แวปแทน (Vaptans)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแวปแทน (Vaptans) เป็นกลุ่มยาที่สามารถออกฤทธิ์แข่งขันกับฮอร์โมนวาโซเพรสซิน (Vasopressin receptor antagonist)ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลั่งจากต่อมใต้สมอง ตัวยาส่วนมากในกลุ่มแวปแทนได้ถูกนำมารักษาภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ(Hyponatremia) การออกฤทธิ์ของยาแวปแทนจะเกิดขึ้นที่ตัวรับ(Receptor) 3 ชนิด คือ Arginine vasopressin receptor1A (V1A), Arginine vasopressin receptor1B (V1B), และ Arginine vasopressin receptor2 (V2) ตัวรับทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวจะคอยทำหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป โดยตัวรับชนิด V1A และ V2 จะประสานงานกันในกระบวนการควบคุมความดันโลหิตและการทำงานของไตใน ที่เกี่ยวข้องถึงปริมาณโซเดียมในเลือดด้วย ขณะที่ตัวรับV1A และ V1B จะทำงานร่วมกันในสมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของตัวรับ V1A จะแสดงอิทธิพลต่อพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์

ยาในกลุ่มแวปแทนแต่ละตัวมีความสามารถเข้าจับกับตัวรับ V1A, V1B และ V2 ได้แตกต่างกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้นำยาแวปแทนมาทดสอบการรักษาโรคตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) จนกระทั่งปัจจุบัน ทำให้มีการสังเคราะห์ยาในกลุ่มนี้และรอการนำมาใช้อยู่หลายรายการ

ประโยชน์ของยาแวปแทนมีอะไรบ้าง?

แวปแทน

ประโยชน์ของยาแวปแทนเพื่อ ใช้รักษาอาการผู้ป่วยที่มีระดับโซเดียมในเลือดต่ำและมีปริมาณน้ำหรือของเหลวในร่างกายมากกว่าปกติ (Hypervolemic hyponatremia) ยาแวปแทนที่มีข้อบ่งใช้ดังกล่าว เช่น ยาConivaptan , Tolvaptan, และ Mozavaptan

สำหรับการใช้ยาแวปแทนเพื่อรักษาอาการหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว(Heart failure) โรคตับแข็ง ท้องมาน โรคถุงน้ำในไต(Polycystic kidney disease) ตลอดจนกระทั่งโรคเบาจืดแบบ Nephrogenic diabetes insipidus ยังมีเงื่อนไขหลายประการที่แพทย์ต้องนำมาใช้ประกอบเหตุผลว่าเหมาะสมที่จะใช้ยาแวปแทนรักษาผู้ป่วยโรคเหล่านี้หรือไม่ การเลือกใช้ยาแวปแทนได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้ป่วยไปซื้อหายากลุ่มนี้มารับประทานเองโดยเด็ดขาด

ยาแวปแทนมีกี่ชนิด อะไรบ้าง?

สามารถจัดหมวดหมู่/ชนิดของยาแวปแทนตามการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ ดังนี้

1. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ไม่จำเพาะเจาะจง หรือมีการออกฤทธิ์แบบผสมระหว่างตัวรับ V1A กับ V2 เช่น

  • ยาConivaptan ที่เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) เพื่อบำบัดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ปัจจุบันมีการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Vaprisol

2. กลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อ V1A เช่นยา

  • Relcovaptan: ถูกนำมาทดลองรักษาอาการโรค Raynaud’s disease อาการปวดระดู/ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhoea) และใช้เป็นยายับยั้งการหดตัวของมดลูก (Tocolytic) อย่างไรก็ตาม Relcovaptan ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนยาอย่างเป็นทางการ เราจึงไม่พบเห็นยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าใดๆ

3. กลุ่มที่ออกฤทธิ์เจาะจงกับตัวรับ V1B เช่น

  • Nelivaptan: ทางคลินิกได้นำยานี้มาทดลองรักษาอาการวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า แต่เป็นที่น่าเสียดายที่บริษัทยาประกาศหยุดงานวิจัยและพัฒนายานี้เมื่อปี ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551)

4. กลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อ V2 เช่น

  • Lixivaptan: ยานี้ถูกพัฒนาโดยบริษัท Cardiokine Inc. ใช้เป็นยาบำบัดและป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ภายในปี ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) นักวิทยาศาสตร์กำลังนำมาบำบัดอาการของผู้ที่มีระดับโซเดียมในเลือดต่ำ(Hyponatremia) และใช้เป็นยาร่วมในการรักษาโรคหัวใจวาย เมื่อได้ข้อสรุปทางการรักษาและตัวยาLixivaptan เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะพบเห็นการใช้ยานี้ทางคลินิก
  • Mozavaptan: ใช้รักษาภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ยานี้ได้รับการขึ้นทะเบียนและจัดจำหน่ายแต่ในประเทศญี่ปุ่นโดยพบเห็นภายใต้ชื่อการค้าว่า Physuline
  • Satavaptan: ขณะที่มีการทดลองใช้ยานี้รักษาภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ และอาการท้องมาน(Ascites) อาจเป็นด้วยผลทางคลินิกบางอย่างที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หยุดการทดลองและงานวิจัยยานี้ในปี ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552)
  • Tolvaptan: ใช้เป็นยารักษาภาวะโซเดียมในเลือดต่ำที่มีความสัมพันธ์กับภาวะหัวใจล้มเหลวและโรคตับแข็ง รวมถึงกลุ่มอาการของการหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะผิดปกติ (Syndrome of inappropriate antidioretic hormone) ยานี้มี จำหน่ายในประเทศไทยโดยใช้ชื่อการค้าว่า Samsca

แวปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแวปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยารับประทาน เช่นยา Mozavaptan และ Tolvaptan
  • ยาฉีด เช่นยา Conivaptan

ผลข้างเคียงของยากลุ่มแวปแทนมีอะไรบ้าง?

ยากลุ่มแวปแทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีก้อนเลือด/ลิ่มเลือดเกิดในหัวใจ(Intracardiac thrombus) มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย ลำไส้ใหญ่อักเสบ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น เกิดภาวะลิ่มเลือดในปอด/ลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดปอด/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด ระบบการหายใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เบื่ออาหาร มีภาวะขาดน้ำ เกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง เกลือโซเดียมในเลือดสูง กรดยูริคในเลือดสูง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้แวปแทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแวปแทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาแวปแทนกับผู้ที่มีระดับโซเดียมในเลือดต่ำร่วมกับมีปริมาณน้ำหรือ ของเหลวในร่างกายต่ำ (Hypovolemic hyponatremia)
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ นอกจาก มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์ และต้องใช้ยานี้ตรงตามปริมาณที่แพทย์กำหนด
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องมีการตรวจเลือดดูระดับเกลือโซเดียมและเกลืออิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)อื่นๆตามที่แพทย์สั่ง
  • ดื่มน้ำตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำของร่างกาย
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีถ้าพบว่ามีอาการแพ้ยานี้เกิดขึ้นเช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ใบหน้าบวม และต้องรีบพาผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้รับประทานร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ และ
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มแวปแทนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3678699/ [2018,May5]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Vasopressin_receptor_antagonist#Vaptans [2018,May5]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Conivaptan [2018,May5]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Relcovaptan [2018,May5]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Lixivaptan [2018,May5]
  6. https://www.drugs.com/international/physuline.html [2018,May5]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Mozavaptan [2018,May5]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Satavaptan [2018,May5]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Tolvaptan [2018,May5]