แองจิโอเทนซิน (Angiotensin)

บทความที่เกี่ยวข้อง
แองจิโอเทนซิน

แองจิโอเทนซิน(Angiotensin) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิตของร่างกายจากการทำให้หลอดเลือดเกิดการหดตัว แองจิโอเทนซิน แบ่งเป็นชนิดย่อยได้หลายชนิด เช่น Angiotensin I, Angiotensin II, Angiotensin III, และ Angiotensin IV ซึ่งแต่ละชนิดทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดได้มากน้อยต่างกัน และด้วยกลไกที่แตกต่างกันเล็กน้อย

แองจิโอเทนซิน เกิดจากฮอร์โมนต้นกำเนิดที่สร้างจากตับ เรียกว่า Angiotensinogen ซึ่งฮอร์โมนนี้จะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงโดยฮอร์โมนจากไตที่เรียกว่า Renin ให้เป็น Angiotensin I จากนั้นจะมีกระบวนการจากไต และจากปอดเปลี่ยน AngiotensinI ให้เป็น AngiotensinII และร่างกายจะมีกระบวนการเปลี่ยน AngiotensinII ให้ไปเป็น Angiotensin III แต่ยังไม่มีข้อมูลมากนักในการสร้าง Angiotensin IV

บทบาทของแองจิโอเทซินในการควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย เกิดจากการทำให้หลอดเลือดหดตัวซึ่งเกิดขึ้นกับหลอดเลือดในทุกอวัยวะ ร่วมกับการควบคุมระดับเกลือแร่โซเดียมในเลือด ซึ่งกระบวนการควบคุมความดันโลหิตด้วยระบบนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ตับ ไต และต่อมหมวกไต(จากการสร้างฮอร์โมนที่ชื่อ Aldosterone) ซึ่งเป็นกระบวนการควบคุมความดันโลหิตที่เกิดจากฮอร์โมน 3 ตัว คือ แองจิโอเทนซิน, เรนิน, และ Aldosterone และมีชื่อเรียกกระบวนการนี้ว่า “Renin angiotensin system(RAS) หรือ Renin angiotensin aldosterone system (RAAS)”

ปัจจุบัน ทางการแพทย์ได้นำความรู้ในเรื่อง กระบวนการ RAS/ RAAS มาผลิตเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง(ยาลดความดัน) และยาโรคหัวใจ ซึ่งได้แก่ยาในกลุ่มที่เรียกว่า

  • Angiotensin converting enzyme inhibitors ย่อว่า ACE inhibitors หรือ ACEIs และ
  • Angiotensin II receptor blockers ย่อว่า ARBs

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องยาทั้ง2 กลุ่มดังกล่าว ได้ในเว็บ haamor.com

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Angiotensin [2016,Oct15]
  2. http://www.yourhormones.info/Hormones/Angiotensin.aspx [2016,Oct15]