เอทโธซักซิไมด์ (Ehtosuxsimide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

เอทโธซักซิไมด์ (Ehtosuxsimide)คือ ยากันชักชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรคลมชักชนิด เรียกว่า ‘ลมชักชนิดเหม่อ’

ทั้งนี้ อาการชักจากโรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของการนำส่งกระแสประสาทภายในสมอง (Epileptic form) ซึ่งส่งผลต่อการแสดงออกของร่างกาย โรคลมชักนี้มีการแบ่งออกเป็นหลายประเภท ขึ้นกับพยาธิกำเนิดและลักษณะการตอบสนองของร่างกาย โรคลมชักบางประเภทอาจเกิดอาการขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆเป็นวินาทีอย่างเช่น โรคลมชักชนิดเหม่อ (Absence Seizure)

โรคลมชักชนิดเหม่อพบส่วนมากในเด็ก เกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆเป็นวินาที โดยผู้ ป่วยจะสูญเสียความรู้สึกตัว มีอาการเหม่อลอย ไม่มีการเคลื่อนไหว อาจเกิดร่วมกับการขยับริมฝีปากบ่อยๆหรือการแสดงออกเหมือนกำลังเคี้ยวอาหาร ซึ่งอาจแตกต่างจากรูปแบบการชักโดย ทั่วไปที่ผู้คนส่วนมากเข้าใจ

โรคลมชักชนิดเหม่อนี้ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย หากผู้ป่วยกำลังทำกิจกรรมต่อเนื่อง, กิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย, หรือการขับขี่พาหนะ, อาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้ การรักษาโรคลมชักชนิดนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

การใช้ยากันชักในผู้ป่วยโรคลมชักที่รวมถึง’ลมชักชนิดเหม่อ’ เป็นลักษณะของการควบคุมอาการไม่ให้เกิดมากกว่าการรักษา โดยยากันชักฯมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับชนิดของอาการชักและตัวผู้ป่วยเอง ซึ่ง “ยาเอทโธซักซิไมด์ (Ehtosuxsimide)” เป็นหนึ่งในยากันชักเพื่อควบคุมอาการโรคลมชักชนิดเหม่อ การรับประทานยากันชักฯเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องใช้ยาฯอย่างต่อเนื่อง ไม่ปรับระดับยาฯหรือหยุดยาฯด้วยตนเอง แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ผลข้างเคียงใดๆจากยาควรรีบมาโรงพยาบาล/แจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ

ยาเอทโธซักซิไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาเอทโธซักซิไมด์

ยาเอทโธซักซิไมด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • สำหรับควบคุมและ/หรือป้องกันโรคลมชักชนิดเหม่อ(Absence Seizure) โดยการควบคุมและลดคลื่นไฟฟ้าภายในสมองที่ผิดปกติขณะเกิดลมชักฯ

ยาเอทโธซักซิไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัดของยาเอทโธซักซิไมด์ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ โดยปกตินั้น กระแสประสาทในสมองทำงานโดยผ่านการกระตุ้นจากช่องทาง/แชนแนลต่างๆอาทิ โซเดียมแชน แนล (Sodium Channel), แคลเซียมแชนแนล (Calcium Channel), ซึ่งจากข้อมูลทางการศึก ษาวิจัยพบว่า ยาเอทโธซักซิไมด์ออกฤทธิ์โดยการปิดกั้นแคลเซียมแชนแนลชนิดที (T type Calcium Channel)ที่เซลล์ประสาทในสมองส่วนธาลามัส(Thalamus) ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการชักชนิดเหม่อ และลดคลื่นไฟฟ้าสมองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญเสียการรู้สึกตัว ส่งผลให้คลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติ (Epileptic form)ลดลง และช่วยเพิ่มระดับกั้น(Threshold, ตัวกระตุ้นที่น้อยที่สุด/ขนาดต่ำที่สุดที่จะทำให้เกิดอาการ)ของการเกิดอาการลมชักฯ ทำให้ความเสี่ยงการเกิดอาการลมชักฯลดลงอีกด้วย

ยาเอทโธซักซิไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ปัจจุบันยาเอทโธซักซิไมด์ ไม่ได้เป็นยาในทะเบียนตำรับของไทย แต่มีการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ 2 รูปแบบเภสัชภัณฑ์ คือ

  • ชนิดแคปซูล ขนาดความแรง 250 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ชนิดยาน้ำเชื่อม ขนาดความแรง 250 มิลลิกรัมต่อยา 5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)

ยาเอทโธซักซิไมด์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาเอทโธซักซิไมด์มีขนาดรับประทานยาดังต่อไปนี้ เช่น

