เอ็กซ์เรย์ขากรรไกรกับภาวะกระดูกพรุน

โดยทั่วไป โครงสร้างกระดูกคือกุญแจสำคัญนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงของกระดูกหัก (Fracture) [รวมทั้งกระดูกพรุน] เมื่อเร็วๆ นี้ วารสารกระดูก (Bone) ได้รายงานผลการศึกษาวิจัยว่า การถ่ายเอ็กเรย์ฟันเป็นประจำสามารถช่วยสตรีค้นพบความเสี่ยงสูงจากกระดูกหักเมื่อมีอายุมากขึ้นได้

การศึกษาวิจัยนี้ ได้วิเคราะห์ความเสี่ยงด้านกระดูกหัก ในหมู่สตรีชาวสวีเดนในเมือง Gothenburg จำนวน 917 ราย ที่มีอายุระหว่าง 38 ปี และ 54 ปี ผู้รับการศึกษา (Subject) เข้ารับการถ่ายเอ็กซ์เรย์ภาพฟันทั้งหมดที่เรียกว่า Panoramic X-ray ในปี พ.ศ. 2511 และปี พ.ศ. 2523

การศึกษาวิจัยนี้แบ่งเป็น 3 ช่วง การวิเคราะห์ช่วงแรกเป็นเวลายาวนาน 12 ปี ในการติดตามผล โดยให้ผู้รับการศึกษารายงานผลเอง ในช่วงที่สองเป็นเวลายาวนาน 26 ปี ในการติดตามผลจากโรงพยาบาล และช่วงสุดท้าย เป็นการรวมผลของ 2 ช่วงแรก รวมทั้งสิ้น 38 ปี

ตามปรกติ รูปแบบความหนาแน่นของมวลกระดูกขากรรไกรล่าง (Mandibular trabeculation) ได้รับการแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ “หนาแน่น” (Dense) “เบาบาง” (Sparse) หรือ “ลูกผสม” (Mixed) ของ “หนาแน่น” และ “เบาบาง” คำว่า “Dense” นั้นถือว่าเป็นรูปแบบความหนาแน่นตามปรกติ ส่วนคำว่า “Sparse” ถือว่า เป็นรูปแบบของกระดูกบาง (Osteopenia) หรือมีมวลต่ำกว่าปรกติ

ในภาพรวม การศึกษาวิจัยนี้พบว่า จำนวนผู้รับการศึกษามีกระดูกหัก 222 ราย ระหว่างปี พ.ศ. 2511 ถึงปี พ.ศ. 2549 [38 ปี] ในขณะที่ 18.2% ของสตรีที่ได้รับการประเมินครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ถึง ปี พ.ศ.2523 [12 ปี] และ 27.6% ของสตรีที่ได้รับการประเมินครั้งที่สอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ถึง ปี พ.ศ. 2549 [26 ปี]นั้น มีรูปแบบกระดูกขากรรไกรล่างที่ “เบาบาง” หรือความหนาแน่นต่ำกว่าปรกติ นอกจากนี้

การศึกษาวิจัยนี้ยังพบว่า สตรีเหล่านี้ [รูปแบบกระดูกขากรรไกรล่าง “เบาบาง”] มีความเสี่ยงของกระดูกหักสูงกว่ากรณีรูปแบบกระดูกขากรรไกรล่าง “ลูกผสม” เกือบ 3 เท่าตัว

จึงอาจสรุปได้ว่า รูปแบบความ “หนาแน่น” ของกระดูกขากรรไกรล่าง อาจมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่ำของการมีกระดูกหัก ในขณะที่ รูปแบบความ “เบาบาง” ของกระดูกขากรรไกรล่าง อาจมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงสูงของการมีกระดูกหัก

ประมาณ 73% ของกระดูกหัก เกิดขึ้นในสตรีที่ได้รับการทดสอบ แล้วว่าเป็นโรคกระดูกพรุน คงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มขึ้น เพื่อกำหนดว่า รูปแบบกระดูกขากรรไกรล่าง เป็นตัวพยากรณ์กระดูกหักได้ดีกว่า เครื่องตรวจวัดความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก หรือมวลกระดูก (Bone-mineral-density) หรือไม่

ข้อพึงระวัง: การถ่ายเอ็กซ์เรย์ภาพฟันทั้งหมด (Panoramic X-ray) อาจแสดงไม่ชัดเจนถึงรายละเอียดของรูปแบบกระดูก เมื่อเปรียบเทียบกับการถ่ายเอ็กซ์เรย์เฉพาะภายในช่องปาก (Intraoral X-rays)

ผลจากการศึกษาวิจัยนี้ แสดงว่า การประเมินโครงสร้างมวลกระดูกขากรรไกรล่าง ซึ่งสามารถกระทำได้ที่คลินิกทันตกรรม และทันตแพทย์ที่ถ่ายเอ็กเรย์ฟัน สามารถช่วยสตรีค้นพบความเสี่ยงสูงจากกระดูกหัก ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นครั้งแรก

แหล่งข้อมูล:

  1. Jaw X-rays and osteoporosis. http://online.wsj.com/article/SB10001424052970203687504577004131120505396.html [2011, November 13].
  2. A prospective study of mandibular trabecular bone to predict fracture incidence in women: A low-cost screening tool in the dental clinic. http://www.thebonejournal.com/article/PIIS8756328211010775/abstract?rss=yes [2011, November 13].