มาช่วยกันทำเมนูอาหารอร่อยกาย สบายหัวใจ สไตล์สุขภาพ

แนะนำตัวกาญจนา-1

      

      สวัสดีดีค่ะ ดิฉันกาญจนา ฉิมเรือง นักวิชาการโภชนาการ ชำนาญการ ดิฉันทำงานในโรงพยาบาล ดูแลผู้ป่วยด้านอาหารทั้งด้านโภชนาการและโภชนบำบัด ดิฉันจะใกล้ชิดกับผู้ป่วยทุกกลุ่มโรคที่ความเจ็บป่วยมาจากเรื่องอาหารการกิน ที่มารักษาตัวในโรงพยาบาล และรวมถึงผู้ป่วยที่แพทย์ให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน ทีมนักโภชนาการต้องออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยพร้อมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ช่วยดูแล แก้ปัญหาให้กับผู้ป่วย เพราะอาหารเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปัจจุบันอาหารเป็นปัจจัยในการเกิดโรคเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากร่างกายอยู่ในสภาวะปกติทุกคนจะไม่ให้ความสำคัญด้านอาหารหรือให้ความสำคัญน้อยมาก รับประทานทุกอย่าง ตามใจ ตามมือหยิบจับ โดยไม่คำนึงถึงสารอาหารที่ร่างกายต้องการ เมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะเจ็บป่วย ทุกคนจึงให้ความสำคัญกลับมาดูแลและใส่ใจด้านอาหาร ตั้งแต่การเลือกซื้อ การล้างทำความสะอาด เช่น ล้างผักอย่างไรให้ปลอดสารพิษ สารเคมี ต้องใช้สารชนิดใดในการล้าง มีการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเยอะแยะมากมาย ศึกษางานวิจัยต่างๆ สอบถามจากทีมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ แต่ทุกท่านทราบหรือเปล่าค่ะเวลาที่ร่างกายอยู่ในสภาวะเจ็บป่วยบางกลุ่มโรค ด้วยวัย อายุ ที่มากขึ้นทุกวัน ขณะที่ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำไม่สามารถขจัดสารพิษออกจากร่างกายได้ เมื่อมาถึงจุดดังกล่าวทุกคนไม่สามารถที่จะย้อนเวลากลับมาแก้ไขในสิ่งที่ตัวเองรับประทานได้ จากประสบการณ์ในการทำงานที่ดิฉันได้สัมผัส พบปะ พูดคุยกับผู้ป่วยทุกคนประมาณ 80% จะให้ความสำคัญกับอาหารเมื่อร่างกายเกิดภาวะเจ็บป่วยเท่านั้น หรือกรณีที่แพทย์ส่งมาพบนักโภชนาการให้เรียนรู้ในการปรับพฤฒิกรรมการบริโภคอาหารตามกลุ่มโรค เพื่อไม่ให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้จักเลือกวัตถุดิบ เครื่องปรุงรสในการประกอบอาหาร สามารถคำนวณอาหารที่รับประทานในแต่ละวันได้อย่างคร่าวๆ สามารถแยกอาหารแต่ละหมวดหมู่ได้ เช่น หมวดเนื้อสัตว์ หมวดธัญพืช หมวดผัก หมวดผลไม้ หมวดนม หมวดไขมัน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรู้จักแลกเปลี่ยนหมวดหมู่อาหาร รับประทานทดแทนในกลุ่มเดียวกันได้

      ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารทางสายให้อาหาร เป็นผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่ดิฉันได้สัมผัส ได้ดูแล ในอาชีพนักโภชนาการได้คิดค้น ดัดแปลง สูตรอาหารให้กับผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยเฉพาะโรค เช่น ป่วยโรคไต ผู้ป่วยจำกัดโพแทสเซี่ยม, จำกัดคาร์โบไฮเดรต,จำกัดโปรตีน เพิ่มกากใย ฯลฯ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ประมาณ 80% จะรับประทานอาหารทางสายให้อาหารด้วยวิธีต่างๆ เช่น ผ่านทางรูจมูก ผ่านทางหลอดอาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร ผ่านทางหน้าท้อง ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถรับรู้รสชาติของอาหารได้ แต่สูตรอาหารทั้งอาหารทางการแพทย์สูตรสำเร็จ สูตรปั่นสมอาหารหลัก 5 หมู่ ต้องมีสารอาหารครบถ้วนที่ร่างกายต้องการ สอดคล้องตามพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย ให้คำแนะนำ สอน สาธิต ให้กับผู้ป่วย ญาติ กรณีแพทย์ให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องรับประทานอาหารทางสายให้อาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะทุพโภชนาการ มีการเฝ้าติดตาม ประเมินผล ผู้ป่วยหลังการให้ความรู้

      ผู้ป่วยกลุ่มเด็ก ที่ดิฉันได้ดูแล ใกล้ชิด ด้านอาหาร ตั้งแต่เด็กคลอดในโรงพยาบาล การเลือกใช้นมผงให้สอดคล้องตามกลุ่มช่วงอายุของเด็ก อาหารตามช่วงวัย เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีภาวะแพ้โปรตีนจากนมวัว มีปัญหาด้านการย่อยและการดูดซึมอาหาร รวมถึงการจัดอาหารให้กับผู้ป่วยเด็กในช่วงการรักษา มีการดัดแปลง คิดค้น พัฒนาสูตรอาหาร ให้กับผู้ป่วยตามกลุ่มโรคทั้งรับประทานอาหารทางปากและให้อาหารทางสายให้อาหาร

      จากข้อความด้านบนทั้งหมดเป็นลักษณะงานที่ดิฉันทำเป็นประจำทุกวัน ในการดูแลผู้ป่วย ดิฉันจึงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานในด้านวิชาการเรื่องอาหารการกิน การเลือกซื้อ วิธีการปรุงอาหาร การดัดแปลงเมนูอาหารประเภทต่างๆ ทำอย่างไรให้ได้เมนูอาหารที่มีประโยชน์ถูกต้องตามกลุ่มโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง ควรรับประทานอาหารอย่างไร ในบางสูตรอาหารดิฉันได้คำนวณสารอาหารในเมนูอาหารไว้ให้เรียบร้อย เพื่อความสะดวกให้กับทุกท่านสามารถนับแคลอรี่อาหารได้อย่างสะดวกขึ้น ซึ่งในบทถัดไปดิฉันจะมีข้อมูลด้านวิชาการ และมีเมนูอาหารให้ทุกคนได้ทดลอง ลงมือทำกัน ภายใต้คอลัมน์

มาช่วยกันทำเมนูอาหารอร่อยกาย สบายหัวใจ สไตล์สุขภาพ