แมกนีเซียมคาร์บอเนต (Magnesium carbonate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

แมกนีเซียมคาร์บอเนต (Magnesium carbonate) เป็นเกลืออนินทรีย์ที่เป็นผงผลึกแข็งสีขาว ไม่ละลายน้ำแต่ละลายได้ดีในกรด หากอยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงจะเกิดการสลายตัว ประโยชน์จากเกลือชนิดนี้ที่มนุษย์นำมาใช้ได้แก่ ใช้ผสมกับวัสดุบางชนิดเพื่อใช้เป็นฉนวนป้องกันไฟไหม้ ใช้เป็นส่วนประกอบของผงเคมีดับเพลิง ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเช่น เป็นส่วนผสมของยาสีฟัน หรือพบเห็นในรูปของชอล์กเขียนกระดาน ผงแป้งสำหรับนักกีฬายิมนาสติกและนักกีฬายกน้ำหนัก

สำหรับอุตสาหกรรมยาจะใช้ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก ใช้เป็นยาลดกรด และใช้ประกอบวิตามินเพื่อช่วยเสริมสร้างธาตุแมกนีเซียม (Magnesium) ให้กับร่างกาย

แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุ/เกลือแร่สำคัญที่ทำให้เซลล์เส้นประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกและหัวใจทำงานได้เป็นปกติ สภาวะที่ร่างกายขาดแมกนีเซียมเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น บริโภคอาหารไม่ถูกสัดส่วน ใช้ยาขับปัสสาวะ ติดสุรา มีภาวะท้องเสีย อาเจียน หรือมีภาวะการดูดซึมสารอาหารจากกระเพาะอาหารและลำไส้ผิดปกติ หรือมาจากโรคเบาหวานที่ขาดการควบคุมที่ดีพอ

ปกติเกลือแมกนีเซียมคาร์บอเนตไม่ใช่สารที่ก่อให้เกิดพิษแต่อย่างใด บางคนจะรู้สึกระคายเคืองเล็กน้อยเมื่อสัมผัสกับผิวหนังหรือเข้าตา รูปแบบยาแผนปัจจุบันของแมกนีเซียมคาร์บอเนตจะเป็นยาชนิดรับประทาน ผู้บริโภคควรรับประทานยาพร้อมอาหารเพื่อป้องกันอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารหรือเกิดอาการท้องเสียจากยานี้ กรณีที่เป็นยาเม็ดห้ามเคี้ยวหรือบดยาก่อนรับประทาน ให้กลืนยาพร้อมน้ำดื่มที่เพียงพอ (ประมาณ 240 มิลลิลิตร) กรณีที่ใช้เป็นลักษณะยาน้ำแขวนตะกอน ให้ใช้อุปกรณ์การตวงยาที่ถูกต้องในการรับประทาน ห้ามใช้ช้อนตักอาหารที่บ้านในการตวงยา ด้วยจะได้ขนาดยาที่คลาดเคลื่อนและไม่ตรงตามคำสั่งของแพทย์ ประการสำคัญห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง

การได้รับแมกนีเซียมมากเกินไปจะทำให้ร่างกายได้ผลกระทบจากเกลือแมกนีเซียมอย่างมากมาย หากพบอาการบางอย่างหลังรับประทานยานี้เช่น เป็นตะคริว เหนื่อย ซึมเศร้า หรืออาการอื่นๆที่ค่อนข้างรุนแรง ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว

การใช้ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตนั้นมีหลายวัตถุประสงค์ของการรักษา การใช้ยาแต่ละขนาดได้อย่างเหมาะสมกับอาการโรค จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

แมกนีเซียมคาร์บอเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แมกนีเซียมคาร์บอ

ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ใช้เป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • ใช้เป็นส่วนประกอบของยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก
  • เสริมสร้างธาตุแมกนีเซียมให้กับผู้ป่วยที่ร่างกายขาดแคลนธาตุนี้

แมกนีเซียมคาร์บอเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตมีกลไกการออกฤทธิ์ได้หลายประการ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะ 2 กรณีดังนี้

ก. กรณีที่ใช้เป็นยาลดกรด: ตัวยาจะเข้าทำปฏิกิริยากับกรดไฮโดรคลอริก (Hydrochlo ric acid) ในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้กรดฯมีฤทธิ์เจือจางลงทำให้อาการระคายเคืองต่อแผลในกระเพาะอาหาร - ลำไส้ลดน้อยลงไปด้วย

ข. กรณีสำหรับเสริมสร้างแร่ธาตุแมกนีเซียมให้กับร่างกาย: เมื่อแมกนีเซียมคาร์บอเนตทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหารจะเกิดเป็นสารประกอบใหม่คือ แมกนีเซียมคลอไรด์(Magnesium chloride) และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แมกนีเซียมคลอไรด์มีคุณสมบัติเป็นเกลือที่ละลายน้ำได้ จากนั้นจะเกิดการแตกตัวเป็นเกลือแมกนีเซียมที่มีประจุซึ่งเกลือแมกนีเซียมที่มีประจุนี้ จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดพร้อมกับอาหารที่รับประทานเข้าไป จึงเกิดเป็นการเสริมแร่ธาตุแมกนีเซียมในเลือด/ในร่างกาย

