เออร์บีซาร์แทน (Irbesartan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเออร์บีซาร์แทน(Irbesartan) เป็นยาในกลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Angiotensin II receptor antagonist) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ถูกพัฒนาโดยแผนกวิจัยของบริษัทยา Sanofi Aventis ประเทศฝรั่งเศส ยานี้ยังอาจช่วยชะลอความเสื่อมของไต ในผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Type diabetes) ได้ด้วย รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน

ยาเออร์บีซาร์แทนสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร และมีอัตราการกระจายตัวในกระแสเลือดประมาน 60–80% ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประมาณ 96% การรับประทานยานี้เพียง 1 ครั้งต่อวันจะทำให้ยาเออร์บีซาร์แทนอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 11–15 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ การรับประทานยานี้ต่อเนื่อง 3 วันขึ้นไป สามารถทำให้ยาเออร์บีซาร์แทนในกระแสเลือดมีความเข้มข้นที่เพียงพอต่อการเกิดฤทธิ์ในการควบคุมความดันโลหิตสูงให้เป็นปกติได้

จากการศึกษาทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยาเออร์บีซาร์แทนกับเด็กโดยเฉพาะที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปีลงมา เราจึงไม่พบข้อบ่งใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก และยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้กับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยจะก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้ ส่วนการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรพบว่า ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์(Empirical Research,การศึกษาทางวิทยาศาตร์ที่ใช้หลักในการติดตามผลการรักษาที่จะเกิดกับผู้ป่วย)ในการศึกษาหรือยืนยันความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อทารก จึงถือเป็นข้อจำกัดการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้เช่นกัน

ข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนที่จะใช้ยาเออร์บีซาร์แทน อาทิ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเออร์บีซาร์แทน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไต ผู้ที่อยู่ในภาวะขาดน้ำ มีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง หรือมีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ยาอื่นๆหลายรายการหากใช้ร่วมกับยาเออร์บีซาร์แทน อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา ดังนั้นผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่า มียาประเภทใดที่ใช้อยู่ก่อน โดยเฉพาะ กลุ่มยาขับปัสสาวะ กลุ่มยา ACE inhibitor
  • การใช้ยาเออร์บีซาร์แทน จะต้องรับประทานยาตรงเวลาเป็นประจำและต่อเนื่องตามแพทย์ผู้รักษาสั่ง จึงจะบำบัดอาการความดันโลหิตสูงได้ดี ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยานี้เอง โดยมิได้ปรึกษาแพทย์

ผู้ที่ได้รับยาเออร์บีซาร์แทน สามารถพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางประการได้เหมือนกับยาอื่นๆโดยทั่วไป เช่น คลื่นไส้ รู้สึกไม่สะบายในกระเพาะอาหารและลำไส้ ในกรณีที่มีอาการวิงเวียนคล้ายจะเป็นลมหลังรับประทานยานี้ จะต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หรือบางกรณีหากพบว่าเกิดอาการบวมตามใบหน้า หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก กลืนลำบาก กรณีเช่นนี้ควรรีบเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควรได้รับการวัดความดันโลหิตเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล ทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิต ที่รวมถึงยาเออร์บีซาร์แทนที่ใช้อยู่ หากเกิดความผิดปกติ เช่น มีความดันโลหิตต่ำหรือความดันโลหิตไม่ลดลงเลย จะได้ใช้เป็นข้อมูลให้กับแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาต่อไป

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จะต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมาย เพื่อรับการตรวจสภาพความดันโลหิต การทำงานของหัวใจ ระดับสารอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte) ในเลือด รวมถึงเฝ้าระวังสภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)จากยาเออร์บีซาร์แทนที่อาจเกิดขึ้นได้

ยาเออร์บีซาร์แทนจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายานี้มารับประทานเองโดยเด็ดขาด

เออร์บีซาร์แทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เออร์บีซาร์แทน

ยาเออร์บีซาร์แทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือจะใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูงชนิดอื่นในการรักษาก็ได้ แต่ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • รักษาโรคไตในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

เออร์บีซาร์แทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

เนื่องจากยาเออร์บีซาร์แทนเป็นยาในกลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนโกนิสต์(Angiotensin II receptor antagonist) โดยตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์กับตัวรับ (Receptor) ที่อยู่ในผนังหลอดเลือด ซึ่งถูกเรียกว่า AT1 receptor จึงมีผลทำให้สาร Angiotensin II (สารที่สร้างโดยการทำงานระหว่างตับกับไต ในการควบคุมความดันโลหิต) ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ที่ทำให้หลอดเลือดหดตัวได้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ลดการหลั่งฮอร์โมนที่มีผลให้เกิดความดันโลหิตสูง ได้แก่ Aldosterone (ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต) และ Vasopressin (ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง) จากกลไกต่างๆเหล่านี้ จึงก่อให้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เออร์บีซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเออร์บีซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 150 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Irbesartan 150 มิลลิกรัม +

