แบคทีเรีย VS ไวรัส (ตอนที่ 2)

เคยมีการระบาดของเชื้อไวรัสที่สำคัญๆ 2 ครั้ง กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2461 มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 20 – 40 ล้านคน และในปี พ.ศ. 2551 การระบาดของโรคเอดส์หรือเฮชไอวีได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปประมาณ 2 ล้านคน ภายในปีเดียว

การติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสมีอาการคล้ายๆ กัน คือ ไอ จาม เป็นไข้ อักเสบ อาเจียน ท้องเสีย (Diarrhea) อ่อนเพลีย และเป็นตะคริว ทั้งหมดเป็นอาการที่ภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายพยายามที่กำจัดเชื้อเหล่านั้น อย่างไรก็ดีการติดเชื้อทั้ง 2 ชนิด ก็มีอะไรที่ต่างกันไป เช่น จุดที่อวัยวะติดเชื้อและยาที่ใช้ต้านเชื้อ

เชื้อไวรัสต่างจากเชื้อแบคทีเรียตรงที่มันไม่สามารถอยู่เดียวๆ ได้ มันสามารถกระจายตัวได้โดยการเกาะเซลล์อื่น (Host cell) และขโมยโครงสร้างของเซลล์อื่น ส่วนใหญ่มันจะสร้างโปรแกรมเซลล์ขึ้นใหม่เพื่อสร้างเชื้อไวรัสจนกว่าเซลล์จะปะทุออกและตาย หรือบางกรณีเชื้อไวรัสจะเปลี่ยนเซลล์ปกติให้เป็นเนื้อร้ายหรือเป็นเซลล์มะเร็ง

ส่วนที่ไม่เหมือนเชื้อแบคทีเรียก็คือ เชื้อไวรัสส่วนใหญ่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค ที่มักจะมีการเจาะจงเซลล์เฉพาะที่จะทำลาย เช่น เชื้อไวรัสบางตัวถูกโปรแกรมให้ทำลายเซลล์ในตับ ระบบทางเดินหายใจ หรือ เลือด

แบคทีเรียส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายและแบคทีเรียบางชนิด เช่น แบคทีเรีย Lactobacilli acidophilus ก็สามารถอาศัยอยู่ในลำไส้คน ช่วยในการย่อยอาหาร ทำลายเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค (Microbes) ต้านเซลล์มะเร็ง และให้สารอาหารที่สำคัญ ทั้งนี้ มีเชื้อแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 1 เท่านั้นที่ก่อให้เกิดโรคในคน

ในทางกลับกัน เชื้อไวรัสจะมีขนาดเล็กมาก เชื้อไวรัสที่ใหญ่ที่สุดยังมีขนาดเล็กกว่าเชื้อแบคทีเรียที่เล็กที่สุด เชื้อไวรัสมีรูปร่างหลายแบบและมีแบบพันธุกรรมที่จำกัด ทั้งหมดถูกเคลือบด้วยโปรตีนและมีสารพันธุกรรมอยู่ตรงกลาง ทั้งที่เป็น RNA (= Ribonucleic acid) หรือ DNA (= Deoxyribonucleic acid)

[RNA เป็นโมเลกุลเกลียวเดี่ยว มีโซ่นิวคลิโอไทด์ที่สั้นกว่า ไม่เหมือนกับ DNA และ RNA มีน้ำตาลไรโบส (Ribose) ในขณะที่ DNA เป็น ดีออกซิไรโบส (Deoxyribose) (มี ไฮดรอกซิล กรุป เชื่อมต่อกับวงแหวนเพนโตส ที่ตำแหน่ง 2 ซึ่งใน DNA มีไฮโดรเจนอะตอมแทนไฮดรอกซิล กรุป) ไฮดรอกซิล กรุป นี้จะทำให้ RNA มีสเถียรภาพน้อยกว่า DNA เพราะจะถูกไฮโดรไลสิสได้ง่าย]

โดยทั่วไปการติดเชื้อไวรัสจะเป็นการติดเชื้อทั่วร่างกาย (Systemic) นั่นคือ มันจะเกี่ยวข้องกับส่วนต่างๆ ของร่างกายหรือเกี่ยวข้องกับระบบร่างกายมากกว่า 1 ระบบในเวลาเดียวกัน เช่น น้ำมูกไหล มีอาการไซนัสบวม (Sinus congestion) ไอ ปวดตามร่างกาย เป็นต้น มันอาจเกิดเฉพาะที่ เช่น ทำให้เยื่อตาอักเสบหรือตาแดง (Pink eye) และเป็นเริม การติดเชื้อไวรัสบางชนิดจะทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ เช่น เริม

อาการโดยปกติของการติดเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการแดง ร้อน บวม และปวด เฉพาะที่ ลักษณะที่เด่นของการติดเชื้อแบคทีเรียก็คือมีอาการปวดเฉพาะที่ เช่น เมื่อมีบาดแผลและติดเชื้อแบคทีเรีย

อาการปวดจะเกิดขึ้นตรงบริเวณที่ติดเชื้อ อาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรียมักมีอาการเจ็บคอในด้านใดด้านหนึ่ง การติดเชื้อในหูมักจะถูกวินิจฉัยว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหากมีอาการปวดหูเพียงข้างเดียว อาการติดเชื้อที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักจะปรากฏในรูปของน้ำหนองหรือของเหลว

แหล่งข้อมูล:

  1. Bacterial and Viral Infections. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/bacterial-and-viral-infections [2012, August 21].
  2. อาร์เอ็นเอ http://th.wikipedia.org/wiki/อาร์เอ็นเอ [2012, August 21].
  3. Infection. http://en.wikipedia.org/wiki/Viral_Infections [2012, August 21].