แลโลกอย่างไร้สี (ตอนที่ 2)

แลโลกอย่างไร้สี

ตาบอดสีมีหลายระดับและมีอาการหลากหลาย เช่น

  • อาจจะเห็นบางสีและไม่เห็นบางสี เช่น ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีแดงและสีเขียว แต่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีน้ำเงินและสีเหลืองได้เป็นอย่างดี
  • อาจจะเห็นบางสีหลายๆ สี แต่ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีได้
  • อาจจะเห็นสีได้เพียงไม่กี่เฉดสี ในขณะที่คนทั่วไปเห็นได้มากมาย
  • บางกรณี บางคนอาจเห็นเพียงสีดำ สีขาว และสีเทา เท่านั้น

จากการที่จอประสาทตา (Retina) มีเซลล์ประสาทที่อยู่หลังตาทำหน้าที่รับแสงอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

1. เซลล์ Cones – อยู่บริเวณกลางจอประสาทตา ทำหน้าที่ในการเห็นสีและทำงานได้ดีในที่มีแสง

2. เซลล์ Rods – อยู่บริเวณขอบจอประสาทตา ทำหน้าที่ในการเห็นในที่มีแสงน้อยแต่ไม่สามารถเห็นสีได้

ตาบอดสีจึงขึ้นอยู่กับเซลล์ Cones ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิด ที่ทำหน้าที่ในการรับสีที่แตกต่างกันไป ได้แก่ สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน

ตาบอดสีแดง (Protanopia / protanomaly) มีลักษณะที่เซลล์รับแสงจะไม่รับคลื่นแสงที่ยาว (Long wavelengths) อย่างสีแดง ทำให้มองเห็นสีแดงเป็นเหมือนสีน้ำตาลอ่อน (Beiges) เห็นสีเขียวคล้ายสีแดง

ตาบอดสีเขียว (Deuteranopia / deuteranomaly) มีลักษณะที่เซลล์รับแสงจะไม่รับคลื่นแสงปานกลาง (Medium wavelengths) อย่างสีเขียว อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนตาบอดสีเขียวจะมองเห็นสีแดงและสีเขียวไม่เหมือนคนปกติทั่วไป แต่ก็สามารถแยกเฉด 2 สีนี้ได้

ตาบอดสีน้ำเงิน (Tritanopia / tritanomaly) พบได้น้อยที่สุด มีลักษณะที่เซลล์รับแสงจะไม่รับคลื่นแสงที่สั้น (Short wavelengths) อย่างสีน้ำเงิน เป็นตาบอดสีชนิดที่ไม่ค่อยพบ คนที่ตาบอดสีน้ำเงินจะสับสนระหว่างสีน้ำเงินและสีเขียว

ตาบอดสีทั้งหมด (Rod monochromacy / achromacy) พบได้น้อยที่สุด หรือ ประมาณ 1 ใน 33,000 คน เพราะเซลล์ Cones ไม่ทำงาน ดังนั้น เซลล์ Rods จึงรับรู้ได้เพียงความสว่างและความมืด จึงมองไม่เห็นสีเลย เห็นแต่เพียงสีขาว สีดำ และสีเทา

ส่วนตาบอดสีที่พบมากที่สุด คือ ตาบอดสีเขียว-แดง (Red-green deficiencies) แต่ไม่ได้หมายความว่า คนนั้นจะไม่สามารถมองเห็นสีแดงหรือสีเขียว เพียงแต่ต้องใช้เวลามากในการแยกสี โดยจะสับสนในการแยกระหว่างสีแดง-สีเขียว-สีน้ำตาล-สีส้ม นอกจากนี้ยังสับสนระหว่างสีน้ำเงิน-สีม่วง

แหล่งข้อมูล

1. Types of Color-blindness. http://webaim.org/articles/visual/colorblind [2016, June 8].

2. What is color blindness? http://www.webmd.com/eye-health/tc/color-blindness-topic-overview [2016, June 8].

3. Color Blindness. http://www.colourblindawareness.org/colour-blindness/causes-of-colour-blindness [2016, June 8].