เอนซาลูตาไมด์ (Enzalutamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอนซาลูตาไมด์(Enzalutamide) เป็นสารประกอบแบบสังเคราะห์ที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ มีฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจน (Non-steroidal antiandrogen/NSAA) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเอนซาลูตาไมด์ เป็นยาชนิดรับประทาน เมื่อตัวยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 97–98% ตัวยาจะถูกตับเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีไปเป็นสาร N-desmethylenzalutamide (สารที่ทำงานเป็นตัวจับฮอร์โมนแอนโดรเจน) ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 8–9 วัน เพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

การรับประทานยาเอนซาลูตาไมด์ต่อเนื่อง จะเกิดการสะสมของตัวยาในกระแสเลือดที่ระดับสูงสุดภายในเวลา 28 วัน ยาเอนซาลูตาไมด์มีข้อบ่งใช้ในบุรุษ ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ตั้งครรภ์ รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน(Testosterone)/ฮอร์โมนกลุ่มแอนโดรเจน จึงสามารถทำให้ทารกได้รับอันตรายได้

ยังมีข้อห้ามใช้ยาเอนซาลูตาไมด์ร่วมกับยาบางชนิดด้วยสามารถทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาเหล่านั้นได้ กลุ่มยาดังกล่าว เช่นยา Alfentanil, Apixaban, Avanafil, Axitinib, Bortezomib, Bosutinib, Cabazitaxel, Crizotinib, Cyclosporine, Dabigatran, Dihydroergotamine, Ergotamine, Fentanyl, Ivacaftor, Lurasidone, Mifepristone, Phenytoin, Pimozide, Boceprevir, Indinavir, Ritonavir, Quinidine, Rilpivirine, Rivaroxaban, Roflumilast, Sirolimus, Tacrolimus, Ticagrelor, Vandetanib

นอกจากนี้ ประวัติการเจ็บป่วยจากบางอาการโรค อาจก่อให้เกิดอาการโรคเหล่านั้นแย่ลง เมื่อมีการใช้ยาเอนซาลูตาไมด์ เช่น โรคตับ โรคไต ผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรคของหลอดเลือด ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางกะโหลกศีรษะ ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งสมอง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน เป็นต้น

สำหรับข้อควรพิจารณาด้านความปลอดภัยของการใช้ยานี้ที่ผู้ป่วยพึงปฏิบัติมีดังนี้ เช่น

  • ระหว่างการใช้ยาเอนซาลูตาไมด์แล้วมีอาการวิงเวียนเกิดขึ้น ให้หลีกเลี่ยง การขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆหรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานของยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ยานี้สามารถกระตุ้นให้มีภาวะลมชักเกิดขึ้นได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเอนซาลูตาไมด์กับผู้ที่มีประวัติโรคลมชัก ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางกะโหลกศีรษะหรือสมอง รวมถึงผู้ป่วยด้วยมะเร็งสมอง
  • บุรุษที่ใช้ยาเอนซาลูตาไมด์ หากต้องการมีเพศสัมพันธ์กับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ต้องใช้ถุงยางอนามัยชาย เพื่อป้องกันการส่งผ่านยาเอนซาลูตาไมด์ไปกับน้ำอสุจิจนอาจก่ออันตรายต่อทารกที่จะเกิดมาได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยจะเกิดการขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก
  • อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบเห็นได้บ่อยระหว่างการใช้ยาเอนซาลูตาไมด์ ได้แก่ มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด (เช่น มีอาการไอ คันจมูก จาม เจ็บคอ) ท้องเสีย วิงเวียน ปวดศีรษะ รู้สึกร้อนวูบวาบ ปวดหลัง ปวดกระดูก ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ หากพบอาการข้างเคียงดังกล่าวจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยสามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนว ทางการรักษา
  • สำหรับผู้ที่ได้รับยาเอนซาลูตาไมด์ แล้วเกิดอาการลมชัก แพทย์อาจตั้งข้อสันนิษฐานว่าได้รับยานี้เกินขนาด ปกติหากได้รับยาต่ำกว่า 240 มิลลิกรัม/วัน จะไม่ค่อยพบอาการลมชัก แต่ผู้ที่รับประทานยานี้ขนาด 360 จนถึง 600 มิลลิกรัม/วัน พบว่ามีเกิดอาการลมชักตามมาได้ กรณีเกิดลมชัก ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ยังมีข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ยาเอนซาลูตาไมด์ อีกมากมายที่ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างได้ทั้งหมด ซึ่งหากผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลของยาเอนซาลูตาไมด์เพิ่มเติม ผู้บริโภคสามารถสอบถามได้กับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือกับเภสัชกรได้โดยทั่วไป

เอนซาลูตาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เอนซาลูตาไมด์

ยาเอนซาลูตาไมด์ ใช้บำบัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในบุรุษ โดยช่วยชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมาก และยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากตายลง

เอนซาลูตาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเอนซาลูตาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจน โดยเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ของฮอร์โมนนี้ในร่างกาย ที่มีชื่อว่า Androgen receptors ส่งผลต่อการตอบสนองของสารพันธุกรรมชนิดดีเอนเอ (DNA) กับตัวฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากขยายตัว จึงทำให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากไม่สามารถขยายตัวหรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น และยังกระตุ้นให้เซลล์ของมะเร็งต่อมลูกหมากค่อยๆตายลงในที่สุด

เอนซาลูตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอนซาลูตาไมด์ มีรูปแบบการจัดจำหน่านเป็น ยารับประทานชนิดแคปซูลที่บรรจุตัวยา Enzalutamide ขนาด 40 มิลลิกรัม/แคปซูล

เอนซาลูตาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเอนซาลูตาไมด์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 160 มิลลิกรัม (4 แคปซูล) วันละ 1 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก

อนึ่ง:

  • ก่อนการใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจคัดกรองจากแพทย์ว่า เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและยังไม่เกิดภาวะเซลล์มะเร็งลุกลามไปจนถึงสมอง
  • ระหว่างใช้ยานี้ หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้ผู้ป่วยกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ทบทวนแนวทางการรักษา
  • รับประทานยานี้ตรงขนาดและตรงตามเวลาเดิมในแต่ละวัน ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับยานี้ในร่างกายให้มีความสม่ำเสมอ
  • ห้ามเคี้ยวหรือเปิดแคปซูลเพื่อละลายผงยาในน้ำเพื่อรับประทาน ให้รับประทานยาทั้งแคปซูลร่วมกับน้ำดื่มที่พอเพียง
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • การรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาเอนซาลูตาไมด์ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน จนอาจเป็นอันตรายกับผู้ป่วยตามมา
  • กรณีเกิดข้อผิดพลาดรับประทานยานี้เกินขนาด ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันนัด ด้วยยานี้สามารถกระตุ้นการเกิดลมชักขึ้นได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอนซาลูตาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้ง กำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอนซาลูตาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเอนซาลูตาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า

เอนซาลูตาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอนซาลูตาไมด์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะ Neutropenia(เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ) และ Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ)
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน การรับรสผิดปกติ เกิดกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome) เกิดอาการลมชัก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มือ-เท้าบวม ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดเพิ่ม
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีภาวะเต้านมโต รู้สึกร้อนวูบวาบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผิวแห้ง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้เอนซาลูตาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอนซาลูตาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยมะเร็งสมอง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคลมชัก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น แคปซูล แตก หัก หรือสีแคปซูลเปลี่ยนไป
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วน ประกอบ
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตรงตามขนาด และเวลา ในแต่ละวัน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอนซาลูตาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เอนซาลูตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอนซาลูตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเอนซาลูตาไมด์ร่วมกับยา Boceprevir (ยาต้านไวรัสพีไอ)ด้วยจะทำให้ระดับของยา Boceprevir ในกระแสเลือดน้อยลงจนทำให้ประสิทธิภาพการรักษาไวรัสตับอักเสบ-ซี ของยา Boceprevir ด้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอนซาลูตาไมด์ร่วมกับยา Fentanyl, Hydrocodone, ด้วยอาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาอาการปวดของยา Fentanyl และยา Hydrocodone ด้อยลง
  • การใช้ยาเอนซาลูตาไมด์ร่วมกับยา Tramadol อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะลมชักตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอนซาลูตาไมด์ร่วมกับยา Bosutinib(ยารักษาตรงเป้า) ด้วยจะทำให้ระดับของยา Bosutinib ในกระแสเลือดน้อยลงจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะ สมเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาเอนซาลูตาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาเอนซาลูตาไมด์ในช่วงอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

เอนซาลูตาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอนซาลูตาไมด์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Xtandi (เอ็กซ์แทนดี)Astellas Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/enzalutamide.html [2017,Jan14]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Enzalutamide [2017,Jan14]
  3. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/203415lbl.pdf [2017,Jan14]
  4. https://www.drugs.com/sfx/enzalutamide-side-effects.html [2017,Jan14]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/enzalutamide-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Jan14]