แอนทราลิน (Anthralin or Dithranol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแอนทราลิน (Anthralin) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ไดทรานอล (Dithranol) เป็นยาที่นำมารักษาอาการโรคสะเก็ดเงิน โดยต้องใช้ยานี้รักษาป็นเวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งตัวยานี้จะทำหน้าที่กดการแบ่งเซลล์ของผิวหนังส่วนที่เกิดอาการโรค จึงช่วยชะลอการลุกลามของโรคได้ ยานี้มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาทาภายนอก ขนาดความเข้มข้น 0.1% - 1%

หากเปรียบเทียบผลการรักษาโรคสะเก็ดเงินระหว่างการใช้ยาแอนทราลินทาผิวกับยากลุ่ม Glucocorticoid จะพบว่า ยาแอนทราลินมีข้อได้เปรียบคือ ไม่ก่อให้เกิดภาวะถอนยาเหมือนกับยา Glucocorticoid

ยาทาผิวแอนทราลินอาจทำให้ผิวหนังที่สัมผัสยามีสีเหลืองออกน้ำตาลสักระยะหนึ่ง และถ้าเปื้อนเสื้อผ้า อาจจะล้างออกยากและเป็นคราบติดทนนาน ทั้งนี้ อาจป้องกันการเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าด้วยการปิดบริเวณที่ทายาด้วยผ้าพันแผลอีกหนึ่งชั้น นอกจากนี้ตัวยานี้ ยังสามารถทำให้มีอาการแสบคันผิวหนังส่วนที่สัมผัสยานี้ได้ ผู้ป่วยจึงต้องใช้ยานี้แค่พอประมาณที่เพียงพอต่อการรักษา แต่ห้ามทายามากเกินความจำเป็น

ยาแอนทราลิน มีข้อจำกัดการใช้บางประการที่ผู้บริโภคควรทราบ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้กับผิวหนังที่เป็นแผลเปิด หรือแผลมีลักษณะปริแตก
  • จำกัดการใช้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การที่จะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ยานี้ใช้สำหรับภายนอกเท่านั้น ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ ตา จมูก และปากและก่อนการทายานี้ ควรล้างผิวหนังที่เกิดสะเก็ดเงินให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นให้ทายานี้เพียงบางๆ และล้างทำความสะอาดมือก่อนและหลังทายานี้ทุกครั้ง

ยาแอนทราลินมีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยมาก แต่จะยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง โดยมีกลไกต่อสารพันธุกรรมที่บริเวณผิวหนังที่สัมผัสยา หากใช้ไม่ถูกวิธี ยานี้อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังผู้บริโภค/ผู้ป่วยได้ เช่น เกิดผื่นแพ้แสงแดด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของการใช้ยานี้ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาสูงสุด ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

แอนทราลินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แอนทราลิน

ยาแอนทราลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อรักษาอาการโรคสะเก็ดเงินที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลันและในระยะเรื้อรัง(Subacute and chronic psoriasis)

แอนทราลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแอนทราลินมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการสร้างเซลล์ผิวหนังบริเวณที่เกิดรอยโรค จากการที่ตัวยาจะทำให้สารพันธุกรรมในเซลล์ผิวหนังที่เกิดโรค หยุดการจำลอง/การแบ่งตัว จึงส่งผลทำให้ผิวหนังหยุดการผลิตเซลล์ผิวที่เกิดโรคขึ้นมาใหม่ จากกลไกที่กล่าวมา จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

แอนทราลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอนทราลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาครีม และยาขี้ผึ้ง ขนาดความเข้มข้น 0.1%, 0.5%, และ 1% (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม)

แอนทราลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาแอนทราลิน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ทายาบริเวณผิวหนังที่มีอาการสะเก็ดเงินเพียงบางๆ ทิ้งระยะเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วล้างยาออกให้สะอาด บางกรณีแพทย์อาจให้ทายานี้ แล้วทิ้งไว้ข้ามคืน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
  • เด็ก: ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิคที่ชัดเจนในขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง:

  • แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้เลือก ขนาด ความเข้มข้น และความถี่ ของการใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วยแต่ละกรณีๆ
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังทายานี้ทุกครั้ง
  • หากอาการไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแอนทราลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอนทราลิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาแอนทราลิน สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ให้ทายาในขนาดตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แอนทราลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแอนทราลินอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น ทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสยานี้มีสีเหลืองออกน้ำตาล ซึ่งจะหายไปเองเมื่อหยุดใช้ยานี้ นอกจากนี้อาจพบอาการ แสบ ระคายเคือง ผิวหนังส่วนที่สัมผัสยานี้ได้เช่นกัน

มีข้อควรระวังการใช้แอนทราลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแอนทราลิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามทายานี้บริเวณ ตา ปาก ใบหน้า
  • ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการทายานี้ หรือใช้ยานี้ เป็นระยะเวลานานเกินกว่าคำสั่งแพทย์
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอนทราลินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้อง ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แอนทราลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอนทราลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ยาแอนทราลินอาจเพิ่มผลข้างเคียงต่อผิวหนัง เมื่อใช้ร่วมกับยาที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้แสงแดด เช่นยา Doxycycline, Tetracycline, Trimethoprim
  • การใช้ยาแอนทราลินทา ร่วมกับยาทาผิวชนิดอื่นๆที่มีส่วนประกอบของสาร Propylene glycol (สารเคมีชนิดหนึ่ง ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในยาหรือในอาหารเพื่อเป็นสารกันบูด/Preservatives) สามารถลดประสิทธิภาพการรักษาของยาแอนทราลินลงได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการทายาดังกล่าวร่วมกัน
  • ยาแอนทราลินเป็นยาชนิดทาเฉพาะที่ภายนอก ซึ่งต้องใช้ในระยะเวลาที่แพทย์สั่ง และยังไม่พบรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยารับประทานชนิดใด เมื่อใช้ในขนาดและในระยะเวลาที่แพทย์สั่ง

ควรเก็บรักษาแอนทราลินอย่างไร?

สามารถเก็บยาแอนทราลินในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยานี้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

แอนทราลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอนทราลิน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Zithranol-RR (ซิทรานอล-อาร์อาร์) Elorac, Inc.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่นยา Drithocreme, Dithrocream, Micanol, Psorlin, Dritho-Scalp, Anthraforte, Anthranol, Anthrascalp

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dithranol [2016,Sept10]
  2. https://www.drugs.com/sfx/anthralin-topical-side-effects.html [2016,Sept10]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/dithranol/?type=brief&mtype=generic [2016,Sept10]
  4. https://www.drugs.com/ingredient/anthralin.html [2016,Sept10]