ไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลส (Hydroxypropyl methylcellulose) หรือ ไฮโปรเมลโลส (Hypromellose) หรือ เฮชพีเอ็มซี (HPMC)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลส (Hydroxypropyl methylcellulose ย่อว่า เอชพีเอ็มซี/HPMC, หรือ เรียกสั้นๆว่า “ไฮโปรเมลโลส/ Hypromellose)” คือ สารประเภทโพลีเมอร์กึ่งสังเคราะห์ (Semisynthetic polymer, สารที่มีคุณสมบัติหลากหลายทั้งทางเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา) ที่ถูกนำมาผสมในเภสัชผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาของยาบางกลุ่ม เช่น  ยาหยอดตา, แต่โดยมากไม่ได้ใช้เป็นสาระสำคัญ หรือ สารออกฤทธิ์ต่อร่างกายที่มีกลไกซับซ้อนมากนัก

ลักษณะทั่วไปของสารไฮโปรเมลโลส มีสถานะเป็นผงที่มีสีออกขาว หรือ อาจจะเรียกว่าเป็นผงแกรนูล (Granule) ก็ได้, เมื่อนำไปกระจายตัวในน้ำ’ไฮโปรเมลโลส’จะลอยและแขวนตะกอนหรือที่เราเรียกว่าเป็นสารคอลลอยด์(Colloids)

ไฮโปรเมลโลส ไม่ใช่สารที่มีพิษ แต่สามารถติดไฟได้ ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมของไฮโปรเมลโลส ได้แก่ ใช้เป็นส่วนผสมของ กาวติดกระเบื้อง ซีเมนต์ ยิปซั่ม สี และสารเคลือบเงา ใช้กับอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง น้ำยา/ผลิตภัณฑ์ซักล้างทำความสะอาด,  และใช้เป็นส่วนประกอบหลักของเภสัชผลิตภัณฑ์ประเภทยาหยอดตาที่เพิ่มความหล่อลื่นให้กับตา รวมถึงเป็นสารช่วยในสูตรตำรับของยาชนิดอื่นๆ เช่น ใช้ผสมในยาเม็ด หรือยาแคปซูลชนิดรับประทาน, โดยทำตัวเหมือนกาวที่ยึดเกาะผงยาเป็นผลให้การตอกอัดเม็ดทำได้ง่ายขึ้น, หรือทำให้การปลดปล่อยของตัวยาในระบบทางเดินอาหารเป็นไปอย่างช้าๆ หรือที่เราเรียกสูตรตำรับว่า ‘ยาออกฤทธิ์เนิ่น/ยาออกฤทธิ์ได้นาน (Sustained release)’

สำหรับบทความนี้ จะขอกล่าวคุณประโยชน์ของไฮโปรเมลโลสในแง่เภสัชภัณฑ์เท่านั้น, และในประเทศไทยเราจะรู้จัก’ไฮโปรเมลโลส’ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาหยอดตา หรือที่เรียกว่า ‘น้ำตาเทียม’ ดังนั้นบทความนี้จะกล่าวถึงเภสัชภัณฑ์นี้เฉพาะที่เป็น ‘ยาหยอดตา’ เท่านั้น

ไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เฮชพีเอ็มซี

 

ยาไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้เป็นสารหล่อลื่นคล้ายน้ำตาเทียม ช่วยลดอาการระคายเคืองของตา บรรเทาอาการตาแห้ง
  • เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับยาเพื่อทำให้การตอกขึ้นรูปเม็ดยาเป็นไปได้ง่าย
  • ช่วยชะลอการปลดปล่อยตัวยาในระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดการออกฤทธิ์แบบค่อยเป็นค่อยไป/ออกฤทธิ์เนิ่น และมีเวลาของการออกฤทธิ์นานยิ่งขึ้น ส่งผลให้ลดความถี่ของการรับประทานยาในสูตรตำรับนั้นๆ

ไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสมีกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้

ก. สำหรับยาหยอดตา:

  • ยาไฮโปรเมลโลส จะะทำตัวเป็นฟิล์มบางๆที่เคลือบกระจกตาช่วยหล่อลื่นและป้องกันการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้นกับลูกตา
  • ใช้หยอดตาในขณะทำหัตถการของตาโดยจักษุแพทย์

ข. สำหรับสูตรตำรับยาเม็ด-แคปซูลชนิดรับประทาน:

  • สารไฮโปรเมลโลสจะทำตัวเป็นสารยึดเกาะในกระบวนการผลิตยาเม็ด/แคปซูล ทำให้ผงยาตอกเป็นเม็ดง่ายขึ้นหรือผงยาที่จะขึ้นรูปให้เป็นแท่งแกรนูลได้ง่าย และสะดวกต่อการบรรจุลงในแคปซูล
  • ช่วยจำกัดเวลาในการปลดปล่อยตัวยาของสูตรตำรับยาเม็ด/แคปซูลชนิดรับประทาน โดยยาจะค่อยๆดูดซึมน้ำที่ดื่มพร้อมกับการรับประทานยา และเกิดการฟอร์มตัวของสารไฮโปรเมลโลสจนมีลักษณะหนืดข้นอย่างพอเหมาะ พร้อมกับยึดเกาะตัวยาที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร, จากนั้นจะค่อยๆปลดปล่อยตัวยาทีละน้อย, จึงทำให้การออกฤทธิ์ของยานานขึ้น

ไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาหยอดตาไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสมีรูปแบบการจัดจำหน่าย  เช่น     

  • ยาหยอดตาที่มีความเข้มข้นของยาไฮโปรเมลโลส/Hypromellose 2% (2 กรัม/100 มิลลิลิตร)
  • ยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของยาไฮโปรเมลโลสร่วมกับตัวยาอื่นๆ เช่น
    • Hypromellose3% + Carbomer (สารโพลีเมอร์ชนิดหนึ่ง) 0.22%
    • Hypromellose5% + Benzalkonium chloride (สารกันเสียในยาหยอดตา) 0.015%
    • Hypromellose3% + Dextran70 (สารหล่อลื่นตา) 0.1% + Polyquad(สารกันเสียในยาหยอดตา) 0.001%
    • Hypromellose 0.3% + Dextran70 (สารหล่อลื่นตา) 0.1%

ไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาหยอดตาไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลส มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา  เช่น     

  • ผู้ใหญ่: เช่น หยอดตาครั้งละ 1 - 2 หยดวันละ 3 ครั้ง หรือตามความต้องการ หรือหยอดยาตามคำสั่งของแพทย์
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดถึงผลของยานี้ในเด็กทั้งผลทางการรักษาและผลข้างเคียง ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

 *****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาหยอดตาไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/ หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาหยอดตาไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?

หากลืมหยอดตาด้วยยาหยอดตาไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลส สามารถหยอดตาเมื่อ นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการหยอดตาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาหยอดตาไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจทำให้มีอาการตาพร่าบ้างเล็กน้อย หรือรบกวนการมองเห็นในช่วงที่หยอดตา
  • สำหรับผู้ป่วยบางรายหรือน้อยราย ที่อาจพบอาการปวด และ มีภาวะบวมแดงของตาเกิดขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้ไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดตาไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลส เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไฮโปรเมลโลส หรือ แพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับ เช่น แพ้สารกันเสีย
  • *หลังการหยอดตาด้วยยานี้หากพบอาการปวดแสบ ระคายเคือง บวมแดงในตา หรือมีอาการ ปวดหัวร่วมด้วย ให้หยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
  • ห้ามผู้ป่วยขับขี่ยวดยานพาหนะหรือต้องทำงานกับเครื่องจักรหลังหยอดตาด้วยยานี้หากพบอาการตาพร่า การมองภาพไม่ชัดเจน ควรรอให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติก่อน
  • หากใช้ยาหยอดตานี้ ร่วมกับ ยาหยอดตาชนิดอื่น ควรเว้นระยะเวลาห่างกันประมาณ 15 นาที
  • หลีกเลี่ยงการหยอดตาด้วยยานี้พร้อมกับการใส่คอนแทคเลนส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสูตร ตำรับที่มีส่วนผสมของ Benzalkonium chloride
  • ห้ามใช้ยานี้ที่เปิดขวดแล้วเกิน 1 เดือน และหลังหยอดตาควรปิดขวดยาให้มิดชิดเพื่อป้อง กันการปนเปื้อนจากสภาวะแวดล้อมภายนอก
  • การใช้ยาหยอดตาของสูตรตำรับไฮโปรเมลโลสกับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ยังมิได้มีการระบุการใช้อย่างเป็นทางการในทางคลินิก หากต้องการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของจักษุแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไฮโปรเมลโลส) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความ เรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากยาไฮโปรเมลโลสที่ใช้เป็นยาหยอดตา เป็นเภสัชภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะที่ จึงไม่ค่อยก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษาไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสอย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียมที่รวมถึงยาหยอดตาไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลส  เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาหยอดตาไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลส  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Genteal (เจนเทีย) Alcon
Genteal Gel (เจนเทีย เจล) Alcon
Lac-Oph (แลคออฟ) Seng Thai
Natear (เนเทีย) Silom Medical
Opsar Tears (ออฟซ่าเทียร์) Charoon Bhesaj
Opsil Tears (ออฟซิลเทียร์) Silom Medical
Optal-Tears (ออฟตัลลเทียร์) Olan-Kemed
Tears Naturale Free (เทียร์เนเชอเรลฟรี) Alcon
Tears Naturale II (เทียร์เนเชอเรล) Alcon
Vitalux Plus (ไวทาลัค พลัส) Alcon

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=hypromellose&page=0    [2023,April29]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Hypromellose  [2023,April29]
  3. https://www.drugs.com/cons/hypromellose-ophthalmic.html    [2023,April29]
  4. https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.457.pdf    [2023,April29]
  5. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-32846/artificial-tears-hypromellose/details#side-effects   [2023,April29]
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/22705 [2023,April29]