้ยา เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก  ตัวบวม  มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง  ให้หยุดใช้ยานี้ทันที และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • ควรออกกำลังกาย รับประทานอาหาร  พักผ่อน  ตามคำแนะนำของแพทย์
  • *ระหว่างการใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นตามระยะเวลาที่เหมาะสม ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อรับการการตรวจต่างๆตามแพทย์แนะนำ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี ตรวจเลือดดูการทำงานของไต ดูระดับเกลือโพแทสเซียมและแมกนีเซียม ว่าอยู่ในภาวะปกติดีหรือไม่

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโดฟีทิไลด์) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โดฟีทิไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโดฟีทิไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาโดฟีทิไลด์ ร่วมกับยากลุ่ม Azithromycin, Apomorphine , Chloroquine,  Hydrocortisone,  Propoxyphene,  อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสูงขึ้น  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโดฟีทิไลด์ ร่วมกับยาต้านไวรัส อย่างเช่น Ritonavir  สามารถทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นได้ รวมถึงมีระดับเกลืออิเล็กโทรไลต์ในเลือดผิดปกติ  กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน   แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับร่างกายผู้ป่วยพร้อมกับเฝ้าระวังและควบคุมสัญญาณชีพ เช่น  คลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เป็นปกติอยู่เสมอ
  • ห้ามใช้ยา Hydrochlorothiazide ร่วมกับยาโดฟีทิไลด์ ด้วยจะส่งผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจและเกิดอาการแน่นหน้าอก  ตาพร่า  คลื่นไส้ ติดตามมา
  • การใช้ยาโดฟีทิไลด์ ร่วมกับยาลดกรด  เช่นยา  Magnesium hydroxide  อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงบางอย่างตามมา คือ มีภาวะเกลือแมกนีเซียมหรือเกลือโพแทสเซียมในเลือดลดต่ำลง  อีกทั้งยังส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ ทำให้เต้นผิดปกติ เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว  ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโดฟีทิไลด์อย่างไร?

ควรเก็บยาโดฟีทิไลด์: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โดฟีทิไลด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโดฟีทิไลด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Tikosyn (ไทโคซิน) pfizer

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dofetilide   [2023,April 22]
  2. https://www.drugs.com/mtm/dofetilide.html   [2023,April 22]
  3. https://www.drugs.com/pro/tikosyn.html    [2023,April 22]
  4. https://www.drugs.com/image/tikosyn-images.html   [2023,April 22]
  5. https://www.drugs.com/dosage/dofetilide.html#Usual_Adult_Dose_for_Arrhythmia   [2023,April 22]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/dofetilide-index.html?filter=3&generic_only=   [2023,April 22]