เออร์กอต (Ergot)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

กลุ่มสารสกัดจาก ‘เออร์กอต(Ergot)’ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางคลินิก/เป็นยา เช่น ยับยั้งการตกเลือดหลังคลอดบุตรโดยช่วยทำให้มดลูกบีบตัวและมีแรงเบ่งในการคลอด, ใช้รักษาโรคไมเกรน, ยับยั้งภาวะประจำเดือนมามากจนผิดปกติ

เออร์กอต อาจแปลความได้มากกว่า 1 ความหมาย เช่น หมายถึงโรคของธัญพืชที่เกิดจากเชื้อรากลุ่ม Claviceps, หรือสารที่ได้จากเชื้อราซึ่งสามารถนำไปรักษาโรคได้, นักวิทยาศาสตร์ เรียกสารเหล่านี้ว่า เออร์กอต อัลคาลอยด์ (Ergot alkaloids)

สมัยก่อนการได้รับสารประเภทเออร์กอต อัลคาลอยด์ขณะบริโภคขนมปังซึ่งทำจากข้าวไรย์ (Rye) ที่มีการติดเชื้อรานี้จะก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่า “เออร์กอติซึม (Ergotism, อาการที่เกิดจากพิษของ Ergot alkaloid เช่น คลื่นไส้อาเจียน คันตามตัว ปวดหัว ท้องเสีย อาการชัก และเกิดเนื้อเยื่อต่างๆขาดเลือดจากหลอดเลือดหดตัวจนเกิดหลอดเลือดตีบ เช่น สมอง นิ้วมือนิ้วเท้า แขน ขา)” ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเนื้อตายของแขน-ขา เกิดการรบกวนการทำงานของสมองและเป็นเหตุให้ตายได้

จากหลักฐานการศึกษาวิจัย อาจแบ่งอนุพันธุ์ของสารอัลคาลอยด์จากเออร์กอตได้ดังนี้ เช่น

  • Ergotamine และ Ergotaminine: ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) นำมาใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยมีรูปแบบเป็นยาชนิดรับประทาน
  • Ergometrine (Ergonovine) และ Ergometrinine: ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1935 (พ.ศ. 2478) นำมาช่วยเร่งคลอดและยับยั้งภาวะตกเลือดออกหลังคลอด
  • Ergosine และ Ergosinine: ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว
  • Ergocristine และ Ergocristinine: ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) ถูกใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยา LSD โดยนำมาบำบัดอาการทางจิตประสาท ลดอาการปวด และบำบัดผู้ที่ติดสุรา
  • Ergocrytine และ Ergocrytinine: นำมาใช้ผลิตยาแผนปัจจุบันที่มีชื่อสามัญว่า Bromocrip tine (ยารักษาได้หลายโรค เช่น พาร์กินสัน, ปัญหาประจำเดือนผิดปกติ)
  • Ergocornine และ Ergocorninine: อยู่ในช่วงการศึกษาเช่น การยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

เงื่อนไขการเลือกใช้สารเออร์กอตอัลคาลอยด์เพื่อนำมาใช้รักษาทางคลินิก ต้องสัมพันธ์กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาการโรค, อายุของผู้ป่วย, สุขภา, นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงขนาดและระยะ เวลาในการใช้ยาจากสารอัลคาลอยด์ของเออร์กอต, เหล่านี้ล้วนแล้วมีความสำคัญทั้งสิ้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะสามารถบริหารยากลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

เออร์กอตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เออร์กอต-01

ยาเออร์กอตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการปวดหัวจากไมเกรน
  • ป้องกันและรักษาอาการตกเลือดหลังคลอด
  • บำบัดอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ

เออร์กอตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

อนุพันธุ์/สารกลุ่มอัลคาลอยด์ของเออร์กอต/ยาเออร์กอตสามารถออกฤทธิ์ ดังนี้

ก. ต่อหลอดเลือด: โดยทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด ลดภาวการณ์สูญเสียเลือด เช่น อาการเสียเลือดจากการคลอดบุตร, หากเกิดในสมองจะทำให้บรรเทาอาการปวดอันเนื่องจากการขยายตัวของหลอดเลือดเช่นในโรคไมเกรน

ข. ต่อมดลูก: ช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของมดลูกจึงสามารถนำมาใช้ในหัตถการทำคลอด จากกลไกทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้ก่อฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

เออร์กอตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเออร์กอตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน
  • และยาฉีด

เออร์กอตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ทั้งยารับประทานและยาฉีดของยาเออร์กอตจะถูกนำมาใช้ทางคลินิกได้อย่างถูกต้องนั้น ขนาดการบริหารยาของผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเออร์กอต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเออร์กอตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเออร์กอต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เออร์กอตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

