แบ่งปันโลหิต ช่วยชีวิตเด็กๆ

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ประกาศเชิญชวนร่วมบริจาคโลหิตในโครงการ “ปันโลหิตให้น้อง” ตลอดเดือนตุลาคม 2554 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันบริจาคโลหิตสำรองช่วยผู้ป่วยเด็กโรคเลือด ให้ได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ และบรรเทาภาวะขาดแคลนโลหิตช่วงปิดเทอม [ตุลาคม] ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กโรคเลือด (อาทิ โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย และโรคฮีโมฟิเลีย) ที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยการให้เลือดเท่านั้น

การบริจาคเลือดเป็นกิจกรรมอาสาสมัครของผู้บริจาคที่มีจิตสาธารณกุศล เพื่อถ่ายเลือด (Transfusion) ให้ผู้อื่น โดยมิได้หวังผลตอบแทน การเจาะเก็บเลือด (Collection) ในปัจจุบัน เป็นกระบวนการที่มีความปลอดภัย แม้ผู้บริจาคอาจพบแผลจากเข็มเจาะ หรือเป็นลมสลบไปเพราะกลัวเข็มเจาะ

ก่อนมีการเจาะเลือด ผู้บริจาคจะได้รับการตรวจสุขภาพ และสอบถามถึงประวัติครอบครัว เพื่อให้แน่ใจว่า การบริจาคจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริจาคเอง รวมทั้งยาที่ผู้บริจาคใช้อยู่ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้รับบริจาคที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ และปัจจัยเสี่ยง อาทิ การเดินทางของผู้บริจาคไปบางประเทศที่ล่อแหลมต่อการติดเชื้อโรคระบาด

ส่วนเลือดที่รับบริจาคมา จะได้รับการคัดกรอง เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีอันตรายต่อการนำไปใช้ อาทิ โรคที่ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases; STD) รวมทั้งการตรวจสอบเชื้อโรคที่อาจแพร่หลายผ่านกระบวนการถ่ายเลือด โดยเฉพาะโรคเอดส์ (HIV) มาเลเรีย และไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)

การเก็บเลือด อาจทำได้โดยไม่ใช้อุปกรณ์อัตโนมัติ (Manual) หรือใช้อุปกรณ์อัตโนมัติเพื่อแยกเลือดออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ เช่น ส่วนเป็นเม็ดเลือดแดง หรือ ส่วนเป็นเกร็ดเลือด ซึ่งส่วนประกอบต่างๆของเลือด มักมีอายุ (Shelf life) สั้น ดังนั้นการรักษาปริมาณเลือดในคลังให้มีเพียงพอ มักเป็นประเด็นที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารโรงพยาบาล

เราสามารถแบ่งการบริจาคเลือดออกเป็น 2 ประเภท โดยที่ประเภทแรกเรียกว่า Direct เป็นกรณีที่ผู้บริจาค จะถ่ายเลือดโดยตรงให้กับผู้รับบริจาคที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งมักเป็นญาติหรือมิตรสนิทขอผู้บริจาค ประเภทหลังเรียกว่า Allogeneic (การบริจาคเนื้อเยื่อ เช่น ไขกระดูก หรือ เลือด) เป็นกรณีที่ผู้บริจาคยอมให้เจาะเลือด เพื่อนำไปเก็บในคลังเลือด (Blood bank) สำหรับผู้รับบริจาคทั่วไป ที่มิได้ระบุเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล เช่น ผู้ป่วยทั่วไป

บางครั้งมีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนมาบริจาคตามสถานที่ต่างๆ อาทิ สำนักงาน โรงงาน สถาบันการศึกษา ศูนย์การค้า และสถานศาสนา เรียกว่า Blood drive เหมือนที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ของสภากาชาดไทยกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ไม่มีการทำบุญทำทานใด ที่ยิ่งไปกว่าการบริจาคเลือดเพื่อช่วยต่อชีวิตให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าผู้บริจาคหรือผู้รับบริจาคจะต่างกันอย่างไรในเรื่อง เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา เพศ อายุ ฯลฯ จึงขอนุโมทนากับผู้บริจาคทุกท่าน

  1. แหล่งข้อมูล: ร่วมปันโลหิตให้น้อง บริจาคโลหิตช่วยผู้ป่วยเด็กโรค ร่วมปันโลหิตให้น้อง บริจาคโลหิตช่วยผู้ป่วยเด็กโรคเลือด ตลอดเดือนตุลาคม
  2. Blood donation. http://en.wikipedia.org/wiki/Blood_donation