แคลซิไดออล (Calcidiol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สาร/ยาแคลซิไดออล(Calcidiol) หรือ แคลซิเฟไดออล(Calcifediol) หรือ Calcifediol monohydrate หรือ 25-hydroxycholecalciferol หรือ 25-hydroxy vitamin D ย่อว่า 25(OH)D จัดเป็นพรีฮอร์โมน(Prehormone, สารเคมีที่สร้างเพียงเล็กน้อยจากเนื้อเยื่อต่างๆ เป็นสารไม่มีฤทธิ์ด้วยตัวมันเอง แต่จะถูกเปลี่ยนโดยเนื้อเยื่อบางชนิด เช่น ผิวหนัง หรือเยื่อเมือก ไปเป็นฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์)ของวิตามินดี ในธรรมชาติ การสังเคราะห์สารแคลซิไดออลจะเกิดที่ตับของมนุษย์ โดยกระบวนการทางชีวะเคมีที่เรียกว่าไฮดรอกซิเลชั่นของวิตามินดี3/วิตามินDชนิดที่ออกฤทธิ์ (Hydroxylation of vitamin D3) จากนั้น สารแคลซิไดออลที่เกิดขึ้นจะถูกลำเลียงไปที่ไต เพื่อเปลี่ยนไปเป็นสาร “Calcitriol” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของวิตามินดีที่สามารถออกฤทธิ์รักษาสมดุลของแคลเซียมในร่างกายของคนเรา

ทางคลินิก ใช้สาร/ยาแคลซิไดออลมาเป็นยารักษาโรคกระดูกบางชนิด เช่น โรคกระดูกอ่อนในเด็ก(Rickets) โรคกระดูกน่วม(Osteomalacia), และบำบัดผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดี

ทางการแพทย์ใช้ปริมาณสารแคลซิไดออลในกระแสเลือด เป็นตัวบ่งบอกระดับความสมบูรณ์ของวิตามินดีในร่างกาย ปกติควรมีแคลซิไดออลในเลือด 30–74 นาโนกรัม/มิลลิลิตร ทั้งนี้ มีหลายสาเหตุที่ทำให้ระดับแคลซิไดออลในร่างกายต่ำกว่าปกติ เช่น ป่วยด้วยโรคกระดูกพรุน เป็นโรคไตเรื้อรัง มีการดูดซึมสารอาหารของกระเพาะอาหารและลำไส้ผิดปกติ อยู่ในภาวะควบคุมการรับประทานอาหารเพื่อลดน้ำหนัก หรือแม้แต่การติดเชื้อต่างๆของร่างกายจากเชื้อโรคบางกลุ่มก็ทำให้มีภาวะขาดแคลซิไดออลได้เช่นกัน

หน้าที่หลักของสาร/ยาแคลซิไดออลอาจสรุปได้ดังนี้

  • เร่งให้ร่างกายมีการดูดซึมแคลเซียม(เกลือแร่แคลเซียม)จากระบบทางเดินอาหาร
  • รักษาสมดุลการขับออกของแคลเซียมไปกับปัสสาวะ โดยมีความสัมพันธ์กับ แคลเซียมที่ดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร กลไกดังกล่าวจะทำให้ระดับแคลเซียม ของร่างกายไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป

ยังมีกลุ่มผู้ป่วยบางรายที่ไม่เหมาะจะได้รับยาแคลซิไดออล อาทิ ผู้ที่มีระดับแคลเซียมในร่างกายสูงผิดปกติ หรือผู้ที่แพ้ยาแคลซิไดออล หรือมีอาการแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาแคลซิไดออล เป็นต้น

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาแคลซิไดออลเป็นยารับประทาน ทั้งชนิดแคปซูล และชนิดน้ำ การจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์/ยาแคลซิไดออลแบบใดนั้น ผู้บริโภคควรต้องผ่านการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อนเสมอ ด้วยยาแคลซิไดออลจัดเป็นยาอันตราย และสามารถก่อให้เกิดอาการพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อร่างกายได้เช่นกัน เช่น อาการปวดกระดูก มีอาการท้องผูกโดยเฉพาะในเด็กและเด็กวัยรุ่น หรืออาจมีภาวะท้องเสีย ง่วงนอน ปากแห้ง กระหายน้ำ ปวดศีรษะอย่างต่อเนื่อง ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ปัสสาวะเป็นปริมาณมาก หัวใจเต้นผิดปกติ คันตามผิวหนัง เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยง่าย และอ่อนเพลีย จะเห็นได้ว่าพิษของวิตามินดี/แคลซิไดออล สามารถสร้างความทรมานและรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมากมาย กรณีที่พบอาการเหล่านี้ ควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล/พบแพทย์โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด หากผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลของยาแคลซิไดออลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษา หรือสอบถามจากเภสัชกรได้ทั่วไป

แคลซิไดออลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แคลซิไดออล

ยาแคลซิไดออลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการผู้ที่มีร่างกายขาดวิตามินดี
  • รักษาผู้ป่วย โรคกระดูกอ่อนในเด็ก โรคกระดูกน่วม
  • รักษาอาการผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในร่างกายต่ำด้วยเหตุไตวายเรื้อรัง (Renal osteodystrophy)
  • ใช้ร่วมกับยากลุ่มแคลเซียมเพื่อป้องกันภาวะ/โรคกระดูกพรุนจากการได้รับยา Corticosteroid ต่อเนื่อง

แคลซิไดออลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ร่างกายของมนุษย์ในส่วนของผิวหนังเมื่อได้รับแสงแดดอย่างเหมาะสมจะมีการสังเคราะห์วิตามินดี 3 (Vitamin D3)ซึ่งจัดเป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมน(Steroid hormone)ชนิดหนึ่ง ตับจะทำหน้าที่เปลี่ยนวิตามินดี 3 ไปเป็นสารแคลซิไดออล หรือเมื่อเราบริโภคยาแคลซิไดออล ซึ่งแคลซิไดออลจะเป็นรูปของสาร/ยาที่เป็นพรีฮอร์โมน(Prehormone) ที่ยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ สาร/ยาแคลซิไดออลจากตับจะถูกลำเลียงไปที่ไต และถูกเปลี่ยนไปเป็นสาร Calcitriol ที่สามารถออกฤทธิ์เพิ่มระดับแคลเซียมในกระแสเลือดโดย

1. ส่งเสริมการดูดซึมธาตุฟอสฟอรัส(Phosphorus) และแคลเซียมจากระบบทางเดินอาหาร แร่ธาตุ/เกลือแร่ทั้งสอง เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดมีการสะสมแคลเซียมในกระดูก

2. Calcitriol ยังเพิ่มการดูดกลับของแคลเซียมที่อวัยวะไตเพื่อรักษาสมดุล แคลเซียมในเลือด

จากกลไกดังกล่าว ทำให้ Prehormone อย่างยาแคลซิไดออล สามารถรักษาโรคกระดูกได้ตามสรรพคุณ

แคลซิไดออลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแคลซิไดออลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน ที่ประกอบด้วย Calcidiol ขนาด 30 ไมโครกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Calcifediol monohydrate ขนาด 15 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร

แคลซิไดออลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแคลซิไดออลต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์ ขนาดรับประทานและระยะเวลาของการใช้ยานี้/ยาชนิดนี้ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น การใช้ยานี้ในผู้ใหญ่และในเด็ก มีขนาดที่แตกต่างกันตามอาการและความรุนแรงของโรค ห้ามมิให้ผู้บริโภค/ผู้ป่วยไปซื้อหายาชนิดนี้มารับประทานเอง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการได้รับพิษจากการใช้ยาแคลซิไดออลเกินขนาด อนึ่ง ยาในกลุ่มวิตามินดี(รวมยาแคลซิไดออล)เป็นยาที่ละลายในไขมันซึ่งทำให้เกิดการสะสมยานี้ในเนื้อเยื่อไขมันของร่างกายได้เป็นเวลายาวนาน หลังการรับประทานยาแคลซิไดออล ทั้งนี้ ทั่วไปต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 288 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาประเภทนี้ออกจากร่างกายได้เพียง 50% เท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแคลซิไดออล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคลซิไดออลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแคลซิไดออล สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

แคลซิไดออลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแคลซิไดออลยังไม่ใช่ตัวยาออกฤทธิ์ แต่จะต้องถูกเปลี่ยนในร่างกายไปเป็นสารแคลซิไทรออล(Calcitriol)ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์เสียก่อน ดังนั้นผู้ป่วยจึงจะไม่ได้รับ ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากยาแคลซิไดออล แต่จะเป็นผลไม่พึงประสงค์จากสารแคลซิไทรออล ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีระดับแคลเซียมในเลือดสูง ทำให้เบื่ออาหาร ร่างกายมีการสูญเสียน้ำมากขึ้น ระดับ/ฟอสเฟต/ฟอสฟอรัสในเลือดสูงเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีแคลเซียมปนมากับปัสสาวะ ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย ปัสสาวะมาก มีโปรตีนในปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน อาจมีอาการชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ปากแห้ง ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีอาการผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดสูงขึ้น/ไตทำงานผิดปกติ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ความรู้สึกทางเพศถดถอย
  • ผลต่อตา: เช่น ม่านตาอักเสบ ตาแพ้แสง/ตาแพ้แสงสว่าง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น น้ำมูกไหล

มีข้อควรระวังการใช้แคลซิไดออลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลซิไดออล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาแคลซิไดออลโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแคลซิไดออลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แคลซิไดออลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

แคลซิไดออลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาแคลซิไดออลร่วมกับ ยาAcetyldigoxin ด้วยจะทำให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแคลซิไดออลร่วมกับยากลุ่มแคลเซียม/ยากลุ่มมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น Calcium acetate, Calcium carbonate, Calcium chloride, Calcium citrate เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงจากยาต่างๆที่ใช้ร่วมกันที่สูงขึ้นตามมา
  • ห้ามใช้ยาแคลซิไดออลร่วมกับ ยาCholestyramine เพราะจะทำให้การดูดซึม ยาแคลซิไดออลจากระบบทางเดินอาหารลดลง
  • การใช้ยาแคลซิไดออลร่วมกับ ยากลุ่มThiazides จะกระตุ้นให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาแคลซิไดออลอย่างไร?

ควรเก็บยาแคลซิไดออลภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

แคลซิไดออลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแคลซิไดออล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Calderol (แคลเดอรอล)Upjhon
Caldiol (แคลไดออล)Medica
De Kai (เด ไค)China Otsuka
Dedrogyl (เดโดรกิล)Desma

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Calcifediol hydrate, Calcifediol anhydrous; Calcifediolum, Delakmin, Hidroferol

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00146 [2017,Dec10]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Calcifediol [2017,Dec10]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Calcitriol#Function [2017,Dec10]
  4. http://www.druglib.com/activeingredient/calcidiol/ [2017,Dec10]
  5. http://www.medisite.fr/dictionnaire-des-medicaments-dedrogyl-15-mg-100-ml-solution-buvable-en-gouttes.600904.8028.html [2017,Dec10]
  6. https://www.everydayhealth.com/drugs/vitamin-d3 [2017,Dec10]
  7. https://www.drugs.com/sfx/calcitriol-side-effects.html [2017,Dec10]