เอดส์จากเอชไอวี ชีวิตรอวันตาย (ตอนที่ 5)

อนุสนธิข่าวจากวันก่อน การสัมนาวิชาการที่พะเยาในเรื่องการทำงานเครือข่ายโรคเอดส์ ยังพบว่าผู้ติดเชื้อมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้อัตราการติดเชื้อโรคเอดส์และการตั้งครรภ์เพิ่มสูงขึ้น และผู้ติดเชื้อที่รับยาต้านไวรัสมีอัตราการดื้อยาเพิ่มขึ้น และมีการเปลี่ยนสูตรยาที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

การตรวจเอชไอวีส่วนมากใช้ตรวจเลือดจากหลอดเลือดดำ แต่ต้องเข้าใจระยะแฝง (Window period) ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างการได้รับเชื้อจนถึงการมีสารภูมิต้านทาน (Antibody) มากพอที่จะตรวจพบ อาจแตกต่างกันได้ในแต่ละคนระหว่าง 3 – 6 เดือน ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจพบไวรัสในระยะแฝงโดยใช้วิธีปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ชื่อ Polymerase chain reaction (PCR) ก่อนที่จะตรวจพบด้วยการตรวจคัดกรองที่รู้จักกันว่า “รุ่นที่สี่” (4th Generation screening)

เมื่อตรวจพบแล้ว ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี แพทย์มักให้ยาต้านไวรัสชนิดกระตุ้นรุนแรง (Highly active antiretroviral therapy: HAART) ซึ่งดำเนินกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และได้ผลดีมากต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี สำหรับสูตรยาต้านไวรัสแบบ HAART ที่ดีที่สุดซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการผสมยาต้านไวรัสอย่างน้อยสามชนิดเข้าด้วยกัน

การติดเชื้อเอชไอวีในเด็กดำเนินไปอย่างรวดเร็วกว่าในผู้ใหญ่ ในขณะที่ผลตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ หลายอย่างก็ไม่สามารถบ่งชี้ความเสี่ยงในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ดังนั้นการรักษาเด็ก จึงมักใช้สูตรยาที่แรงกว่าในผู้ใหญ่ การใช้สูตรยา HAART นั้น แพทย์จะเป็นผู้สั่งตรวจระดับปริมาณไวรัส (Viral load) ความรวดเร็วในการลดจำนวนลงของเซลล์ CD4 และความพร้อมของผู้ป่วยในการเลือกรับการรักษา ก่อนที่จะเริ่มการรักษา

จุดมุ่งหมายของการรักษาโดยสูตรยา HAART คือการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ลดภาวะแทรกซ้อน และลดปริมาณไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือดให้อยู่ต่ำกว่าระดับที่ตรวจวัดได้ แต่ก็ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวีได้ เพราะทุกครั้งที่หยุดยา เชื้อเอชไอวีก็จะทวีปริมาณกลับมาก่อโรคได้ และเชื้อที่เพิ่มปริมาณขึ้นมาครั้งใหม่ ก็มักดื้อต่อยาต้านไวรัสขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

โดยทั่วไป การใช้ยาต้านไวรัสนั้น มักต้องใช้ระยะเวลาในการขจัดไวรัสให้หมดสิ้นไปจากร่างกายยาวนานกว่าอายุขัยของคนปรกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหลายคนรู้สึกได้ถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากสุขภาพทั่วไปที่ดีขึ้น ซึ่งนำไปสู่การลดลงของอัตราการตายและอัตราการเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวี

ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส จะวิวัฒนาจากการติดเชื้อเอชไอวีไปยังการเป็นเอดส์ ภายในระยะเวลาระหว่าง 9 – 11 ปี (Median survival time : MST) ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อเอชไอวีที่ได้รับ และอัตราการรอดชีวิตหลังจากเป็นโรคเอดส์แล้วจะอยู่ที่ระหว่าง 6 – 19 เดือน การรักษาด้วยยาต้านไวรัสสูตร HAARTจะลดอัตราการตายจากโรคลง ได้ 80% และทำให้เพิ่มอายุขัยของผู้ป่วยได้ระหว่าง 4 – 12 ปี และบางรายอาจถึง 20 ปี

แต่ผู้ป่วยกว่าครึ่งที่ใช้สูตรยา HAART ได้ผลไม่เต็มที่เพราะ ทนผลข้างเคียงของยาไม่ได้ หรือได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแบบไม่เต็มที่ หรือติดเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาต้านไวรัส แต่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการกินยาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งมักเป็นผลจากปัญหาทางจิตเวช ปัจจัยอุปสรรคทางสังคม และการขาดโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล

สูตรยา HAART นั้นบางครั้งซับซ้อนและใช้ยากหรือลืมง่าย เนื่องจากมียาจำนวนมากชนิดที่ต้องกินบ่อยครั้ง ผลข้างเคียงของยาก็ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาต้านไวรัสได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ไขมันเจริญผิดรูป (Lipodystrophy), ไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) ท้องเสีย และภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยาต้านไวรัสยังมีราคาแพง สำหรับในประเทศไทย ยาที่ใช้กันแพร่หลายได้แก่ GPO Vir S และ GPO Vir Z

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.ยันเอดส์พะเยาลดแล้ว - แต่ปัญหาสาธารณสุขและสังคมโผล่แทน http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000005333 [2012, January 21].
  2. เอดส์ http://th.wikipedia.org/wiki/เอดส์ [2012, January 21].