โซเดียม- กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์ (Sodium-glucose Cotransporter-2 inhibitor)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์(Sodium - glucose Co transporter-2 inhibitor ย่อว่า SGLT2 inhibitor) เป็นกลุ่มยาที่ยับยั้งการทำงานของสารโปรตีนที่ชื่อว่า Sodium - glucose Co transporter 2 ย่อว่า SGLT 2 ที่มีหน้าที่ดูดน้ำตาลจากบริเวณไตกลับเข้าสู่กระแสเลือด และยานี้ไม่มีผลกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน ทางคลินิก นำกลุ่มยา SGLT2 inhibitor มาใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โดยตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า สภาพไตของผู้ป่วยเบาหวานยังต้องอยู่ในสภาพการทำงานเป็นปกติ

ยา SGLT2 inhibitor ยังเป็นที่รู้จักในชื่ออื่นหรือที่เรียกกันว่า “กลุ่มยากลิโฟลซิน (Gliflozin)” ทั้งนี้ อาจแบ่งยากลุ่ม SGLT2 inhibitor ออกเป็นรายการย่อยๆได้ดังนี้ เช่น

  • Dapagliflozin: ถูกพัฒนาขึ้นที่ยุโรปเมื่อปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) สามารถใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวาน/ยาเบาหวานตัวอื่น อย่างเช่น Metformin, Thiazolidinedione, Sulfonylurea, DPP4 inhibitor ยา Dapagliflozin เริ่มจำหน่ายที่อเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) ภายใต้ชื่อการค้าว่า Farxiga
  • Empagliflozin: เป็นยารักษาเบาหวานที่ได้รับการยืนยันว่าลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด มีจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Jardiance
  • Canagliflozin: ยานี้วางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Invokana ยานี้สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งสารโปรตีนทั้งชนิด SGLT1 (สารที่ดูดน้ำตาลเข้ากระแสเลือดจากลำไส้เล็ก)และ SGLT2 (สารที่ดูดน้ำตาลกลับเข้ากระแสเลือดจากไต)
  • Ipragliflozin: ผลิตโดยบริษัทยาญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า Astellas Pharma ได้รับการขึ้นทะเบียนยาเมื่อปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) และจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Suglat
  • Tofogliflozin: ได้รับการขึ้นทะเบียนยาในประเทศญี่ปุ่นภายใต้ชื่อการค้า Apleway และ Deberza จัดจำหน่ายโดยบริษัทยา Sanofi and Takeda Pharmaceutical
  • Sergliflozin etabonate: ถูกยับยั้งการผลิตในระหว่างการทำวิจัยจากผลข้างเคียงที่ยอมรับไม่ได้ จึงไม่พบเห็นผลิตภัณฑ์ของยานี้
  • Remogliflozin etabonate: อยู่ในระหว่างการทำวิจัย
  • Ertugliflozin: อยู่ในระหว่างการทำวิจัย

รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่มีจำหน่ายของยา SGLT2 inhibitor ล้วนแต่เป็นยาชนิดรับประทานทั้งสิ้น การใช้ยากลุ่มนี้อย่างถูกต้องตามคำสั่งแพทย์ มักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาของอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)แต่อย่างใด

กลุ่มยา SGLT inhibitor จัดเป็นยารักษาโรคเบาหวานรุ่นใหม่ ตัวยาบาง รายการก็มีใช้ในประเทศไทย(อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ หัวข้อ SGLT inhibitorมีชื่ออื่นอีกไหม?)แต่ถูกระบุให้เป็นยาควบคุมพิเศษ การจะใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมนั้น จำเป็นต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โซเดียมกลูโคสโคทรานสปอร์เตอร์2อินฮิบิเตอร์

ยาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์/ SGLT2 inhibitor มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยา SGLT2 inhibitor มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดคืนกลับของน้ำตาลที่บริเวณไต (โดยไม่มีผลกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินของตับอ่อน) ส่งผลลดระดับน้ำตาลในเลือด จากกลไกดังกล่าว ทำให้เกิดฤทธิ์รักษาได้ตามสรรพคุณ

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์/ SGLT2 inhibitor มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ด ชนิดรับประทาน

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์ มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการรับประทานยา SGLT2 inhibitor ให้เป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ตามแต่ชนิดย่อยของยา ความรุนแรงของอาการผู้ป่วย และยาอื่นๆที่ผู้ป่วยบริโภคอยู่ ดังนั้น บทความนี้จึงขอไม่กล่าวถึงขนาดการใช้ยานี้

หมายเหตุ:

  • ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นเด็ก
  • ไม่ต้องปรับขนาดรับประทานในผู้สูงอายุ
  • ยานี้ควรรับประทานก่อนอาหาร หรือพร้อมกับคำแรกของอาหาร

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา SGLT2 inhibitor ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยา SGLT2 inhibitor อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา SGLT2 inhibitor สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยา SGLT2 inhibitor ตรงเวลา

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์/ SGLT2 inhibitor สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ระดับเกลือแมกนีเซียมในเลือดสูง เกลือฟอสฟอรัส/ฟอสเฟตในเลือดสูง เกิดภาวะเลือดเป็นกรด
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก กระหายน้ำ คลื่นไส้ ปวดท้อง ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อกระดูก: เช่น กระดูกหักง่าย
  • ผลต่อไต: เกิดไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น แพ้แสงแดดง่าย/ผื่นแพ้แสงแดด ลมพิษ ผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์ อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์/ SGLT2 inhibitor เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยานี้ แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกลุ่มยา SGLT2 inhibitor ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์/ SGLT2 Inhibitor มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา SGLT2 Inhibitor ร่วมกับยาอินซูลิน อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยา Dapagliflozin ร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง กรณีที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยบางรายอาจช็อกหมดสติจนถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Empagliflozin ร่วมกับยา Hydrocortisone สามารถส่งผลทำให้ประสิทธิภาพของการลดน้ำตาลในกระแสเลือดของยา Empagliflozin ด้อยประสิทธิภาพลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้กับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยา Canagliflozin ร่วมกับยา Indinavir สามารถส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการลดน้ำตาลในกระแสเลือดของย่ Canagliflozin ด้อยลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์อย่างไร

ควรเก็บรักษายาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์/ SGLT2 inhibitor ในช่วงอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และ ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์ มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์/ SGLT2 inhibitor ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิน/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Forxiga (ฟอร์ซิกา)AstraZeneca
Jardiance (จาร์เดียน)Boehringer Ingelheim
Apleway (เอเพิลเวย์)Gan & Sanofi and Takeda Pharmaceutical
Deberza (เดเบอซา)Sanofi and Takeda Pharmaceutical
Invokana (อินโวคานา)Tanabe Pharma Corporation
Suglat (ซูแกลท)Astellas Pharma Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Gliflozin [2016,Oct8]
  2. http://www.diabetes.co.uk/diabetes-medication/sglt2-inhibitors.htm [2016,Oct8]
  3. http://www.diabetesincontrol.com/sglt2-inhibitors-a-new-class-of-diabetes-medications/ [2016,Oct8]
  4. http://www.fda.gov/Drugs/DrugSafety/PostmarketDrugSafetyInformationforPatientsandProviders/ucm446852.html [2016,Oct8]
  5. https://www.invokana.com/ [2016,Oct8]
  6. https://www.astellas.com/en/corporate/news/pdf/140417_1_Eg.pdf [2016,Oct8]
  7. http://www.medscape.com/viewarticle/819447 [2016,Oct8]
  8. http://www.mims.com/thailand/drug/info/forxiga/?type=brief [2016,Oct8]