แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Angiotensin II receptor antagonist)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (*Angiotensin II receptor antago nist) หรืออาจเรียกอีกในชื่ออื่นๆว่า

  • ยาแอนจิโอเทนซิน รีเซพเตอร์ บล็อกเกอร์ (Angiotensin receptor blockers, ARBs)
  • ยาเอที1- รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (AT1-receptor antagonists ที่เป็นตัวย่อของ Angiotensin II receptor type1 antagonists) หรือ
  • ยาซาร์แทน (Sartans)

ยาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ เป็นกลุ่มยาที่นำมารักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตบางประเภทของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor) ที่เรียกว่า Angiotensin II receptor type1 ย่อว่า AT1 receptors ส่งผลให้เกิดการขยายหลอดเลือดแดงทำให้ความดันโลหิตลดลง

อนึ่ง *Angiotensin เป็นฮอร์โมนที่มาจากตับที่ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหดตัว แบ่งได้เป็น 4 ตัวหลักคือ Angiotensin I, Angiotensin II, Angiotensin III, Angiotensin IV

ยาในกลุ่มนี้ยังแบ่งออกเป็นรายการย่อยๆตามโครงสร้างทางเคมีดังนี้

  • Losartan: เป็นยาตัวแรกของกลุ่มที่ถูกวางจำหน่าย ถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร จึงมีรูปแบบเป็นยารับประทานสามารถใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thia zide) ขณะใช้ยานี้ต้องระวังภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง
  • Telmisartan: มีรูปแบบเป็นยารับประทานใช้เพียงวันละครั้ง มีผลข้างเคียงที่ทำให้รู้สึกวิงเวียน
  • Irbesartan: เป็นยาชนิดรับประทาน นอกจากจะนำมาลดความดันโลหิตแล้วยังนำมาใช้ชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคเบาหวานอีกด้วย สามารถใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide) ได้เช่นเดียวกัน
  • Azilsartan: เป็นยาที่พัฒนาโดยบริษัทยาชื่อ Takeda มีรูปแบบเป็นยารับประทาน ไม่ควรใช้ร่วมกับยา Aliskiren (ยาลดความดันโลหิตอีกชนิด) ด้วยจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงสูงมาก
  • Olmesartan: เป็นยารับประทาน ต้องระวังการใช้กับผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงที่ไตตีบ และอาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจโต
  • Valsartan: มีรูปแบบเป็นยารับประทาน นอกจากจะใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงแล้วยังนำไปใช้บำบัดอาการหัวใจล้มเหลวอีกด้วย แต่ไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยโรคไต
  • Candesartan: เป็นยารับประทาน สามารถใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide) โดยใช้ในปริมาณต่ำๆ
  • Eprosartan: ทางคลินิกเคยนำไปเปรียบเทียบกับยา Enalapril พบว่าให้ผลการรักษาที่เหนือกว่า

จากการศึกษาเรื่องเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetics, การกระจายตัวของยาเมื่อเข้าสู่ร่างกาย) ของยากลุ่มนี้พบว่า ตัวยาถูกดูดซึมได้ระดับปานกลางจากระบบทางเดินอาหาร และสามารถจับกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดได้สูง ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 5 - 24 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยากลุ่มนี้ออกจากร่างกายเป็นปริมาณครึ่งหนึ่งโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุบางรายการของยากลุ่มนี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่น Losartan และจัดยากลุ่มนี้อยู่ในหมวดยาอันตราย

การใช้ยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มักต้องใช้ต่อเนื่อง และอาจมีการปรับเปลี่ยนขนาดการรับประทานหรือปรับเปลี่ยนตัวยาเพื่อความเหมาะสมกับร่างกายผู้ป่วย ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่สามารถปรับขนาดรับประทานหรือปรับเปลี่ยนชนิดยาได้ ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยาหรือชนิดยาด้วยตนเอง

แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แอนจิโอเทนซิน

ยาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือจะใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับโครงสร้างทางเคมีของยารวมถึงการตอบสนองของผู้ป่วย
  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว/หัวใจวาย
  • รักษาโรคไตในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กับตัวรับที่อยู่ในผนังหลอดเลือดแดงซึ่งถูกเรียกว่า AT1 receptor (Angiotensin II receptor type1) จึงมีผลทำให้สาร Angiotensin II ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวได้ หลอดเลือดแดงจึงคลายตัว นอกจากนี้ยังส่งผลลดการหลั่งสาร Aldosterone (ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตที่ช่วยควบคุมความดันโลหิต) และ Vasopressin (ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่ช่วยควบคุมความดันโลหิตเช่นกัน) จากกลไกทั้งหมดจึงทำให้ตัวยามีฤทธิ์ควบคุมความดันโลหิตตามสรรพคุณ

แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานทั้งชนิดยาเดี่ยวและยาผสมร่วมกับยาอื่น

แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีขนาดรับประทานอย่างไร?

