เออร์โกเจนิก (Ergogenic drug)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา/สารเออร์โกเจนิก(Ergogenic drugs หรือ Ergogenic aids) เป็นยา/สารเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย(Performance-enhancing substances) ที่มักจะพบเห็นการใช้ในกลุ่มนักกีฬาเพื่อทำให้เกิดความอดทนต่อการออกกำลังกาย ในด้านการตลาดมักจะผลิตออกมาในรูปแบบอาหารเสริม/ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และพบได้บ้าง ในรูปแบบยาแผนปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นการใช้สารกลุ่มเออร์โกเจนิกทั้งในนักกีฬาชายและนักกีฬาหญิง ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ค้นหายา/สารเพิ่มสมรรถนะมีมาตั้งแต่อดีตนับเป็นพันปี ด้วยความเชื่อว่าผู้ที่แข็งแรงจะได้เปรียบ หรือที่เคยได้ยินคำพูดที่ว่า ผู้ที่แข็งแรงกว่ามีโอกาสอยู่รอดได้นานกว่า ความใฝ่ฝันของนักกีฬาส่วนใหญ่ คือ การเข้าสู่สนามระดับโลกและต้องการชัยชนะ แนวคิดเหล่านี้เป็นจุดกำเนิดให้ก่อกำเนิดยาหรืออาหารที่บำรุงสมรรถนะทางร่างกายของนักกีฬาตามมา ซึ่งมีทั้งการเลือกใช้สารที่ผิดกฎหมายหรืออาหารเสริม/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาว่าสามารถเพิ่มสมรรถนะของร่างกายหลายชื่อการค้าที่ถูกวางจำหน่าย และมียอดจำหน่ายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล

อนึ่ง Ergogenic มาจากภาษากรีก หมายถึง การเพิ่มขึ้นของงาน

ประโยชน์ของเออร์โกเจนิกมีอะไรบ้าง?

เออร์โกเจนิก

สารประเภทเออร์โกเจนิกมักจะถูกระบุสรรพคุณในเรื่องทำให้สมองมีความตื่นตัว มีความกระตือรือร้นและรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ผลทางร่างกายทำให้เกิดพละกำลังที่ มีมากขึ้น ก่อให้เกิดความอดทนได้ยาวนานขณะที่มีการออกกำลังกาย แต่หลายครั้งที่ ผู้บริโภคก็มีความรู้สึกแข็งแรงไปเอง ทั้งๆที่สารเออร์โกเจนิกบางตัวมิได้มีสรรพคุณ เพิ่มกำลังให้แก่ผู้ที่ได้รับแต่ประการใด เราอาจเรียกความรู้สึกแบบนี้ว่า “Strong placebo effect” โดย Placebo มาจากภาษา ลาติน หมายถึง ไม่มีการออกฤทธิ์

ยาหรือผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่จัดเป็นสารประเภทเออร์โกเจนิก?

ผู้เชี่ยวชาญได้พยายามรวบรวมกลุ่มยาหรือสารประเภทเออร์โกเจนิกจากอดีตจนถึงปัจจุบันเท่าที่พอจะสรุปได้มีดังนี้

