แอสเทมมีโซล (Astemizole)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

แอสเทมมีโซล (Astemizole) คือ ยาแก้แพ้/ ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine drug) ใช้ป้องกันรักษาการแพ้ต่างๆ เช่น  จาม  คัดจมูก คันตา และอาการแพ้ต่างๆทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ ผื่นคัน มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน

ยาแอสเทมมีโซล เป็นสารประเภท H1-receptor antagonist  เป็นยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 2 ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับยา Terfenadine และ Haloperidol,  มีการออกฤทธิ์ได้นานและออกฤทธิ์ได้กับหลายอวัยวะของร่างกาย เช่น กระเพาะอาหาร-ลำไส้ มดลูก หลอดเลือด กล้ามเนื้อของผนังหลอดลม, แต่ไม่สามารถซึมผ่านเข้าสมองได้ จึงไม่ก่อให้เกิดอาการง่วงนอน   

บริษัทเจนเซน (Jensen’s pharmacy) เป็นผู้พัฒนายานี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) ชื่อการค้าที่รู้จักกันในต่างประเทศคือ “Hismanal” แต่มีการเพิกถอนการใช้ยาในหลายประเทศด้วยอาการข้างเคียงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้  เป็นยาชนิดรับประทาน ด้วยมีการดูดซึมจากระบบทาง เดินอาหารได้ดี, เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะถูกส่งไปที่ตับเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี,  ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระ

อย่างไรก็ตาม ยานี้เป็นยาอันตราย การใช้ยาอันตรายต่างๆได้อย่างปลอดภัยควรต้องเป็น ไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ผู้บริโภคไม่ควรไปซื้อหายามารับประทานเองโดยเด็ดขาด

แอสเทมมีโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แอสเทมมีโซล-01

ยาแอสเทมมีโซลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้รักษาและบรรเทา อาการแพ้ ผื่นคัน ลมพิษ รวมถึงอาการคัดจมูก แต่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเรื่องทำให้ง่วงนอน

แอสเทมมีโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแอสเทมมีโซลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับที่มีชื่อว่า H1-receptor ซึ่งพบตามกระเพาะอาหาร-ลำไส้ มดลูก หลอดเลือดทั่วร่างกาย รวมถึงกล้ามเนื้อของหลอดลม ส่งผลให้ลดอาการบวม อาการผื่นคันต่างๆ ที่มีสาเหตุจากสาร ฮิสตามีน/Histamine

แอสเทมมีโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอสเทมมีโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

แอสเทมมีโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแอสเทมมีโซลมีขนาดรับประทาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 มิลลิกรัม/วัน โดยรับประทานก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลัง อาหาร 2 ชั่วโมง, ควรรับประทานยากับน้ำธรรมดา ไม่ควรรับประทานร่วมกับน้ำผลไม้ เช่น Grape fruit juice ด้วยจะทำให้ตัวยาแอสเทมมิโซลมีระดับในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น จนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ติดตามมา
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) : เนื่องจากยานี้อาจมีผลข้างเคียงที่อาจก่ออันตรายต่อการทำงานของหัวใจได้ การใช้ยานี้ในเด็กจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแอสเทมมีโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น       

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น และ/หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอสเทมมีโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแอสเทมมีโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แอสเทมมีโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแอสเทมมีโซลอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง): เช่น

  • วิงเวียน
  • ปวดหัว
  • หงุดหงิด
  • คลื่นไส้
  • ท้องเสีย
  • รู้สึกไม่สบายท้อง
  • ปากคอแห้ง
  • ผิวแห้ง
  • มีผื่นคัน

*อนึ่ง:

  • *ผลข้างเคียงของยานี้ที่รุนแรง เช่น มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • *อาการจากแพ้ยานี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก, ใบหน้า-ปาก-ลิ้น มีอาการบวม

*หากพบอาการดังกล่าว  ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้แอสเทมมีโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแอสเทมมีโซล: เช่น   

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้และแพ้ยาในกลุ่ม H1-receptor antagonist
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานเอง
  • ห้ามการใช้ยานี้ร่วมกับ ยาต้านเชื้อรา และ ยาปฏิชีวนะ เช่น Itraconazole, Erythromycin, Clarithromycin
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหืด โรคปอด ผู้ที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยด้วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้  "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอสเทมมิโซลด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แอสเทมมีโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอสเทมมีโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น    

  • การใช้ยาแอสเทมมีโซล ร่วมกับยา Amiodarone, Azithromycin, Citalopram,  Cisapride, อาจทำให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อป้องกันอาการดังกล่าว จึงไม่ควรนำยาเหล่านี้มาใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยาแอสเทมมีโซล ร่วมกับยา Magnesium hydroxide อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาแอสเทมมีโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาแอสเทมมีโซล: เช่น

  • เก็บยาภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือ ในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แอสเทมมีโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอสเทมมีโซล  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Hismanal (ฮีสมานอล) Ethnor

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Astemizole   [2022,Sept10]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/astemizole?mtype=generic  [2022,Sept10]
  3. http://www.druglib.com/activeingredient/astemizole/  [2022,Sept10]
  4. https://www.drugs.com/sfx/astemizole-side-effects.html  [2022,Sept10]
  5. https://tajpharma.com/astemizole-generics-taj-pharmaceuticals.htm  [2022,Sept10]