เอ็กซเรย์เต้านมฟรี ผู้มีปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม (ตอนที่ 2)

อาการพบเป็นก้อนเนื้อที่เต้านมนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งเต้านมทั้งหมด น้อยกว่าร้อยละ 20 ของก้อนเนื้อที่เต้านมเป็นเนื้อร้าย ส่วนที่เหลือมักเป็นอาการของเต้านมที่ผิดปกติ เช่น เต้านมอักเสบ (Mastitis) และการมีเนื้องอกปกติที่เต้านม (Fibroadenoma) อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยและแพทย์ควรตระหนักถึงอาการเหล่านั้น เพราะมะเร็งเต้านมมีโอกาสเป็นได้ในทุกวัย

ปัจจัยเสี่ยงเบื้องต้นของมะเร็งเต้านมก็คือ เพศหญิง อายุ การไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ระดับฮอร์โมนที่สูง เชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ และการขาดธาตุอาหารไอโอดีน นอกจากนี้ การสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านม ยิ่งสูบมากหรือสูบตั้งแต่อายุยังน้อย ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้น

บทวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ระบุว่า ปัจจัยด้านอาหารและพฤติกรรมอื่น อาจมีผลต่อการเป็นมะเร็งเต้านม อาทิ อาหารที่มีไขมันสูง การดื่มแอลกอฮอล์ โรคอ้วน (Obesity) และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ที่กระทบด้วย เช่น การสูบบุหรี่ การฉายรังสี การได้รับสารบางชนิดที่มีผลต่อการทำงานของฮอร์โมน (Endocrine disruptors) และการทำงานเป็นกะ (Shiftwork) แม้ว่ารังสีจากการเอ็กซเรย์เต้านม (Mammogram) จะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม แต่การสะสมของรังสีอาจเป็นต้นเหตุของมะเร็งได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความเสี่ยงด้านประชากรศาสตร์และด้านประวัติการรักษา ซึ่งรวมถึงกรณีผู้หญิงที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งจะมีปัจจัยความเสี่ยงเพิ่มในการเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างหนึ่ง เรียกว่า Second breast cancer (การเป็นมะเร็งเต้านมครั้งที่ 2) และกรณีผู้หญิงที่มีประวัติครอบครัวว่ามารดา พี่น้อง และลูกสาว เป็นมะเร็งเต้านม

ปัจจัยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากพบว่าญาติใกล้ชิด 2 คนเป็นมะเร็งเต้านม หรือ มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นอีก หากเขาเหล่านั้นเป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 40 ปี นอกจากนี้ยังมีบทวิจัยของออสเตรเลียที่ระบุว่าการมีญาติเป็นมะเร็งเต้านม (ไม่ว่าทางฝ่ายมารดาหรือบิดา) อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งในรูปแบบอื่นรวมถึงมะเร็งสมองและมะเร็งปอด

แม้ว่า การตรวจคัดกรอง (Screen) โรคจะเป็นประโยชน์ในการบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ของโรคมะเร็ง แต่ก็ต้องมีการใช้วิธีการทดสอบอื่นเพื่อให้แน่ใจว่าก้อนเนื้อที่เห็นนั้นเป็นเนื้อร้าย หรือเป็นถุงน้ำธรรมดา (Simple cyst) นอกเหนือจากการเอ็กซเรย์เต้านม บ่อยครั้งจะใช้การตรวจโดยอัลตราซาวน์ (Ultrasound) หรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI = Magnetic resonance imaging) เพื่อการวิเคราะห์โรคและหาวิธีการรักษาที่ดีที่สุด

หากการตรวจด้วยเครื่องมือดังกล่าว ไม่สามารถบอกได้ชัดว่าก้อนนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ ก็อาจมีการทดสอบด้วยวิธีการใช้เข็มดูดเอาเซลล์ออกไปตรวจ (Fine needle aspiration and cytology - FNAC) หรือการตัดชิ้นเนื้อส่วนสำคัญออก (Core biopsy) หรือการตัดชิ้นเนื้อออกทั้งก้อน (Excisional biopsy) หรือการตัดชิ้นเนื้อด้วยวิธีสูญญากาศ (Vacuum-assisted breast biopsy – VAB)

การแบ่งระยะของมะเร็งเต้านมตาม TNM system (= Tumor/Nodes/Metastases) แบ่งตามขนาดของเนื้องอก การลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือการลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย มะเร็งระยะ T1 ถึง T3 เป็นมะเร็งที่ยังลุกลามอยู่ในเต้านมหรือต่อมน้ำเหลือง ในขณะที่มะเร็งระยะ T4 เป็นมะเร็งที่ได้แพร่กระจายออกไปยังส่วนอื่นแล้ว

เซลล์มะเร็งเต้านมมีตัวรับ (Receptor) ทางเคมีที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนอยู่หลายตัว ที่สำคัญๆ ได้แก่ ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน (ER = Estrogen receptor) ตัวรับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (PR = Progesterone receptor) และตัวทดสอบโปรตีนตัวหนึ่งซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า HER2 (= Human epidermal growth factor receptor 2) ตัวรับเหล่านี้ช่วยในการวิเคราะห์หาวิธีการรักษาได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Breast cancer. http://en.wikipedia.org/wiki/Breast_cancer [2012, May 16].