แช่แข็งไข่ เพื่อรอคนที่ใช่ (ตอนที่ 2)

แช่แข็งไข่เพื่อรอคนที่ใช่-2

      

      อย่างไรก็ดี การแช่แข็งไข่ก็มีความเสี่ยงมากมาย เช่น

  • ต้องใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยาก (Fertility drugs) เช่น Synthetic follicle-stimulating hormone หรือ Luteinizing hormone เพื่อกระตุ้นรังไข่ ที่สามารถทำให้เกิดกลุ่มอาการรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome) ซึ่งจะทำให้รังไข่บวมและปวดหลังการตกไข่ (Ovulation) หรือการเก็บไข่ (Egg retrieval) จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด (Bloating) คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย หรือกรณีที่รุนแรงอาจเป็นสาเหตุให้มีของเหลวในช่องท้องและหายใจลำบาก (Shortness of breath)
  • กระบวนการเก็บไข่ที่ซับซ้อน มีการใช้เข็มดูดไข่ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออก ติดเชื้อ หรือมีผลกระทบต่อลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือหลอดเลือด ตลอดจนความเสี่ยงจากการวางยาสลบ
  • ความเสี่ยงด้านอารมณ์ เพราะการแช่แข็งไข่อาจล้มเหลวไม่ประสบผลสำเร็จได้
  • ความเสี่ยงในการแท้งเด็กที่เกิดจากการแช่แข็งไข่จะขึ้นกับอายุตอนที่เก็บไข่เพื่อนำไปแช่แข็ง

      ทั้งนี้ ก่อนเริ่มกระบวนการแช่แข็งไข่ จะต้องมีการทดสอบก่อนซึ่งรวมถึง

  • การทำ Ovarian reserve testing (ORT) เพื่อดูจำนวนและความสมบูรณ์ของไข่ในรังไข่ที่สามารถทำให้เกิดการปฏิสนธิจนตั้งครรภ์ได้ แพทย์อาจให้ฮอร์โมน (Follicle-stimulating hormone = FSH) และ Estradiol ในวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน นอกจากนี้อาจมีการตรวจเลือดและอัลตราซาวด์รังไข่เพื่อยืนยันถึงความสมบูรณ์ของรังไข่
  • การตรวจหาโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น เชื้อเฮชไอวี

      ดังนั้น ก่อนตัดสินใจแช่แข็งไข่ ควรถามตัวเองก่อนว่า

  • คุณวางแผนที่จะตั้งครรภ์เมื่อไร เทียบอายุและความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลสำเร็จ
  • คุณต้องการเก็บไข่ไว้กี่ใบ ส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำให้ทำการเก็บไข่ 20-30 ใบ และนำออกมาละลายทีละ 6-8 ใบ ในการพยายามตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ซึ่งอาจต้องมีการฉีดยาเพื่อกระตุ้นรังไข่มากกว่า 1 ครั้ง
  • คุณจะทำอย่างไรกับไข่ที่ไม่ได้นำมาใช้ – อาจบริจาคให้คู่อื่นหรือเพื่อใช้ในงานวิจัยหรือทิ้งไป

      กระบวนการเก็บไข่ มีหลายขั้นตอน โดยเริ่มจากการกระตุ้นไข่และชักนำให้ไข่ตก (Ovulation induction) การเก็บไข่ (Egg retrieval) และการแช่แข็งไข่ (Freezing eggs)

      การกระตุ้นไข่และชักนำให้ไข่ตก (Ovulation induction)

      ในตอนเริ่มต้นของการมีรอบเดือน แพทย์จะให้ฮอร์โมนสังเคราะห์ (Synthetic hormones) เพื่อกระตุ้นรังไข่ให้ผลิตไข่มากกว่าปกติ และอาจมีการให้ยาอีกหลายอย่าง เช่น

  • ยาฉีดเพื่อกระตุ้นรังไข่ - Follicle-stimulating hormone หรือ Human menopausal gonadotropins
  • ยาป้องกันไข่ตกก่อนเวลาที่กำหนด (Premature ovulation) - ยากระตุ้นฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง (Gonadotropin releasing hormone agonists) หรือ ยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง (Gonadotropin releasing hormone antagonists)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Egg freezing. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/egg-freezing/about/pac-20384556 [2018, September 19].
  2. Egg Freezing. http://obgyn.ucla.edu/egg-freezing [2018, September 19].
  3. Egg Freezing FAQ’s. https://uscfertility.org/egg-freezing-faqs/ [2018, September 19].