  • ในเด็กอายุ 3 - 6 ปี: เริ่มใช้ยาขนาด 250 มิลลิกรัมต่อวัน แพทย์สามารถปรับระดับยาเพิ่มได้ทุกๆ 4 - 7 วัน โดยทั่วไปแล้ว ขนาดการใช้ยาคือ 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปและในผู้ใหญ่: เริ่มใช้ยาขนาด 500 มิลลิกรัมต่อวัน แพทย์สามารถปรับระดับยาเพิ่มได้ทุกๆ 4 - 7 วัน โดยทั่วไปแล้ว ขนาดการใช้ยาคือ 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี: ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในการใช้ยานี้และในขนาดยา ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มอายุนี้จึงอยู่ในดุลวินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกขนิดรวมถึงยาเอทโธซักซิไมด์ ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยาทุกชนิด
  • ประวัติโรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ, ยาอื่นที่กำลังใช้ร่วมด้วย, ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย หรือยาที่ซื้อรับประทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงสมุนไพร โดยเฉพาะยาต้านเศร้า, ยากันชักอื่นๆอาทิ ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin) ยาโซเดียมวาลโพรเอต (Sodium Valproate), ยาแก้ปวด, ยาแก้อักเสบ (ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ), ยานอนหลับ, เพราะแพทย์ผู้ทำการรักษาอาจต้องติดตามหรือมีการปรับระดับยาที่ใช้ให้เหมาะสม
  • ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบก่อนการใช้ยา เนื่องจากยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • หากต้องทำการผ่าตัดรวมถึงทันตศัลยกรรม (ทำฟัน) ให้แจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ทราบ หากคุณกำลังใช้ยาเอทโธซักซิไมด์
  • ประวัติโรคตับ โรคไต โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี หรือมีโรคเกี่ยวข้องกับเลือด/โรคในระบบโรคเลือด
  • ประวัติโรคที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ/อารมณ์/จิตเวช อาทิ โรคซึมเศร้า รวมถึงหากผู้ป่วยเคยมีความคิดหรือพยายามจะฆ่าตัวตายมาก่อน

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเอทโธซักซิไมด์ ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้เวลากับมื้อถัดไป ให้ข้ามไปทานมื้อถัดไป โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาเอทโธซักซิไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอทโธซักซิไมด์อาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์)บางประการ ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและไม่ทุเลาหรืออาการแย่ลง ให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบหรือพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด แต่ถ้าอาการมากควรไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งอาการฯ เช่น

  • วิงเวียน
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ปวดเกร็ง/ปวดบีบช่องท้อง
  • สูญเสียการรับรสชาติ
  • น้ำหนักลด
  • เหงือกบวม
  • สะอึก
  • ง่วงนอน
  • เหนื่อยล้า
  • มึนงง
  • ปวดหัว

*อนึ่ง: อาการไม่พึงประสงค์ฯบางชนิดของยานี้อาจก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งอาจรวมถึงอาการแพ้ยาอาทิ เจ็บคอ มีไข้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อหรือเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ, อาจตื่นขึ้นกลางดึกด้วยอาการหวาดกลัว, สมาธิลดลง, ผิวหนังลอก, โรคซีด, มีห้อเลือดขึ้นบริเวณผิวหนัง, เลือดออกบริเวณช่องคลอด, อาการของโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (เช่น มีผื่นแดงรูปผีเสือขึ้นบริเวณใบหน้า อาการแน่นหน้าอก อาการปวดบวมของข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ), หรืออาการแพ้ยา (เช่น มีผื่นแดง, ผื่นคันขึ้น, ผื่นลอกทั่วผิวหนังทั้งตัว, หรือมีอาการสตีเวนส์-จอห์นสัน ซินโดรม /Stevens-Johnson Syndrome, อาการบวมที่ตา ที่เปลือกตา/หนังตา ที่ริมฝีปาก ใบหน้า หรือที่คาง) หากมีอาการแพ้ยาดังกล่าวให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอทโธซักซิไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอทโธซักซิไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
  • ยานี้เป็นยาเพื่อควบคุมอาการมิใช่ยารักษาอาการลมชัก ผู้ป่วยจึงควรรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆจากยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลโดยทันที การหยุดยานี้เองอาจทำให้อาการลม ชักรุนแรงมากขึ้น
  • การใช้ยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ปรับระดับยาด้วยตัวเอง
  • อนึ่ง อาการง่วงนอนหรือมึนงงอาจมากขึ้น หากรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือยาอื่นที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ระหว่างการรับประทานยานี้ควรหลีก เลี่ยงการขับรถหรือการควบคุม/ทำงานกับเครื่องจักรกล รวมถึงภารกิจหรืองานที่มีความเสี่ยง เช่น พลัดตก หรืออุบัติเหตุอื่นๆได้ง่าย (เช่น งานก่อสร้าง)
  • ผู้ใช้ยานี้ควรดูแลสุขภาพเหงือกและฟันให้ดี เพราะยานี้อาจทำให้เกิดอาการเหงือกบวมหรือบวมตึง จึงควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูแลทางทันตกรรมเป็นประจำ
  • ยานี้อาจทำให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยเปลี่ยนไป เมื่อเริ่มใช้ยานี้ผู้ใช้ยาอาจมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือคิดสั้น จากข้อมูลทางการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยจำนวนน้อยรายหลังเริ่มใช้ยานี้ (1 ใน 530 คน) มีอาการคิดสั้นหรืออยากทำร้ายตัวเอง อาการไม่พึงประสงค์นี้อาจพบได้มากขึ้นในผู้ที่เคยมีความคิดหรือความพยายามในการฆ่าตัวตายมาก่อนใช้ยานี้ ดังนั้นก่อนการใช้ยานี้ ผู้ป่วย ครอบครัว หรือญาติของผู้ป่วย รวมถึงผู้อภิบาลผู้ป่วย ควรปรึกษาความเสี่ยงเทียบกับประโยชน์จากการใช้ยานี้ร่วมกับแพทย์ผู้ทำการรักษา หากผู้ป่วยมีอาการตื่นตระหนก วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนหลับยาก ก้าวร้าว โกรธ หรือมีพฤติกรรมที่รุนแรง ผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย หรือผู้อภิบาลผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ/พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยทันที
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอตโธซักซิไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเอทโธซักซิไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอตโธซักซิไมด์อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น เช่น