แมกนีเซียมคาร์บอเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

ก. ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น

  • Aluminium hydroxide - Magnesium carbonate spray dried gel 325 มิลลิกรัม + Simethicone 60 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Aluminium hydroxide - Magnesium carbonate spray dried gel 325 มิลลิกรัม + Dimethylpolysiloxane (สารลดแก๊ส) 10 มิลลิกรัม + Dicyclomine hydrochloride (สารลดลำ ไส้บีบตัว) 2.5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Activated charcoal 300 มิลลิกรัม + Magnesium carbonate 40 มิลลิกรัม + Pectin 35 มิลลิกรัม/เม็ด

ข. ยาน้ำแขวนตะกอนที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น

  • Aluminium hydroxide - Magnesium carbonate co-dried gel 1,200 mg + Magnesium hydroxide 225 mg + Simethicone 50 mg/15 มิลลิลิตร

ค. ยาแคปซูลที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น

  • Calcium 66 มิลลิกรัม + Phosphorus 30 มิลลิกรัม + Magnesium carbonate 30 มิลลิกรัม + Zinc sulphate 5 มิลลิกรัม + Ferrous fumarate 20 มิลลิกรัม/แคปซูล

แมกนีเซียมคาร์บอเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตมีขนาดรับประทานขึ้นกับอาการของแต่ละโรค/ภาวะ ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และขึ้นกับแต่ละสูตรตำรับยา ดังนั้นขนาดรับประทานจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะขนาดรับประทานสำหรับเป็นยาลดกรดดังนี้ เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยานี้ได้ถึง 500 มิลลิกรัม/วัน โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: อายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ขนาดยาเท่ากับในผู้ใหญ่ (ต้องขึ้นกับคำสั่งแพทย์) แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในขนาดยาที่ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงควรต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแมกนีเซียมคาร์บอเนต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทาน/ใช้ยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แมกนีเซียมคาร์บอเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) ดังนี้เช่น มีภาวะท้องเสียทั้งนี้จะขึ้นกับปริมาณยาที่รับประทานต่อวัน ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร อาจเกิดภาวะเกลือแมกนีเซียมในร่างกายเกินกว่าระดับปกติ เกิดภาวะอัมพาตในลำไส้เล็ก (ลำไส้เล็กไม่บีบตัว)

มีข้อควรระวังการใช้แมกนีเซียมคาร์บอเนตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตวาย
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แมกนีเซียมคาร์บอเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

แมกนีเซียมคาร์บอเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยา Tetracycline จะทำให้ลดการดูดซึมของ Tetracycline และส่งผลกระทบต่อการรักษา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยาต้านไวรัสเช่น Dolutegravir ด้วยจะเกิดการรบกวนการดูดซึมของยาต้านไวรัสดังกล่าว หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรรับประทาน Dolutegravir ประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนรับประทานยาแมกนีเซียมคาร์บอเนต หรือรับประทานยา Dolutegravir หลังรับประทานยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตไปแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง
  • การใช้ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยาวิตามินรวมที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบอาจทำให้การดูดซึมของยาวิตามินรวมลดน้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันให้รับประทานยาห่างกันอย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไป
  • การใช้ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยา Aspirin อาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของยา Aspirin ด้อยประสิทธิภาพลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาแมกนีเซียมคาร์บอเนตอย่างไร

สามารถเก็บยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แมกนีเซียมคาร์บอเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแมกนีเซียมคาร์บอเนตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Algycon (อัลไกคอน) American Taiwan Biopharm
Carbonpectate (คาร์บอนเพ็คเทท) Chew Brothers
Defomil (ดีโฟมิล) Nakornpatana
Ossofez (ออสโซเฟซ) TTK
Kremil/Kremil-S (เครมิล/เครมิล-เอส) Great Eastern
Machto (แมชโต) Nakornpatana
Tocid (โทซิด) T.O. Chemicals
Topper-M (ท็อปเปอร์-เอ็ม) Chinta
Veragel-DMS (เวอราเจล-ดีเอ็มเอส) Great Eastern

บรรณานุกรม

1.https://en.wikipedia.org/wiki/Magnesium_carbonate[2015,Sept26]
2.http://www.webmd.com/drugs/2/drug-11359/magnesium-carbonate-oral/details#uses[2015,Sept26]
3. http://www.cimsasia.com/India/drug/info/magnesium%20carbonate/magnesium%20carbonate?type=full&mtype=gen eric [2015,Sept26]
4.http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Magnesium+carbonate[2015,Sept26]
5.http://www.drugs.com/drug-interactions/magnesium-carbonate.html[2015,Sept26]
6.http://dept.harpercollege.edu/chemistry/msds/Magnesium%20carbonate%20JTBaker.pdf[2015,Sept26]
7.http://www.mims.com/India/drug/info/OSSOFEZ/OSSOFEZ%20cap [2015,Sept26]