เฮชไอวี VS เอดส์ (ตอนที่ 4)

เฮชไอวี VS เอดส์

ระยะที่ 2 เรียกว่า ระยะแฝง (Asymptomatic / latent period) เป็นระยะที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งอาจกินเวลานานถึง 10 ปีหรือมากกว่า โดยคนอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ทำให้มีการแพร่เชื้อเฮชไอวีไปยังผู้อื่นได้

ระยะนี้เชื้อเฮชไอวีจะค่อยๆ ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ด้วยการทำลายเซลล์ CD4 T-cells

ระยะที่ 3 เป็นระยะเอดส์ (Acquired immune deficiency syndrome = AIDS) เกิดเมื่อจำนวน CD4 T-cells ได้ลดลงน้อยกว่า 200 ในระยะนี้หากไม่ได้รับการรักษามักจะเสียชีวิตภายในเวลาประมาณ 3 ปี แต่หากว่ามีการติดเชื้ออื่นเพิ่มเติมด้วยแล้วไม่รักษาก็จะเสียชีวิตภายในเวลาประมาณ 1 ปี

คนที่เป็นเอดส์จะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ หรือที่เรียกว่า ความเจ็บป่วยของระยะเอดส์ (AIDS-defining illnesses) ที่มักจะแสดงออกด้วยอาการของ

  • โรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา (Kaposi's sarcoma) หรือที่แพทย์บางท่านเรียกย่อๆ ว่า โรคเคเอส (KS) ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อหรือจุดสีคล้ำหรือม่วงที่ผิวหนังหรือในปาก
  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
  • จิตใจเปลี่ยนแปลงและปวดศีรษะ เนื่องจากการติดเชื้อราหรือมีก้อนเนื้อในสมองและไขสันหลัง
  • หายใจลำบากเพราะมีการติดเชื้อเกิดขึ้นที่ปอด
  • สมองเสื่อม (Dementia)
  • ขาดสารอาหารอย่างรุนแรง (Severe malnutrition)
  • ท้องเสียเรื้อรัง
    • การที่จะรู้ว่าติดเชื้อเฮชไอวีหรือไม่ ทำได้ด้วยการตรวจหาเชื้อในเลือด (HIV test) ซึ่งถ้าได้ผลเป็นบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น ให้ทำการตรวจซ้ำอีก และให้รีบทำการรักษาทันที การทดสอบสามารถทำได้ด้วย

      • Standard tests – เป็นการตรวจหาภูมิ (HIV antibodies) โดยอาศัยหลักที่ว่า ร่างกายจะสร้างภูมิเพื่อต่อสู้กับเชื้อ อย่างไรก็ดีวิธีนี้ไม่สามารถใช้ตรวจเชื้อเฮชไอวีในเลือดหลังการติดเชื้อทันที เพราะร่างกายต้องใช้เวลาในการสร้างภูมิอีกประมาณ 2-8 สัปดาห์ หรือบางทีก็กินเวลานาน 6 เดือน

      การทดสอบวิธีนี้จะใช้ตัวอย่างจากเลือด หรือปัสสาวะ หรือของเหลวที่ได้จากปาก นำไปวิเคราะห์ในห้องแล็ป

      • Rapid antibody tests สามารถทราบผลภายใน 30 นาที
      • Antibody / antigen tests วิธีนี้เป็นการตรวจจากเลือดอย่างเดียว โดยใช้หาสารก่อภูมิต้านทานของเชื้อ (HIV antigen) ซึ่งสามารถทำได้หลังการติดเชื้อ 2-4 สัปดาห์ เป็นวิธีที่หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control = CDC) แนะนำให้ใช้
      • Rapid antibody / antigen test สามารถทราบผลภายใน 20 นาที

      แหล่งข้อมูล

      1. HIV and AIDS. http://www.nhs.uk/conditions/HIV/Pages/Introduction.aspx [2015, October 20].
      2. About HIV/AIDS. http://www.cdc.gov/hiv/basics/whatishiv.html [2015, October 20].
      3. HIV & AIDS Overview. http://www.webmd.com/hiv-aids/ [2015, October 20].