  • หากใช้ยานี้ ร่วมกับ ยากันชักอื่นๆ อาทิ ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin), ยาโซเดียมวัลโพรเอต (Sodium valproate) อาจส่งผลให้เพิ่มระดับยาฟีไนทอยด์หรือยาโซเดียมวัลโพรเอต และยาสองชนิดนี้อาจเพิ่มหรือลดระดับยาเอทโธซักซิไมด์ ในการใช้ยาร่วมกันจึงอาจส่งผลต่อการรักษาและ/หรือต่อผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้ก็ได้ จึงไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาเอทโธซักซิไมด์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเอทโธซักซิไมด์ เช่น

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมของบริษัทผู้ผลิต
  • เก็บยานี้ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บรักษายานี้ในอุณหภูมิห้อง (15 - 30 องศาเซลเซียส/Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • หลีกเลี่ยงบริเวณที่ถูกแสงแดดหรือความร้อนโดยตรง และบริเวณที่อับชื้นอาทิ บริเวณห้องน้ำหรือใกล้ห้องน้ำ
  • ยารูปแบบชนิดน้ำเชื่อม ไม่ควรเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ให้ทิ้งยาหากยาหมดอายุ หรือแพทย์แจ้งว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้อีก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง วิธีทิ้งยาหมดอายุ)

ยาเอทโธซักซิไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอทโธซักซิไมด์ มียาต้นตำรับ (Original drug)เป็นของบริษัท ไฟเซอร์ (Pfizer) ในชื่อการค้า ซารอนทิน (Zarontin®) ปัจจุบันในต่างประเทศมีการผลิตยาตำรับสำมัญ(Generic Drug) ของยานี้ด้วยแล้วที่ชื่อการค้า เช่น Emeside และ Ehtosuxsimide

บรรณานุกรม

  1. U.S. Food and Drug Administration. Zarontin®: Ethosuximide Capsules, USP Patient Medication Information. April 2009.
  2. Zarontin® Ethosuximide Patient Medication Leaflet. University of Michigan: Hospitals and Health Centers. November 11, 2011.
  3. Pharmaceutical Associates, Incorporated. Ethosuximide Approval Label. Label and Approval History. Food and Drug Administration Center for Drug Evaluation and Research. 2000.
  4. American Pharmacists Association. Ethoxusimide, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:810-811.
  5. Australian Medicines Handbook (AMH). Antiepileptics: Ehoxusimide. 2014:677-678.
  6. Huguenard JR. Block of T-type Ca(2+) channels is an important action of succinimide antiabsence drugs. Epilepsy Curr. 2002;2:49–52.
  7. Panayiotopoulos CP. Typical absence seizures and related epileptic syndromes: assessment of current state and direction for future research. Epilepsia. 2008;49:2131–2149.
  8. สมศักดิ์ เทียมเก่า. ลมชักชนิดเหม่อ (Absence seizure). haamor.com/th/ลมชักชนิดเหม่อ/ [2021,Oct16]
  9. https://patient.info/medicine/ethosuximide-for-epilepsy [2021,Oct16]