  • สารสกัดจากต่อมหมวกไต(Adrenal extract/dried adrenal gland) ซึ่งผลิต มาจากต่อมหมวกไตของสัตว์ประเภท วัว สุกร และแกะ วัตถุประสงค์ คือ ความต้องการสเตียรอยด์ฮอร์โมน(Steroid hormone)จากสัตว์ และนำมาใช้กับมนุษย์
  • กรดอะมิโน(Amino acids) ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานของอาหารประเภทโปรตีน ใช้ในการสร้างมวลกล้ามเนื้อของนักกีฬา
  • เกสรผึ้ง(Bee pollen) เป็นเกสรตัวผู้จากดอกไม้ที่ผึ้งงานจะนำมาใช้เลี้ยงผึ้งตัวอ่อนในรังเกสรผึ้ง ซึ่งจะอุดมไปด้วยกรดอะมิโนและน้ำผึ้งที่ปนเข้ามาเพื่อใช้เป็นแหล่ง พลังงาน นอกจากนี้บางผลิตภัณฑ์ของเกสรผึ้งที่มีวางจำหน่าย ก็ได้มีการกล่าวถึง สรรพคุณในทางยาที่สามารถต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยเพิ่มความ แข็งแรงและความสูงของร่างกาย แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน
  • กาแฟ/กาเฟอีน(Caffeine) มีให้เลือกรับประทานทั่วโลก ส่วนมากจะวางจำหน่ายในรูปแบบของอาหารประเภทเครื่องดื่มแต่กาแฟ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยาจะมีสัดส่วนการตลาดที่น้อยมาก กาแฟจะกระตุ้นสมองให้มีความตื่นตัว รู้สึกสดชื่น จัดว่าเป็นสารเพิ่มสมรรถนะที่นักกีฬาและประชาชนเข้าถึงได้ง่ายที่สุดก็ว่าได้
  • คาร์นิทีน(Carnitine) เป็นสารชีวะโมเลกุลที่สังเคราะห์มาจากกรดอะมิโนในร่างกาย มีการกล่าวถึงแอล-คาร์นิทีน(L-carnitine) ว่าเป็นสารที่ช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกายและมีความสำคัญต่อการทำงานของหัวใจและสมอง การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ตลอดจนกระทั่งกระบวนการทางเคมีหลายอย่างของร่างกาย และเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์คาร์นิทีนในรูปแบบอาหารเสริมมากกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยา
  • โครเมี่ยม(Chromium) มักพบเห็นการจัดจำหน่ายในลักษณะอาหารเสริมโดยมีองค์ประกอบของโครเมียมที่ใช้อ้างอิงว่าเป็นธาตุที่ทำให้เซลล์ในร่างกายสามารถ เปลี่ยนสารอาหารอย่าง คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ไปเป็นพลังงานได้
  • Creatine เป็นกรดอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ช่วยทำให้ร่างกายนำสารต้นกำเนิดพลังงานอย่าง ATP (Adenosine triphosphate) มาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเซลล์ในร่างกายได้รับพลังงานจาก ATP จะทำให้สมรรถนะการทำงานดีขึ้น มีกำลังและทำให้อาการอ่อนเพลียลดน้อยลง
  • Bupropion ใช้เป็นยาต้านเศร้า แต่ก็มีกลไกเพิ่มกำลังให้ร่างกายในช่วงระยะสั้นๆด้วยตัวยามีฤทธิ์ยับยั้งการดูดเก็บกลับเข้าสู่สมองของสารสื่อประสาทอย่าง Norepinephrine และ Dopamine หรือที่เรียกว่ายากลุ่ม Norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor ซึ่งช่วยปกป้องผู้ป่วยจากความรู้สึกซึมเศร้า ยานี้ยังส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และมีความสอดคล้องต่อการเผาผลาญอาหารของร่างกาย จึงช่วยลดน้ำหนักได้ระดับหนึ่ง
  • โสม(Ginseng) เป็นพืชที่โตช้าและได้รับความนิยมเป็นเวลายาวนาน สรรพคุณในด้านยาสมุนไพรพบว่า โสมในสายพันธ์ที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อนำมาจำหน่าย มีสรรพคุณช่วยในเรื่องความจำ ทำลายความอ่อนเพลีย บำบัดอาการของหญิงวัยหมดประจำเดือน และเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย
  • กลูโคซามีน(Glucosamine) เป็นสารชีวโมเลกุลมีโครงสร้างของน้ำตาลและหมู่ของกรดอะมิโนมาประกอบกัน(Amino sugar) ต่างประเทศจะมีการจำหน่าย กลูโคซามีนในรูปแบบของอาหารเสริม แต่ในประเทศไทยจะพบเห็นในลักษณะเป็นยาที่ใช้บำรุงไขข้อ/น้ำหล่อลื่นกระดูก โดยตัวมันจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเบาะรองรับการเสียดสีของกระดูกระหว่างข้อต่อต่างๆ
  • อาหารเสริมประเภทโปรตีนผง(Protein powder) จัดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ใช้เสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อร่างกาย พบเห็นการจัดจำหน่ายได้ทั้งในและนอกประเทศ

การได้รับข่าวสาร ข้อมูลของ ผลิตภัณฑ์ สารเพิ่มสมรรถภาพ ต่างๆนั้น ผู้บริโภคควรใช้วิจารณญาณและข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์มาประกอบการพิจารณา ไม่ควรหลงเชื่อคำกล่าวอ้างที่บอกต่อกันมาอย่างเดียว ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มสมรรถนะ/สารเพิ่มสมรรถภาพต่างๆได้จากผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักโภชนาการ แพทย์ด้านอายุรวัฒน์ หรือเภสัชกร ได้ทั่วไป

