โซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต (Sodium ferric gluconate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต(Sodium ferric gluconate หรือ Sodium ferric gluconate complex)เป็นสารประกอบเชิงซ้อน ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาบำบัดภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก ปกติร่างกายจะใช้ธาตุเหล็กมาสังเคราะห์เป็นสารประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดงที่เรียกว่าฮีโมโกลบิน และธาตุเหล็กยังเป็นองค์ประกอบในกระบวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรมอย่าง DNA ตลอดถึงการทำงานของเอนไซม์ชนิดต่างๆในร่างกาย กรณีมีธาตุเหล็กในร่างกายน้อยเกินไป จะทำให้กระบวนการชีวเคมีดังกล่าวของร่างกายเสียสมดุลไป ทั้งนี้การที่ร่างกายขาดธาตุเหล็กอาจมีสาเหตุจาก การสูญเสียเลือด การขาดอาหาร การได้รับการผ่าตัดที่ทำให้เกิดการเสียเลือด รวมถึงป่วยเป็นโรคมะเร็ง

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตเป็นยาฉีด โดยต้องหยดยานี้เข้าทางหลอดเลือดดำ ข้อจำกัดหรือข้อห้ามใช้ยานี้คือไม่เหมาะกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตมาก่อน *กรณีแพ้ยาชนิดนี้ ให้สังเกตจากอาการ มีเหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหลัง หายใจขัด/หายใจลำบาก มีเสียงวี๊ซขณะหายใจ เจ็บหน้าอก ไอ เกิดผื่นคัน ตลอดจนมีภาวะความดันโลหิตต่ำ

โดยทั่วไป สูตรตำรับของยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต มักจะผสมสารยับยั้งเชื้อ/สารระงับเชื้อที่ชื่อ Benzyl alcohol ซึ่งสารประกอบ Benzyl alcoholนี้ สามารถก่อให้เกิด ผลข้างเคียงรุนแรงกับผู้ป่วยเด็กจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทางการแพทย์จึงมีข้อห้ามใช้ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตกับทารกที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงทารกที่คลอดก่อนกำหนด

สำหรับข้อปฏิบัติที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบเมื่อได้รับยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต เช่น

  • หลังจากได้รับยานี้ตามที่แพทย์แนะนำแล้วอาการป่วยยังไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง
  • การจะใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจประเมินร่างกายตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

อนึ่ง ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต เป็นยาฉีดที่ต้องอาศัยหัตถการทางการแพทย์มาประกอบการใช้ยานี้อย่างถูกต้อง เราจึงพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ประเทศไทยอาจยังไม่พบเห็นผลิตภัณฑ์นี้ก็จริง แต่ในต่างประเทศจะรู้จักยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตภายใต้ชื่อการค้าว่า “Ferrlecit”

โซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โซเดียมเฟอร์ริกกลูโคเนต

ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก

โซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตคือ ตัวยาที่อยู่ในกระแสเลือดจะเป็นแหล่งสนับสนุนธาตุเหล็กให้ร่างกายสามารถนำไปใช้ในกระบวนการสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นสาร ประกอบสำคัญในการผลิตเม็ดเลือดแดง และจากกระบวนการนี้ จึงทำให้สภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กบรรเทาลง

โซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่มีส่วนประกอบ Sodium ferric glutamate 12.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยมีขนาดบรรจุ 5 มิลลิลิตร/ขวด

โซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

บทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดการใช้ยา/บริหารยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต สำหรับผู้ที่ขาดธาตุเหล็กจากการล้างไตฟอกเลือด เช่น

