แอมปิซิลลิน (Ampicillin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาแอมปิซิลลิน (Ampicillin) คือ ยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มยาเพนนิซิลลิน(Penicillins) เป็นยาที่ใช้กันมานานมากกว่า 90 ปี มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด เช่น กลุ่มสแตปฟีโลคอคไค (Staphylococci), สเตปโตคอคไค (Steptococci), เอช อินฟลูเอนซา(H. Influenza), โคลิฟอร์ม (Coliforms), และโปรเตียส (Proteus )

ยาแอมปิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แอมปิซิลลิน

ยาแอมปิซิลลินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยาในกลุ่มเพนิซิลลิน เช่น โรคติดเชื้อ ของ
    • ระบบทางเดินปัสสาวะ
    • หู
    • ปอด
    • กระเพาะอาหารอาหาร และลำไส้
    • ถุงน้ำดีและระบบทางเดินน้ำดี

ยาแอมปิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแอมปิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์ ทำลายผนังเซลล์(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ของแบคทีเรียที่ก่อโรค เมื่อผนังเซลล์ถูกทำลาย แบคทีเรียจึงไม่สามารถขยายหรือแพร่พันธุ์ได้

ยาแอมปิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอมปิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายได้หลากหลาย เช่น

  • แคปซูล ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม
  • ยาผงละลายน้ำ ขนาด 125 มิลลิกรัมใน 1 ช้อนชา
  • ยาฉีด ขนาด 1 กรัม, 500 และ 250 มิลลิกรัม

ยาแอมปิซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแอมปิซิลลินจัดเป็นยาอันตราย ถ้าใช้ผิดวิธีผิดขนาดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ที่สำคัญห้ามซื้อยากินเอง ควรต้องปรึกษาแพทย์และให้แพทย์เป็นผู้รักษา หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยากินเองเสมอ จะปลอดภัยมากกว่า

ยาแอมปิซิลลิน ไม่สามารถทนกับกรดในกระเพาะอาหารได้ดีนัก จึงต้องกินยาก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง นอกจากนั้น การใช้ยาในเด็กต้องคำนวณจากอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก และยาผงละลายน้ำที่ใช้กับเด็กหลังผสมยากับน้ำสะอาดแล้ว ต้องเก็บในตู้เย็น แต่ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาแอมปิซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด และอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอมปิซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะมียาหลายตัวสามารถผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้ เช่น ความพิการแต่กำเนิด

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาที่รวมถึงยาแอมปิซิลลิน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาแอมปิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ของยาแอมปิซิลลินที่อาจพบได้ เช่น

  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ลมพิษ
  • ผื่นผิวหนังอักเสบ
  • ผื่นคัน
  • ในรายที่มีการแพ้ยารุนแรงมาก อาจเกิดภาวะช็อกถึงขั้นตายได้

มีข้อควรระวังหรือข้อห้ามการใช้ยาแอมปิซิลลินอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาแอมปิซิลลินที่สำคัญ คือ

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีการแพ้ยาแอมปิซิลลินและยาในกลุ่มเพนิซิลลินทุกตัว
  • นอกจากนั้นคือ
    • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
    • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
    • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิดที่รวมยาแอมปิซิลลินด้วย ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาแอมปิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอมปิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • เมื่อใช้ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดจะลดประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด จึงอาจตั้งครรภ์ได้ ตัวอย่างยาเม็ดคุมกำเนิด เช่น ไดเนสตรอล (Dienestrol), ไดอีธิลสติลเบสทรอล (Diethylstilboestrol), และสติลเบสทรอล (Stilboestrol)
  • การใช้ร่วมกับยาโรคเกาต์อาจก่อให้เกิดผื่นคันตามร่างกาย และอาจลุกลามถึงขั้นรุนแรง ตัวอย่างยาโรคเกาต์ เช่นยา อัลโลพูรินอล (Allopurinol)

ควรเก็บรักษายาแอมปิซิลลินอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาแอมปิซิลลินทุกรูปแบบบรรจุ: เช่น

  • เก็บยาในที่แห้ง ระวังความชื้น เก็บในที่ที่พ้นแสง/แสงแดด อุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ยาผงสำหรับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ที่ละลายน้ำแล้ว จะต้องเก็บในตู้เย็นเพื่อชะลอความเสื่อมของยา แต่ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง
  • เก็บยาให้พ้นจากมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง

ยาแอมปิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่ออื่นของยาแอมปิซิลลิน และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Ambacitam (แอมบาซิแทม)Vitrofarma SA
Amicilin (อะมิซิลิน)Inpac Pharma
Ampcoxin (แอมโคซิน)T Man Pharma
Ampi Frx (แอมปิ)The United Drug ( 1996)
Ampi T Man Pharma (แอมปิ)T Man Pharma
Ampi – Oral 500 (แอมปิห้าร้อย)Utopian
Ampicillin (แอมปิซิลลิน)Community Pharm PCL
Ampicillin (แอมปิซิลลิน)General Drugs House
Ampicillin T.O. (แอมปิซิลลิน)T.O. Chemicals
Ampicyn (แอมปิซิน)Siam Blach
Ampicillin (แอมปิซิลลิน)The Forty-Two
Ampilin 500 (แอมปิลินห้าร้อย)Utopian
Ampillin (แอมปิลลิน)P P Lab
Ampimycin (แอมปิมัยซิน)Acdhon
Ampimycin DropsAcdhon
Ampimycin MixtureAcdhon
Ampitam (แอมปิทาม)Great Eastern
Amprexy (แอมเพรซี)Unison
Sulam (ซูแลม)Siam Bheasach
Sulbaccin (ซัลแบคซิน)MacroPhar
Unasyn (ยูนาซิน)Pfizer
Utocillin (ยูโทซิลลิน)Utopian
Viccillin (วิคซิลลิน)Meiji
Viccillin – SMeiji

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Antibiotic [2021,Aug28]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/ampicillin%20general%20drugs%20house [2021,Aug28]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/ampicillin%20t-o- [2021,Aug28]
  4. https://www.drugs.com/mtm/ampicillin.html [2021,Aug28]