เนื่องจากยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีหลายรายการ ความเหมาะสมของตัวยากับกลุ่มโรคจึงมีความแตกต่างกันออกไป และยังมีข้อห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงของไตตีบแข็ง จึงต้องมีการปรับขนาดการรับประทานเป็นกรณีๆไป การใช้ยากลุ่มนี้จึงขึ้นกับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาเท่านั้นที่จะสามารถบริหารยา/ใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ผู้ ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ให้ตรงเวลา หากลืมรับประทานยาในกลุ่มนี้สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ มีระดับเกลือโพแทสเซียมในร่างกายสูงผิดปกติ ผื่นคัน ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย เป็นตะคริว ปวดหลัง มีความดันโลหิตต่ำ ตับทำงานผิดปกติ นอนไม่หลับ คัดจมูก การใช้ยากลุ่มนี้อาจมีความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน

มีข้อควรระวังการใช้แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อย่างไร?

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
  • ห้ามใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยโรคไตชนิดหลอดเลือดแดงไตตีบ (Renal artery stenosis)
  • ห้ามใช้ร่วมกับยา Aliskiren ในผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับเด็กและผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยด้วยไตทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาที่มีเกลือโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบเช่น ยา Potassium chloride
  • หากพบอาการท้องเสียเรื้อรังหรือน้ำหนักตัวลดระหว่างใช้ยากลุ่มนี้ ควรกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา
  • การใช้ยากลุ่มนี้ทุกตัวมีระยะเวลาของการรักษา หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยากลุ่มนี้ควรกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลอีกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยา Olmesartan ร่วมกับยาที่มีเกลือโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบสามารถทำให้เกิดระดับเกลือโพแทสเซียมของร่างกายสูงขึ้น ผู้ป่วยจึงต้องคอยควบคุมมิให้เกิดภาวะขาดน้ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ Losartan ร่วมกับ Aliskiren จะทำให้ระดับเกลือโพแทสเซียมในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้ไตทำงานหนักโดยเฉพาะผู้สูงอายุ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ Valsartan ร่วมกับยา Salicylamide (ยาแก้ปวด) จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตเพิ่มสูงมากขึ้นและส่งผลให้ไตทำงานหนัก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • การใช้ Azilsartan ร่วมกับยา Hydrocodone จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ อาจพบอาการปวดศีรษะ วิงเวียนคล้ายจะเป็นลมตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อย่างไร?

ควรเก็บยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ในช่วงอุณหภูมิ 2 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Normetec (นอร์มีเทค) Pfizer
Olmetec (โอล์มีเทค) Pfizer
Olmetec Plus (โอล์มีเทค พลัส) Pfizer
Cozaar (โคซา) MSD
Favotan (ฟาโวแทน) Hanmi Pharm
Fortzaar (ฟอร์ทซา) MSD
Hyzaar (ไฮซา) MSD
Lanzaar 50 (แลนซา 50) Berlin Pharm
Loranta (ลอแรนตา) Siam Bheasach
Losacar 50 (ลอซาแคร์ 50) Zydus Cadila
Lasartan GPO (ลาซาร์แทน จีพีโอ) GPO
Tanzaril (แทนซาริล) Actavis
Tosan (โทแซน) T.O. Chemicals
Co-Diovan (โค-ดิโอแวน) Novartis
Dioforge-160 (ดิโอฟอร์ก-160) Millimed
Diovan (ไดโอแวน) Novartis
Exforge (เอ็กซ์ฟอร์ก) Novartis
Exforge HCT (เอ็กซ์ฟอร์ก เฮชซีที) Novartis
Valatan (วาลาแทน) Actavis

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Angiotensin_II_receptor_antagonist#Adverse_effects [2015,Sept5]
  2. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-pressure/in-depth/angiotensin-ii-receptor-blockers/art-20045009 [2015,Sept5]
  3. http://www.drugs.com/drug-interactions/losartan-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Sept5]
  4. http://www.drugs.com/drug-interactions/acetaminophen-chlorpheniramine-phenylephrine-salicylamide-with-diovan-44-0-2288-1519.html [2015,Sept5]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=losartan [2015,Sept5]
  6. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=valsartan [2015,Sept5]
  7. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1200815/ [2015,Sept5]