  • ผู้ใหญ่: หลังการฟอกเลือด ให้เจือจางโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต 125 มิลลิกรัมในสารละลายโซเดียม คลอไรด์ 0.9% แล้วหยดเข้าหลอดเลือดดำโดยใช้ระยะเวลาในการให้ยานาน 1 ชั่วโมงขึ้นไป หรืออาจต้องให้ยาในลักษณะนี้เพิ่มเติมโดยเป็นไปตามที่แพทย์สั่ง
  • เด็กอายุตั้งแต่6ปีขึ้นไป: คำนวณขนาดการให้ยากับเด็กที่ขนาดยา 1.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยเจือจางยานี้ด้วยโซเดียม คลอไรด์ 0.9% จำนวน 25 มิลลิลิตร จากนั้น หยดยาเข้าหลอดเลือดโดยใช้เวลาให้ยานาน 1 ชั่วโมงขึ้นไป
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ห้ามใช้ยานี้

อนึ่ง:

  • ห้ามผสมยาอื่นร่วมกับยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตเพื่อฉีดให้ผู้ป่วยโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ควรมารับการให้ยานี้ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมมารับการฉีดยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต ให้รีบทำการนัดหมายการฉีดยาครั้งใหม่กับ แพทย์ พยาบาล ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

โซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น เกิดภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน มีไข้ ชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องอืด ปากแห้ง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ เช่น รู้สึกกระสับกระส่าย
  • ผลต่อการเกิดมะเร็ง เช่น อาจมีโอกาสก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ถ้าต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
  • ผลต่อผิวหนัง เช่น มีผื่นคัน เหงื่อออกมาก ผิวซีด
  • ผลต่อตา เช่น ม่านตาอักเสบ เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น อาจเกิดภาวะติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
  • ผลต่อระบบเลือด เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดงผิดปกติ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง หัวใจเต้นช้า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • ผลต่อระบบการหายใจ เช่น หายใจลำบาก ไอ ทางเดินหายใจอักเสบ/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ คออักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ เช่น เป็นตะคริว ปวดหลัง ปวดแขน ปวดกล้ามเนื้อ

มีข้อควรระวังการใช้โซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตรและผู้สูงวัย
  • ห้ามใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปีลงมา
  • ระหว่างหยดยานี้เข้าหลอดเลือดดำ หากพบอาการแพ้ยา เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นขึ้นตามตัว ตัวบวม ไอ เกิดไข้ ต้องหยุดการให้ยานี้ทันทีและรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ทันที
  • ระหว่างใช้ยานี้ ระวังการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับการฉีดยานี้ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ฌสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตร่วมกับยา Dimercaprol ด้วยจะเกิดการรวมตัวของยาทั้ง 2 ตัวจนเกิดเป็นสารประกอบที่ก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับไต/ไตอักเสบรุนแรงตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตร่วมกับยา Quinapril เพราะอาจ ทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงจากโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตได้เพิ่มมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตร่วมกับ Vitamin E เพราะจะทำให้ประสิทธิผลในการรักษาโลหิตจางของยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตด้อยลง
  • ห้ามใช้ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตร่วมกับวิตามินรวมที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ ประกอบ เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณธาตุเหล็กสูงเกินไปจนส่งผลเสียต่อ ร่างกายตามมา กรณีต้องใช้ยาร่วมกัน ควรต้องเว้นระยะเวลาห่างจากการใช้ยาโซเดียม เฟอร์ริกกลูโคเนต ครั้งสุดท้ายเป็นเวลา 5 วันขึ้นไป

ควรเก็บรักษาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตอย่างไร?

ควรเก็บยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโซเดียม เฟอร์ริก กลูโคเนต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ferrlecit (เฟอร์เลซิท)Sanofi-Aventis

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Nulecit

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/dosage/ferrlecit.html[2017,Oct21]
  2. https://www.drugs.com/cdi/ferrlecit.html[2017,Oct21]
  3. https://www.drugs.com/pro/ferrlecit.html[2017,Oct21]
  4. http://products.sanofi.ca/en/ferrlecit.pdf[2017,Oct21]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_ferric_gluconate_complex[2017,Oct21]
  6. http://products.sanofi.us/ferrlecit/ferrlecit.html[2017,Oct21]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/sodium-ferric-gluconate-complex,ferrlecit- index.html?filter=3&generic_only= [2017,Oct21]