ยาเออร์โกเจนิกมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

มุมมองของผลิตภัณฑ์เออร์โกเจนิกหลายชนิดมีคุณลักษณะที่จำเพาะเจาะจงสิ่งที่ผู้บริโภคพึงระวัง ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง(ผลไม่พึงประสงค์จากยา/สารเออร์โกเจนิก)ที่อาจเกิดขึ้นต่อการทำงาน ของตับ และของไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่ช่วยกำจัดและทำลายของเสีย การบริโภคผลิตภัณฑ์โปรตีน/สารเออร์โกเจนิกมากจนเกินไป จะทำให้ไตทำงานหนักเพื่อกำจัดโปรตีน/สารเออร์โกเจนิกส่วนเกินออกจากร่างกาย หรือไม่เออร์โกเจนิกก็อาจส่งผลต่อหัวใจและสมอง อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์กาแฟ/กาเฟอีนสามารถทำให้นอนไม่หลับ และหัวใจเต้นเร็ว

นอกจากนี้ผู้บริโภคที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เออร์โกเจนิกสามารถแสดงออกทางผิวหนัง อาทิ เกิดผื่นคันหรือมีผลกระทบต่อระบบการหายใจ เช่น เกิดอาการหายใจขัด/หายใจลำบาก แน่นอึดอัด/แน่นหน้าอก หัวใจล้มเหลว หรือไม่ก็มีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง ตลอดจนกระทั่งพบอาการไข้ที่อาจเกิดขึ้นได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์เออร์โกเจนิก ผู้บริโภคต้องใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวดัวยความระมัดระวัง ใช้ตรงตามคำแนะ นำของผู้เชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์นั้นๆ และที่สำคัญอีกประการ ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์เออร์โกเจนิกใดๆ ควรต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างถ่องแท้และพิจารณาให้ชัดเจนว่า ตนเองมีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เออร์โกเจนิกชนิดนั้นๆจริงหรือไม่

มีข้อห้าม/ข้อควรระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เออร์โกเจนิกอย่างไร?

มีข้อห้าม/ข้อควรระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เออร์โกเจนิก เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้สาร/ยาเออร์โกเจนิกนั้นๆ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของแต่ละชนิดของสารเออร์โกเจนิก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับสารเพิ่มสมรรถภาพโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • กรณีพบอาการแพ้สารเพิ่มสมรรถภาพ เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยา/แพ้สารนั้นๆ ต้องหยุดใช้สารเพิ่มสมรรถภาพทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยา บาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามใช้สารเพิ่มสมรรถภาพกับ สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร
  • การใช้สารเออร์โกจเนิกในเด็ก ต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • มาพบแพทย์/หรือผู้เชี่ยวชาญ/โรงพยาบาลตามที่นัดหมายทุกครั้งเพื่อทำการตรวจประเมินสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปว่า เหมาะสมและมีความปลอดภัยเพียงใดในการใช้สารเหล่านี้
  • ห้ามแบ่งสารเพิ่มสมรรถภาพที่รวมถึงสารเออร์โกเจนิกให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้สารเพิ่มสมรรถภาพที่รวมถึงสารเออร์โกเจนิกที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บสารเพิ่มสมรรถภาพที่รวมถึงสารเออร์โกเจนิกที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมผลิตภัณฑ์เออร์โกเจนิกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ควรเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เออร์โกเจนิกอย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์สารเออร์โกเจนิก/สารเพิ่มสมรรถภาพแต่ละประเภทตามข้อกำหนดของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่กำกับกับมากับผลิตภัณฑ์ ห้ามเก็บสารเพิ่มสมรรถภาพในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บสารฯให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ควรต้องเก็บผลิตภัณฑ์ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บตัวผลิตภัณฑ์ไว้ในห้องน้ำหรือในรถยนต์

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Performance-enhancing_substance[2017,Dec23]
  2. http://www.sciencedirect.com/topics/medicine-and-dentistry/ergogenic-aid[2017,Dec23]
  3. https://psychcentral.com/news/2017/09/01/who-is-more-likely-to-experience-a-strong-placebo-effect/125423.html[2017,Dec23]
  4. https://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-941-adrenal%20extract.aspx?activeingredientid=941&activeingredientname=adrenal%20extract[2017,Dec23]
  5. http://www.mercola.com/article/diet/bee_pollen.html[2017,Dec23]
  6. https://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-1026-l-carnitine.aspx?activeingredientid=1026[2017,Dec23]
  7. https://www.webmd.com/digestive-disorders/tc/chromium-topic-overview#1[2017,Dec23]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Ginseng[2017,Dec23]