เอกซเรย์เต้านมฟรี ผู้มีปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ปัจจัยที่ใช้ในการพยากรณ์โรครวมถึง ระยะโรค (Stage) เช่น ขนาดของเนื้องอก บริเวณที่เป็นโรค การลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือส่วนอื่นของร่างกาย และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง (Grade) โอกาสกลับมาเป็นซ้ำของโรค อายุและสุขภาพของผู้ป่วย

การพยากรณ์โรคในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว ทำได้แม่นยำกว่าผู้หญิงที่มีอายุน้อยซึ่งมีปัจจัยร่วมอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น อยู่ระหว่างการให้นมลูกทำให้ไม่ทันสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเต้านม ดังนั้นเมื่อตรวจวิเคราะห์ผู้หญิงเหล่านี้ จึงมักเป็นมะเร็งในระยะที่ลุกลามไปแล้ว และอาจมีปัจจัยทางชีวภาพที่ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อโอกาสกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีอายุน้อย

การวิเคราะห์โรคมะเร็ง อาการที่เป็น และการรักษา อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจของผู้ป่วยได้อย่างร้ายแรง ในโรงพยาบาลใหญๆ มักจะมีการจัดตั้งกลุ่มช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งในการรับมือกับโรคดังกล่าว และมีทัศนคติที่ดีในฐานะผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง เช่น เรื่องปัญหาทางกายวิภาคที่เกิดขึ้นภายหลังการรักษา เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมไม่ได้มีประสบการณ์การเจ็บป่วยเหมือนกันทั้งหมด ปัจจัยด้านอายุมีผลกระทบสำคัญต่อการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม ผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนอาจต้องประสบกับภาวะประจำเดือนหมดก่อนวัย ทั้งนี้เนื่องจากการให้เคมีบำบัดหรือการใช้ยาต้านฮอร์โมน มีผลกระทบต่อการทำงานของรังไข่

มะเร็งเต้านมทั่วโลกคิดเป็นร้อยละ 22.9 ของมะเร็งทั้งหมดในผู้หญิง ในปี ค.ศ. 2008 มะเร็งเต้านมได้คร่าชีวิตผู้หญิงทั่วโลกจำนวน 458,503 คน อัตราการเกิดมะเร็งเต้านมแตกต่างกันไปทั่วโลก กล่าวคือในประเทศที่มีการพัฒนามากมีอัตราการเป็นมะเร็งเต้านมสูง ในขณะที่ประเทศที่มีการพัฒนาน้อยมีอัตราการเป็นมะเร็งเต้านมต่ำ

ดังเห็นได้จากสถิติในผู้หญิงจำนวน 100,000 คน มีคนเป็นมะเร็งเต้านม 18 คนในเอเชียตะวันออก 28 คนในแอฟริกาเหนือและเอเชียตะวันตก 42 คนในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง 49 คนในยุโรปตะวันออก 78 คนในยุโรปตะวันตก และ 90 คนในอเมริกาเหนือ ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้พอๆ กับผู้หญิงอื่นที่อายุใกล้เคียงกัน

การวินิจฉัยโรคในหญิงตั้งครรภ์ทำได้ยาก เพราะอาการไม่สบายต่างๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับอาการของหญิงตั้งครรภ์โดยทั่วไป ดังนั้นมะเร็งส่วนใหญ่ที่พบจึงอยู่ในระยะที่ลุกลามไปแล้ว การตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI = Magnetic resonance imaging) หรือซีทีสแกน (CT= Computed Tomography Scan) หรือ อัลตราซาวนด์ (Ultrasound) และการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) อาจทำได้ถ้ามีการป้องกันทารกในครรภ์ที่เพียงพอ แต่การตรวจด้วย PET scan (PET = Positron emission tomography) นั้นไม่ควรทำ

วิธีการรักษาในหญิงตั้งครรภ์ก็เหมือนกับการรักษาในผู้หญิงทั่วไป แต่มักหลีกเลี่ยงการฉายรังสี บางกรณีหากตรวจพบในหญิงใกล้คลอดอาจมีการเลื่อนการรักษาออกไปโดยรอจนกว่าทารกจะคลอด การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยระหว่างการตั้งครรภ์ แต่การให้เคมีบำบัดในระหว่างการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก อาจเพิ่มความเสี่ยงของการที่ทารกพิการโดยกำเนิด (Birth defects) และการแท้งได้

การฉายรังสีที่เต้านมด้านที่เป็นโรค อาจทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปได้ยาก เพราะระหว่างนั้น เต้านมด้านนั้นจะผลิตน้ำนมได้น้อยลงและอาจเพิ่มความเสี่ยงของเต้านมอักเสบ เช่นเดียวกันการให้เคมีบำบัดภายหลังที่ทารกคลอดแล้ว อาจทำให้ยาเคมีผ่านไปสู่ตัวทารกโดยทางนมแม่ได้ ซึ่งเป็นผลร้ายต่อทารก

แหล่งข้อมูล:

  1. Breast cancer. http://en.wikipedia.org/wiki/Breast_cancer [2012, May 18].