สารอัลคาลอยด์จากเออร์กอต/ยาเออร์กอตสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย
  • หูดับ
  • ผื่นคัน
  • หัวใจเต้นช้า หรือไม่ก็ หัวใจเต้นเร็ว

***อนึ่ง การได้รับสารอัลคาลอยด์ของเออร์กอตเป็นปริมาณมากอาจทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อหรือของอวัยวะของร่างกาย เช่น สมอง นิ้วมือ นิ้วเท้า ด้วยการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆมีน้อยลงจากการหดตัวของหลอดเลือด นอกจากนี้ยังอาจพบอาการ ตาพร่า สับสน ขาดสติ มีอาการลมชัก และอาจถึงตายได้ในที่สุด

มีข้อควรระวังการใช้เออร์กอตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเออร์กอต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดตีบตัน, ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง, ผู้ป่วยโรคตับ, โรคไต
  • ห้ามใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดเชื้อ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • ห้ามแบ่งยาให้คนอื่นรับประทาน
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มเออร์กอตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เออร์กอตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเออร์กอตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้สารสกัดของเออร์กอต/ยาเออร์กอต ร่วมกับยากลุ่ม MAOI อาจทำให้เกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยา Ergonovine ร่วมกับยาบางกลุ่ม ด้วยยาเหล่านั้นจะทำให้ฤทธิ์ของยา Ergonovine เพิ่มสูงขึ้นจนอาจเกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เช่น หลอดเลือดตีบ และเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงจนถึงขั้นภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งเป็นอันตรายมาก ยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยาต้านเอชไอวี (เช่นยา Amprenavir, Indinavir, Ritonavir), ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ ยาปฏิชีวนะ (เช่นยา Erythromycin), ยาต้านเชื้อรา (เช่นยา Fluconazole, Ketoconazole, Itraconazole)
  • การใช้ยา Ergotamine ร่วมกับ ยาปฏิชีวนะบางตัวสามารถทำให้ระดับยาของ Ergotamine ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หรือหากอาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะเนื้อตายเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงไม่พอ จนกระทั่งหัวใจหยุดเต้น หากพบอาการผิดปกติต่างๆหลังใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันเช่น ตัวชา ตัวเย็น คลื่นไส้อาเจียน นิ้วมือซีด เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดหัวรุนแรง ฯลฯ ให้หยุดการใช้ยาเหล่านั้นและรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Clarithromycin และ Erythromycin

ควรเก็บรักษาเออร์กอตอย่างไร?

ควรเก็บรักษาเออร์กอต เช่น

  • ยาเออร์กอตชนิดรับประทาน: ให้เก็บภายในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • หากเป็นยาฉีด: ให้เก็บที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส
  • ยาเออร์กอตทุกรูปแบบ/ชนิด:
    • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
    • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือในรถยนต์
    • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เออร์กอตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเออร์กอต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Gynaemine (กายเนมีน) Sriprasit Pharma
Expogin (เอ็กซ์โปกิน) L.B.S.
Metrine (เมทรีน) T P Drug
Avamigran (เอวาไมเกรน) A. Menarini
Cafergot (คาเฟอร์กอท) Amdipharm
Degran (ดีแกรน) Ranbaxy
Ergosia (เออร์โกเซีย) Asian Pharm
Gynaemine (กายเนมีน) Sriprasit Pharma
Hofergot (โฮเฟอร์กอท) Pharmahof
Migana (ไมกานา) T. Man Pharma
Neuramizone (นูรามิโซน) Sriprasit Pharma
Poligot-CF (โพลิกอต-ซีเอฟ) Polipharm
Polygot (โพลีกอต) Pharmasant Lab
Tofago (โทฟาโก) T.O. Chemicals

 

บรรณานุกรม

  1. http://www.davidmoore.org.uk/Sec04_03.htm [2022,July23]
  2. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-431/ergot [2022,July23]
  3. https://www.emedicinehealth.com/migraine_and_cluster_headache_medications/article_em.htm [2022,July23]
  4. https://www.drugs.com/cons/headache-medicine-ergot-derivative-containing-oral-parenteral-rectal.html [2022,July23]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Ergot [2022,July23]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Ergocristine [2022,July23]
  7. https://www.erowid.org/archive/rhodium/chemistry/lsd-buzz.html [2022,July23]
  8. https://academic.oup.com/jnci/article-abstract/48/6/1727/923296?redirectedFrom=fulltext [2022,July23]
  9. https://www.medscape.com/viewarticle/728507_3 [2022,July23]