โดบูทามีน (Dobutamine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โดบูทามีน (Dobutamine หรือ Dobutamine hydrochloride) คือ ยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน, มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาฉีด, และจัดเป็นยาในกลุ่มซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic drug)ที่สามารถออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ที่ทำงานเกี่ยวกับการบีบตัวของหัวใจ ชื่อ ‘เบต้า-1 (Beta-1 receptor, หรือ Beta-1 adrenoreceptor หรือ Beta-1 adrenoceptor หรือ Beta1 adrenergic receptor)’ จึงส่งผลกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติ

ยาโดบูทามีน จะออกฤทธิ์ระยะสั้นเพื่อช่วยกระตุ้นให้หัวใจมีแรงบีบตัว และยังสามารถใช้ยานี้เพื่อตรวจทดสอบสมรรถภาพการทำงานของหัวใจได้ด้วย (Cardiac stress test)

ยาโดบูทามีน ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) โดยหลังจากฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดของผู้ป่วย ตัวยาจะใช้เวลาประมาณ 2 นาทีก็จะเริ่มออกฤทธิ์, และมีระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ไม่เกิน 10 นาที,  ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะขับยานี้ทิ้งออกจากร่างกาย โดยผ่านไปทางปัสสาวะและอุจจาระ

ตัวยาโดบูทามีน มีข้อจำกัดและข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ชนิด Idiophathic hypertrophic subaortic stenosis และผู้ป่วยเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)

ผู้ป่วยที่ได้รับยาโดบูทามีน อาจมีอาการความดันโลหิตสูง และมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น, และในสูตรตำรับของยาโดบูทามีนจะมีส่วนประกอบของสาร Sodium metabisulfite ซึ่ง*อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแพ้ยา และทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบอย่างรุนแรงเกิดขึ้นได้ ดังนั้นระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยานี้จะต้องคอยตรวจสอบอาการและควบคุมสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา

การใช้ยาโดบูทามีน อาจจะไม่ได้ผลในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ (โรคลิ้นหัวใจ) หรือมีหลอดเลือดบริเวณหัวใจตีบ (โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ)

*สำหรับผู้ที่ได้รับยาโดบูทามีนเกินขนาด อาจสังเกตจากผู้ป่วยจะมีอาการสั่น คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล ปวดหัว ชีพจรเต้นผิดปกติ หายใจขัด/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกด้วยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น, โดยหากพบอาการเหล่านี้แพทย์จะหยุดการใช้ยานี้ทันที, ซึ่งการบำบัดรักษากรณียานี้เกินขนาดจะด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ, หากพบอาการหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะอย่างรุนแรง, แพทย์อาจต้องสั่งจ่ายยา Propranolol หรือยา Lidocaine ให้กับผู้ป่วย

ยาโดบูทามีน สามารถใช้ได้ทั้งกับผู้ใหญ่และกับเด็กตั้งแต่เป็นเด็กทารกขึ้นไป การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

ประเทศไทย โดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้บรรจุให้ยาโดบูทามีน ไฮโดรคลอไรด์ (Dobutamine hydrochloride) อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ การใช้ยานี้ต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น เช่น ในห้องผ่าตัดหรือห้องฉุกเฉิน, และสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป

โดบูทามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาโดบูทามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน (Acute heart failure)
  • ใช้ตรวจทดสอบสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ (Cardiac stress test)

โดบูทามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโดบูทามีน มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ในบริเวณตัวรับของกล้ามเนื้อหัวใจที่มีชื่อเรียกว่า เบต้า 1 รีเซปเตอร์ (Beta 1 receptor) ส่งผลให้หัวใจมีแรงบีบตัวและกระตุ้นการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ

โดบูทามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโดบูทามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น  

  • ยาฉีด ขนาด 250 มิลลิกรัม/20 มิลลิลิตร (250,000 ไมโครกรัม/20 มิลลิลิตร)
  • ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (50,000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร)
  • ยาฉีด  ขนาด 12.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (12,500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร)

โดบูทามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโดบูทามีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป: เช่น ให้ยาโดยหยดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2.5 - 15 ไมโครกรัม /น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที, อาจเพิ่มขนาดการให้ยาครั้งละ 2.5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที, และต้องมีการควบคุมสัญญาณชีพต่างๆควบคู่กันไป เช่น ความดันโลหิต รวมถึงการตรวจสอบปริมาณปัสสาวะ, กรณีที่มีอาการรุนแรง การให้ยานี้อาจต้องใช้ยามากถึง 40 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
  • เด็กทารก - อายุ 18 ปี: เริ่มต้นหยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที, การปรับขนาดการใช้ยาต้องดูการตอบสนองของร่างกายเด็กและต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

