โซเดียม - กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์ (Sodium - glucose Cotransporter inhibitor)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์ (Sodiumglucose cotransporter inhibitors ย่อว่า SGLT inhibitor) คือ ยากลุ่มที่นำมารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2, โดยมีรูปแบบเป็นยารับประทาน

คำว่าโซเดียม- กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ (SGLT) เป็นกลุ่มสารโปรตีนที่ช่วยให้ร่างกายดูดน้ำตาลในลำไส้เล็กและที่ไตกลับเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ SGLT1 และ SGLT2 ซึ่งพบที่ลำไส้เล็กและที่ไต 

หากเปรียบเทียบการดูดกลับน้ำตาลจากไตโดย SGLT1 จะมีเพียง 10% เมื่อเทียบกับการดูดกลับน้ำตาลจากไตของ SGLT2 ที่สูงถึง 90%    

ยากลุ่ม SGLT inhibitor จะมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการดูดคืนกลับของน้ำตาลที่ลำไส้เล็กและที่ไตนั่นเอง ยากลุ่มนี้จะไม่มีผลกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน แต่กลับมีผลต่อวัยวะที่คอยดูดน้ำตาลเข้ากระแสเลือดเท่านั้น    

กลุ่มยา SGLT inhibitor  ถูกแบ่งเป็น SGLT1 inhibitor และ SGLT2 inhibitor แต่จะพบว่า SGLT2 inhibitor จะได้รับความนิยมในการนำมาใช้ทางคลินิกมากว่า  ตัวอย่างของยากลุ่ม SGLT2 inhibitor เช่น Dapagliflozin,  Canagliflozin,  Empagliflozin, และ Gliflozin   ส่วนยาในกลุ่ม SGLT1 inhibitor เช่น Sotagliflozin

การใช้ยากลุ่ม SGLT inhibitor  อย่างถูกต้องตามคำสั่งแพทย์ มักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)  แต่ก็มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยบางประการ เช่น  

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้  
  • เป็นผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง  

กลุ่มยา SGLT inhibitor จัดเป็นยารักษาโรคเบาหวานรุ่นใหม่  มีใช้ในประเทศไทยแต่ถูกระบุให้เป็นยาควบคุมพิเศษ  การจะเลือกใช้ยานี้มารักษาผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมนั้น จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์(SGLT inhibitor) มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: 

  • รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม SGLT inhibitor คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดคืนกลับของน้ำตาลที่บริเวณไตและลำไส้เล็ก โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินในตับอ่อน  ส่งผลลดระดับน้ำตาลของกระแสเลือดจนเป็นเหตุให้เกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์/ SGLT inhibitor มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์ มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการรับประทานยา SGLT inhibitor ให้เป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น, และยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น, โดยยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*อนึ่ง:  ไม่ต้องปรับขนาดรับประทานยานี้ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยด้วย โรคตับ  โรคไต

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา SGLT inhibitor ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยา SGLT inhibitor อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ใน ภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทาง น้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้                                    

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา SGLT inhibitor สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยา SGLT inhibitor ตรงเวลา

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์/SGLT inhibitor สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อร่างกาย เช่น  

  • เกิดการติดเชื้อในระบบสืบพันธ์ เช่น ช่องคลอดอักเสบ
  • ปวดหลัง
  • ปัสสาวะบ่อย 
  • ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ

มีข้อควรระวังการใช้โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์ อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์/ SGLT inhibitor เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยากับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์  สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์ตามนัด ทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกลุ่มยา SGLT inhibitor) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์/ SGLT Inhibitor มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ SGLT Inhibitor ร่วมกับ ยาอินซูลิน อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน                                                      
  • ห้ามใช้ยา Dapagliflozin ร่วมกับ ยา Gatifloxacin ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง  กรณีที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยบางรายอาจช็อกหมดสติจนถึงขั้นเสียชีวิต  ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Empagliflozin ร่วมกับ ยา Hydrocortisone สามารถส่งผลทำให้ประสิทธิภาพของการลดน้ำตาลในกระแสเลือดของยา Empagliflozin ด้อยประสิทธิภาพลงไป  หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน   แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้กับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์อย่างไร

ควรเก็บยา SGLT inhibitor: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์ มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยา SGLT inhibitor มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Forxiga (ฟอร์ซิกา) AstraZeneca
Jardiance (จาร์เดียน) Boehringer Ingelheim

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium-glucose_transport_proteins    [2023,April 22]
  2. https://www.diabetesincontrol.com/first-in-class-sglt1-inhibitor-positive-results/   [2023,April 22]
  3. https://www.healthline.com/health/diabetes/medications-list#Type2diabetes3   [2023,April 22]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/SGLT2_inhibitor   [2023,April 22]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/forxiga/?type=brief   [2023,April 22]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/dapagliflozin-index.html?filter=3&generic_only= [2023,April 22]