โดพามีน (Dopamine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ทั่วไป

โดพามีน (Dopamine) เป็นสารสื่อประสาทในสมอง ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานต่างๆของร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหวของร่างกาย, เกี่ยวข้องกับกระบวนการหลั่งน้ำนมของมารดา, กระบวนการที่ทำให้เกิดการคลื่นไส้, รวมถึงอารมณ์ทางเพศ เป็นต้น โดยโดพามีนไม่สามารถหลั่งผ่านจากสมองแล้วเข้าสู่กระแสเลือดได้ ดังนั้น ร่างกายจึงมีกลไกในการสร้างสาร โดพามีนจากเซลล์ประสาทของร่างกายที่อยู่นอกสมองในรูปโครงสร้างโดพามีนซัลเฟต (Dopamine sulphate) ซึ่งมีหน้าที่และอิทธิพลต่อระบบการทำงานของร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค, การทำงานของไต, การทำงานของตับอ่อน, และเกี่ยวโยงไปจนถึงการทำงานของระบบทางเดินอาหาร, ตลอดจนลดการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลิน ฯลฯ

สำหรับด้านเภสัชกรรม สารโดพามีนถูกสังเคราะห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ด้วยวัตถุประสงค์การรักษาโรคของวงการแพทย์ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว

ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุยาโดพามีนไฮโดรคลอไรด์(Dopamine hydrochloride หรือ Dopamine HCl)ชนิดฉีดลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ จัดเป็นยาที่ต้องใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป นอกจากตัวแทนจำหน่ายขนาดใหญ่ๆเท่านั้น

ยาโดพามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โดพามีน

ยาโดพามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • เพิ่มปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ
  • ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตต่ำเนื่องจากภาวะช็อกอันมีสาเหตุจาก หัวใจหยุดเต้น, มีบาดแผลสาหัส, ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ), การผ่าตัด, ภาวะหัวใจล้มเหลว, ภาวะไตวาย (ไตล้มเหลว)

ยาโดพามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโดพามีนคือ การให้ยาโดพามีนในขนาดต่ำจะทำให้หลอดเลือดบริเวณไตขยายตัว หากเพิ่มปริมาณยาในระดับสูงมากขึ้นจะกระตุ้นให้หัวใจมีแรงบีบตัว พร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ความเร็วในการให้ยาทางหลอดเลือดดำ (เช่น ให้ปริมาณยาทั้งหมดที่แพทย์ต้องการใน 1 นาทีหรือใน 1 ชั่วโมง เป็นต้น) ก็ส่งผลต่อหลอดเลือดได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ

  • การให้ยานี้ด้วยอัตราเร็วต่ำ จะทำให้หลอดเลือดบริเวณไตขยายตัว
  • การให้ยานี้ในอัตราเร็วสูง จะทำให้หลอดเลือดในกล้ามเนื้อลายหดตัว และส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงขึ้น

ดังนั้น ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้โดพามีนมีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ยาโดพามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโดพามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเฉพาะเป็นยาฉีด เช่น

  • รูปแบบยาฉีด ขนาด 2.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • รูปแบบยาฉีด ขนาด 50, 200 และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • รูปแบบยาฉีด ขนาด 200 และ 250 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร
  • รูปแบบยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร

ยาโดพามีนมีขนาดและวิธีใช้อย่างไร?

ยาโดพามีนมีขนาดและวิธีใช้ เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น หยดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดดำ 2 - 5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที จากนั้น แพทย์อาจเพิ่มเป็น 5 - 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที หากผู้ป่วยมีอาการของโรครุนแรง แพทย์อาจต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 20 - 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
  • เด็ก: ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโดพามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/หายใจติดขัด/ หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาโดพามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ยาโดพามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโดพามีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง) เช่น

  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า
  • ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • เจ็บหน้าอก
  • ความดันโลหิตต่ำ หรือ ความดันโลหิตสูง
  • ปวดหัว
  • หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้ยาโดพามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโดพามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ และภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงในบริเวณแขนขา และผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะขาดน้ำและมีปริมาตรของเลือดน้อย
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วย โรคเรเนาด์ ( Raynaud’s disease) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงนิ้วมือนิ้วเท้าหดตัวอย่างมาก
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วย โรคเบเซ็ท (Behcet’s syndrome) ซึ่งเป็นภาวะอักเสบของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยหลอดเลือดแดงอักเสบ/โรคหลอดเลือดอักเสบ อันมีสาเหตุจากโรคเบาหวาน (Diabetic endarteritis)
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุก ชนิด (รวมยาโดพามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโดพามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโดพามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโดพามีน ร่วมกับยาสลบที่มีสารไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) เป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่นยา Cyclopropane อาจก่อให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ โดยมีอาการของหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การใช้ยาโดพามีน ร่วมกับยากันชักยาต้านชัก เช่นยา Phenytoin สามารถทำให้ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้าลง มีอาการปวดหัว และวิงเวียนร่วมด้วย จึงควรต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ให้ทราบว่า ผู้ป่วยเคยได้รับยาอะไรมาก่อนที่จะใช้ยาโดพามีน
  • การใช้ยาโดพามีน ร่วมกับยาต้านซึมเศร้า เช่นยา Amitriptyline ผู้ป่วยต้องได้รับการควบ คุมและตรวจสอบความดันโลหิตอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมต่อสภาพร่างกายของผู้ป่วย
  • การใช้ยาโดพามีนสามารถรบกวนและก่อความคลาดเคลื่อนต่อผลการตรวจปริมาณ ฮอร์โมนบางตัวในเลือด ด้วยยาโดพามีนจะไปกดการหลั่งฮอร์โมนดังกล่าว เช่น Thyroid hormone (ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์), Growth hormone (ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต, ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง), และ Prolactin hormone (ฮอร์โมนเกี่ยวกับการหลั่งน้ำนม)

ควรเก็บรักษายาโดพามีนอย่างไร

ควรเก็บยาโดพามีน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาโดพามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโดพามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
DBL Dopamine (ดีบีแอล โดพามีน) Hospira
Dopamex (โดพาเม็กซ์) Biolab
Dopamine HCl Hospira (โดพามีน ไฮโดรคลอไรด์ ฮอสพิรา) Hospira
Dopin (โดพิน) Union Drug
Inopin (ไอโนพิน) Siam Bheasach

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dopamine [2020,Dec5]
  2. https://www.drugs.com/dopamine.html [2020,Dec5]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=dopamine [2020,Dec5]
  4. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fdopamine%2f [2020,Dec5]
  5. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fInopin%2f%3ftype%3dbrief [2020,Dec5]
  6. http://vatchainan2.blogspot.com/2011/05/raynauds-disease-causes-2.html [2020,Dec5]
  7. http://vatchainan2.blogspot.com/2011/05/vasculitis-symptoms-by-type-2.html [2020,Dec5]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/dopamine-index.html?filter=3&generic_only= [2020,Dec5]
  9. https://www.medicinenet.com/dopamine-injection/article.htm [2020,Dec5]