    Hydrochlorothiazide 12.5 มิลลิกรัม/เม็ดม, Irbesartan 300 มิลลิกรัม +

    Hydrochlorothiazide 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด, Irbesartan 300 มิลลิกรัม +

    Hydrochlorothiazide 25 มิลลิกรัม/เม็ด

เออร์บีซาร์แทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเออร์บีซาร์แทนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป: รับประทาน 150 มิลลิกรัม วันละ 1ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน

ข. สำหรับบำบัดโรคไตในผู้ป่วยโรคเบาหวาน:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 150 มิลลิกรัม/วัน และแพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานเป็น 300 มิลลิกรัม/วันได้ โดยขึ้นกับการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วย

* อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือหลัง อาหารก็ได้
  • เด็กและผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีลงมา: ไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยที่ต้องทำการล้างไตด้วยการฟอกโลหิตจากภาวะไตเสื่อม/โรคไตเรื้อรัง แพทย์จะลดขนาดการรับประทานยานี้ลง โดยเริ่มต้นลงมาที่ 75 มิลลิกรัม/วัน
  • *การได้รับยานี้เกินขนาด สังเกตได้จาก อาการ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หรือไม่ก็ช้า การบำบัดรักษา คือ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เพื่อแพทย์พิจารณาทำการล้างท้อง หรือใช้ยาถ่านกัมมันต์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเออร์บีซาร์แทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเออร์บีซาร์แทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเออร์บีซาร์แทน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเออร์บีซาร์แทนให้ตรงเวลา

เออร์บีซาร์แทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเออร์บีซาร์แทนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง น้ำหนักตัวเพิ่ม มีภาวะเกาต์ หิวอาหารบ่อยหรือไม่ก็เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน หรือเกิดภาวะบ้านหมุน การทรงตัวทำได้ลำบาก หูอื้อ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ทางเดินหายใจส่วนบนติดเชื้อ/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ไอ คอหอยอักเสบ/คออักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ มีน้ำมูกคั่ง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง ท้องผูก ท้องอืด ปากแห้ง เป็นแผลในปาก/แผลร้อนใน กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล กระสับกระส่าย ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง เกิดภาวะ Neutropenia (เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ) Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ)
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น เกิดอาการตาพร่า การมองเห็นของลานสายตาผิดปกติ
  • ผลต่อตับ: เช่น มีภาวะดีซ่าน อาจเกิดภาวะตับอักเสบ
  • อื่นๆ: สมรรถภาพทางเพศลดลง

มีข้อควรระวังการใช้เออร์บีซาร์แทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาออร์บีซาร์แทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
  • ห้ามใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตชนิด Renal artery stenosis
  • ห้ามใช้ร่วมกับยา Aliskiren ด้วยจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของไตอย่างรุนแรง และ เกิดความดันโลหิตต่ำ
  • ระวังการใช้ยานี้กับคนชรา/ผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยไตทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาที่มีเกลือโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบ เช่น ยา Potassium citrate Potassium chloride
  • หมั่นตรวจสอบภาวะความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอหลังการใช้ยานี้ ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • หลังการใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล ก่อนนัด
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเออร์บีซาร์แทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เออร์บีซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเออร์บีซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเออร์บีซาร์แทนร่วมกับยา Quinapril ด้วยจะสร้างความเสียหายให้กับไต และทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเออร์บีซาร์แทนร่วมกับยา Spironolactone ด้วยจะทำให้เกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงมากขึ้น
  • การใช้ยาเออร์บีซาร์แทนร่วมกับยา Ibuprofen อาจทำให้ฤทธิ์ของการลดความดันโลหิตของยาเออร์บีซาร์แทนด้อยประสิทธิภาพลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเออร์บีซาร์แทนร่วมกับยา Fentanyl ด้วยจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ วิงเวียน และเป็นลมตามมา

ควรเก็บรักษาเออร์บีซาร์แทนอย่างไร?

ควรเก็บยาเออร์บีซาร์แทน ในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius)ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาที่หมดอายุ

เออร์บีซาร์แทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเออร์บีซาร์แทน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aprovel (อะโพรเวล)sanofi-aventis
Besanta (เบซานทา) Siam Bheasach
Bewel 300 (บีเวล 300)Sriprasit Pharma
CoAprovel (โคอะโพรเวล)sanofi-aventis
Irbenox (เออร์บีนอกซ์)Sandoz
Irbesartan GPO (เออร์บีซาแทน จีพีโอ)GPO
Optima (ออพติมา)M & H Manufacturing
Presolin 150/Presolin 300 (พรีโซลิน 150/พรีโซลิน 300) Unison

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Angiotensin_II_receptor_antagonist#Adverse_effects [2016,Sept17]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Irbesartan [2016,Sept17]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/irbesartan/?type=brief&mtype=generic [2016,Sept17]
  4. https://www.drugs.com/sfx/irbesartan-side-effects.html [2016,Sept17]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/irbesartan-index.html?filter=3&generic_only [2016,Sept17]