แผลเรื้อรังที่ “ลิ้น” จุดเสี่ยงมะเร็งช่องปาก (ตอนที่ 2)

นพ. เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงที่เป็นมะเร็งช่องปาก คือ ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กินหมาก เป็นประจำ และมีประวัติญาติป่วยเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปากเป็นประจำทุกปี ซึ่งการตรวจพบรอยโรคระยะแรก หรือรอยโรคก่อนมะเร็งและรีบรักษาจะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้

ทั้งนี้กรมอนามัยได้เริ่มโครงการคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เพื่อให้ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับการตรวจคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปากและได้รับการส่งต่อเพื่อรับการรักษา โดยผลการดำเนินงานล่าสุดในปี พ.ศ. 2554 ใน 12 จังหวัด คือ สระบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ปัตตานี นครศรีธรรมราช ยะลา นครราชสีมา อุบลราชธานี หนองบัวลำภู และแพร่

ปรากฏว่า พบกลุ่มเสี่ยง 8,861 ราย อายุเฉลี่ย 53 ปี เป็นชายร้อยละ 46 หญิงร้อยละ 54 ในจำนวนนี้พบว่าสูบบุหรี่ร้อยละ 26 ดื่มเหล้าร้อยละ 18 กินหมากร้อยละ 8 ครอบครัวมีประวัติมะเร็งร้อยละ 11 และพบรอยโรคในช่องปากทั้งหมด 712 ราย พบรอยโรคก่อมะเร็ง 67 ราย

จากสถิตของสมาคมมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society) จากการสำรวจคนอเมริกันมากกว่า 35,000 คน ในปี พ.ศ. 2551 ระบุว่า ผู้ชายมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งช่องปากมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า และความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้นในผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งช่องปาก ได้แก่

  • ผู้ที่สูบบุหรี่ ซิการ์ หรือไปป์ (Pipe) มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งช่องปากมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 6 เท่า
  • ผู้ที่สูดยานัตถุ์หรือเคี้ยวใบยาสูบมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งที่กระพุ้งแก้ม เหงือก และรอบริมฝีปากเพิ่มขึ้นถึง 50 เท่า
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งช่องปากมากกว่าคนที่ไม่ดื่มถึง 6 เท่า
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง
  • โดนแสงแดดมากกว่าปกติ โดยเฉพาะตอนวัยเด็ก

นอกจากนี้ยังพบว่า มากกว่าร้อยละ 25 ของผู้เป็นมะเร็งช่องปาก เป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งคราว ทั้งนี้ อัตราการอยู่รอดได้ 1 ปีของผู้ป่วยมีประมาณร้อยละ 81 ในขณะที่อัตราการอยู่รอดได้ 5 ปี และ 10 ปีของผู้ป่วยมีประมาณร้อยละ 56 และร้อยละ 41 ตามลำดับ

ในการตรวจสุขภาพฟันทั่วไป ทันตแพทย์มักจะตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากด้วย หากพบเนื้อเยื่อในช่องปากที่ผิดปกติ ก็อาจนำเอาเนื้อเยื่อตัวอย่างไปวิเคราะห์ดูว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ การป้องกันตัวเองจากมะเร็งช่องปากอาจทำได้ดังต่อไปนี้

  • ไม่สูบบุหรี่หรือใช้ยาสูบ และดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณพอเหมาะ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์
  • ระวังการโดนแดด เพราะการโดนแดดบ่อยๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งที่ริมฝีปากโดยเฉพาะที่ริมฝีปากล่าง เมื่อต้องอยู่กลางแดด อาจใช้โลชั่นและลิปสติกกันรังสียูวีเอ/ยูวีบี

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือนแผลเรื้อรังที่ “ลิ้น” จุดเสี่ยงมะเร็งช่องปาก - http://www.thairath.co.th/content/edu/339204 [2013, May 3].
  2. Oral Cancer - http://www.webmd.com/oral-health/guide/oral-cancer [2013, May 3].