แผลเรื้อรังที่ “ลิ้น” จุดเสี่ยงมะเร็งช่องปาก (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ด้าน ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งที่สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย จะดำเนินการต่อในปี พ.ศ. 2555-2557 คือการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั่วประเทศในการคัดกรองรอยโรคก่อมะเร็งช่องปากและช่วยผู้ป่วยให้เลิกบุหรี่ พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยภายในจังหวัดและในเขตพัฒนาทันตแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรับส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงพัฒนาแนวทางการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคในกลุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้ จะมีการจัดทำฐานข้อมูลผลการตรวจคัดกรองรอยโรคในช่องปาก และรณรงค์สร้างกระแสให้ประชาชนไปรับการตรวจเนื้อเยื่อในช่องปาก และได้รับการแนะนำเรื่องการเลิกบุหรี่ที่คลินิกทันตกรรม เพื่อให้อัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งช่องปากลดลง

ทั้งนี้ ท่านอาจสำรวจตัวท่านเองเบื้องต้น โดย

  • ทดสอบตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง ด้วยการยืนหน้ากระจก ดูลักษณะริมฝีปากและเหงือกด้านหน้า เอียงศีรษะไปด้านหลังและดูเพดานปากด้านบน ดึงกระพุ้งแก้มออกเพื่อดูภายในปาก กระพุ้งแก้มด้านในและเหงือกด้านใน ดึงลิ้นออกมาแล้วดูผิว สำรวจพื้นช่องปาก ตรวจดูก้อนหรือตุ่มที่คอและขากรรไกรด้านล่างทั้ง 2 ข้าง หากพบสิ่งผิดปกติให้ไปพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด
  • พบทันตแพทย์ตามที่นัดหมายประจำ เพราะบางครั้งจุดหรือสิ่งผิดปกติในปากอาจเล็กและมองไม่เห็นด้วยตนเอง สมาคมมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society) แนะนำว่าผู้ที่อายุมากกว่า 20 ปี ควรทำการตรวจมะเร็งช่องปากทุก 3 ปี ส่วนผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี ควรทำการตรวจมะเร็งช่องปากทุกปี ทั้งนี้เพราะการตรวจพบก่อนจะทำให้การรักษาได้ผลดีกว่า

การรักษามะเร็งช่องปากต้องอาศัยทีมแพทย์ที่ชำนาญในการรักษามะเร็งที่ศีรษะและคอ ซึ่งรวมถึง แพทย์มะเร็งวิทยา (Medical oncologist) ศัลยแพทย์ศีรษะและคอ (Head and neck surgeon) ศัลยแพทย์ทางช่องปาก (Maxillofacial surgeon) แพทย์มะเร็งรังสีวิทยา (Radiation oncologist) หรือบางทีอาจต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น นักแก้ไขการพูด (Speech therapist) หรือศัลยแพทย์ตกแต่ง (Plastic surgeon)

สถาบันวิจัยฟันและศีรษะใบหน้าแห่งชาติ (National Institute of Dental and Craniofacial Research) ได้ให้คำแนะนำในการดูแลตนเองสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษามะเร็งช่องปากว่า ให้รักษาปากให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอและดื่มน้ำมากๆ นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับในการรักษาความสะอาดของช่องปากระหว่างการรักษามะเร็งช่องปากดังนี้

  • แปรงฟัน เหงือก และลิ้น ด้วยแปรงสีฟันชนิมนุ่มพิเศษ (Extra-soft toothbrush) หลังอาหารทุกมื้อและก่อนนอน ถ้ามีอาการเจ็บให้แช่ขนแปรงในน้ำอุ่นก่อน
  • ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์
  • อย่าใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมแอลกอฮอล์
  • ใช้ไหมขัดฟันเบาๆ ทุกวัน ถ้าเจ็บเหงือกหรือมีเลือดออก ให้หลีกเลี่ยงบริเวณดังกล่าว แต่ยังคงใช้ไหมขัดฟันกับบริเวณอื่นต่อไป
  • ในแต่ละวันให้บ้วนปากหลายๆ ครั้ง ด้วยน้ำอุ่นปริมาณ 1 ใน 4 แกลลอน (One quart) ผสมเบกิ้งโซด้าและเกลืออย่างละ ¼ ช้อนชา แล้วตามด้วยการบ้วนน้ำเปล่า
  • หากมีปัญหาเรื่องฟันปลอมไม่พอดีกับปาก ให้ปรึกษาทันตแพทย์

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือนแผลเรื้อรังที่ “ลิ้น” จุดเสี่ยงมะเร็งช่องปาก - http://www.thairath.co.th/content/edu/339204 [2013, May 11].
  2. Oral Cancer - http://www.webmd.com/oral-health/guide/oral-cancer [2013, May 11].
  3. Oral Cancer - What To Think About. - http://www.webmd.com/cancer/tc/oral-cancer-when-to-call-a-doctor [2013, May 11].
  4. Oral Cancer - http://www.mouthhealthy.org/en/az-topics/o/oral-cancer.aspx [2013, May 11].