แลโลกยามค่ำคืน (ตอนที่ 2)

แลโลกยามค่ำคืน

สำหรับสาเหตุของอาการตาบอดกลางคืน ได้แก่

1. พันธุกรรม (Genetic)

  • Congenital stationary night blindness – เป็นอาการตาบอดกลางคืนที่คงที่มาแต่กำเนิด ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง บางกรณีก็มีภาวะสายตาสั้น (Myopia / short-sightedness) และอาการตากระตุก (Nystagmus) ร่วมด้วย
  • X-linked congenital stationary night blindness – ในกรณีที่เป็นผู้ชายจะได้รับการถ่ายทอดจากแม่ด้วยโครโมโซมเอ็กซ์ แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะต้องมีทั้งพ่อและแม่ที่มียืนที่เป็นตัวพาหะ มักเป็นร่วมกับอาการสายตาสั้น อาการตากระตุก และตาเหล่ (Strabismus)
  • Oguchi disease – เป็นโรคถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์แบบลักษณะด้อยของอาการตาบอดกลางคืนที่คงที่มาแต่กำเนิด มักเป็นร่วมกับอาการเปลี่ยนสีของก้นตา (Fundus) คนที่เป็นโรคนี้จะใช้เวลาในการปรับตัวในที่มืดช้ามาก มักเกิดในคนเชื้อสายญี่ปุ่น
  • Retinitis pigmentosa หรือ โรคอาร์พี – เป็นลักษณะทางพันธุกรรมทางสายตาที่เกิดมากที่สุด อาร์พีเกิดจากความผิดปกติของผิวและประสาทของจอประสาทตา (Retina) อาการอย่างแรกก็คือ อาการตาบอดกลางคืนมาตั้งแต่เด็ก หลังจากนั้นจะค่อยๆ สูญเสียการมองเห็นส่วนรอบๆ (Peripheral vision) จนเห็นแค่เพียงรูช่อง จนในที่สุดตาจะบอดหมด ซึ่งมักจะเป็นหลังอายุ 40 หรือ 50 ปี อย่างไรก็ดี พัฒนาการของอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจจะไม่สูญเสียการมองเห็น ในขณะที่บางคนอาจจะตาบอดแต่เด็ก สำหรับอาการอย่างอื่น ได้แก่ สีผิวที่ช่องท้องส่วนล่าง (Lower abdomen) เปลี่ยนไป ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายได้ แต่การได้รับวิตามินในปริมาณที่มากพอก็อาจจะช่วยชะลออาการตาบอดไปได้อีกหลายปี

2. จากสาเหตุภายนอก (Acquired causes) ได้แก่

  • ต้อกระจก (Cataracts) ที่ทำให้เลนซ์ตาขุ่นมัว ทำให้การมองเห็นในตอนกลางคืนลดลง
  • การขาดวิตามินเอ (Vitamin A deficiency) - จอประสาทตาต้องการวิตามินเออย่างมาก เพราะเป็นสารอาหารจำเป็นของเซลล์ประสาทจอประสาทตาในการรับแสง หากขาดวิตามินเอจะทำให้เซลล์ Rods เสื่อมและมีอาการตาบอดกลางคืน

วิตามินเอเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน สามารถสะสมในร่างกายได้ เด็กและหญิงมีครรภ์มักมีปัญหาเรื่องการขาดวิตามินเอ เพราะระหว่างเดือนที่ 7 ของการตั้งครรภ์ ทารกจะต้องการวิตามินเอที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ทั่วโลกจะมีเด็กอายุก่อนเข้าเรียน (Preschool-aged children) ประมาณ 127 ล้านคน และ หญิงมีครรภ์ประมาณ 7 ล้านคน ที่มีปัญหาเรื่องการขาดวิตามินเอ และมีหญิงมีครรภ์ประมาณ 6 ล้านคน ที่มีอาการตาบอดกลางคืน

โรคที่ทำให้การดูดซึมไขมันบกพร่องจะทำให้วิตามินเอที่ละลายในไขมันบกพร่องไปด้วย ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการตาบอดกลางคืน ตัวอย่างเช่น โรคโครห์น (Crohn's disease) โรคเซลิแอค (Celiac disease) โรคซีสติกไฟโบรซีส (Cystic fibrosis) การผ่าตัดลดความอ้วน (Gastric bypass surgery) และ การขาดเอ็นซัยม์จากตับอ่อนทำให้เกิดปัญหาการดูดซึมไขมันจากลำไส้บกพร่อง (Pancreatic insufficiency)

แหล่งข้อมูล

1. Vision - night blindnesshttps://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/003039.htm [2016, June 5].

2. Night Blindness http://www.ourmed.org/wiki/Night_Blindness [2016, June 5].