*อนึ่ง:

  • ก่อนฉีดยาโดบูทามีน สามารถเจือจางตัวยาด้วยสารละลาย Glucose 5% หรือสารละลาย Sodium chloride 0.9% โดยทำตามขั้นตอนของเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
  • ระหว่างการให้ยานี้จะต้องควบคุมสัญญาณชีพ เช่น ความดันโลหิต ฯลฯ, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี,  ปริมาณเลือดที่ถูกสูบฉีดออกจากหัวใจ, รวมถึงแรงดันเลือดภายในปอด

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโดบูทามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/ หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย   
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโดบูทามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โดบูทามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโดบูทามีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง หรือความดันโลหิตต่ำ อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เจ็บหน้าอก  หัวใจเต้นเร็ว  หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผื่นคัน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ,   โพแทสเซียมในเลือดต่ำ,  ปริมาณกลีเซอรอล (Glycerol, สารประเภทน้ำตาล) และกรดไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาการประสาทสัมผัสเพี้ยน ปวดหัว  อาการสั่น  วิตกกังวล

มีข้อควรระวังการใช้โดบูทามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโดบูทามีน: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคหัวใจชนิด Idiopathic hypertrophic subaortic stenosis และผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา
  • ห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพไปจากเดิม
  • การใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด  ผู้ที่เพิ่งมีอาการหัวใจวาย/หัวใจล้มหลวมาใหม่ๆ ผู้ที่มีภาวะช็อกด้วยอาการความดันโลหิตต่ำ  ผู้ป่วยโรคเบาหวาน  ผู้ป่วยโรคต้อหิน
  • *หากสังเกตพบอาการผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาดอย่าง เช่น มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก  ปวดหัวต่อเนื่อง  หายใจขัด/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก วิตกกังวล หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ  ความดันโลหิตต่ำ *ให้หยุดการให้ยานี้ทันทีและต้องรีบแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษา
  • ตรวจสอบว่า ผู้ป่วยมีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อน ด้วยยาหลายรายการอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาโดบูทามีนได้
  • หลังการรักษาด้วยยานี้ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโดบูทามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด   สมุนไพรต่างๆ  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โดบูทามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโดบูทามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • ห้ามใช้ยาโดบูทามีน ร่วมกับยา Amitriptyline ด้วยการใช้ยาร่วมกัน อาจส่งผลต่อ ความดันโลหิตของผู้ป่วย กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาอย่างเหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโดบูทามีน ร่วมกับยา Phenylpropranolamine สามารถทำให้ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจของผู้ใช้ยาเพิ่มสูงขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดบูทามีน ร่วมกับยา Linezolid ด้วยอาจทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วย เพิ่มมากขึ้น หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาโดบูทามีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาโดบูทามีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น

อนึ่ง: กรณีตัวยานี้สัมผัสแสง/แสงแดด อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนเป็นสีชมพู ซึ่งไม่ควรใช้ ควรทิ้งยาไป

โดบูทามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโดบูทามีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Dobutamine HCl in 5% Dextrose Baxter (โดบูทามีน เฮชซีไอ อิน 5% เด็กซ์โทรส แบ็กซ์เตอร์) Baxter Healthcare
Dobutamine Synthon (โดบูทามีน ซินทอน) Synthon BV
Dobutamine Hospira (โดบูทามีน ฮอสพิรา) Hospira
Dobutel (โดบูเทล) Novell Pharma
Cardiject (คาร์ดิเจค) Sun Pharma
Dobuject (โดบูเจค) Bayer Schering Pharma Oy
Dobutrex (โดบูเทร็กซ์) Eli Lilly
DBL Dobutamine (ดีบีแอล โดบูทามีน) Hospira

 

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dobutamine  [2022,Oct8]
  2. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1C&rcno=6300010&lpvncd=10&lcntpcd=%E0%B8%99%E0%B8%A21&lcnno=2600236&licensee_no=236/2526  [2022,Oct8]
  3. http://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug.aspx?Newcode_U=U1DR1C1022640003911C   [2022,Oct8]
  4. https://www.drugs.com/pro/dobutamine.html  [2022,Oct8]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/dobutamine/?type=brief&mtype=generic  [2022,Oct8]
  6. https://www.drugs.com/sfx/dobutamine-side-effects.html  [2022,Oct8]