เอช 2 แอนตาโกนิสต์ (H2 antagonists)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ (H2 antagonist หรือ H2 receptor antagonist หรือ H2 blocker หรือ Histamine 2 receptor antagonist) เป็นกลุ่มยาที่ใช้ต้านสารฮีสตามีน (Histamine) โดยจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับของเซลล์ในร่างกายที่มีชื่อเรียกว่า เอช 2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (H2 receptor antagonist) ซึ่งพบมากในกระเพาะอาหาร ทำให้ช่วยลดการหลั่งกรดและแก้ปัญหาเรื่องอาหารไม่ย่อยด้วยภาวะการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารไม่สมดุล ตัวอย่างของยาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเช่น Cimetidine และติดตามมาด้วย Ranitidine ปัจจุบันในวงการเภสัชกรรมได้มีการพัฒนายากลุ่มนี้ขึ้นมาอีกเป็นจำนวนพอสมควร อาทิเช่น Burimamide, Ebrotidine, Famoti dine, Fanetizole, Lafutidine, Loxtidine, Lupitidine, Metiamide, Niperotidine, Nizatidine, Pepcid complete, Oxmetidine Roxatidine, Zolantidine

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุ Ranitidine ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยอยู่ในหมวดของยาอันตราย การเลือกใช้ยาในกลุ่มนี้ควรต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ ด้วยประสิทธิ ภาพของยาแต่ละรายการต้องสอดคล้องกับอาการโรคและเงื่อนไขทางสุขภาพของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เอช-2-แอนตาโกนิสต์

ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (แผลเปบติค)
  • รักษาอาการโรคกรดไหลย้อน (GERD)
  • รักษาอาการอาหารไม่ย่อย อันมีสาเหตุจากกรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมามากเกินไป
  • ใช้ป้องกันการเกิดแผลในช่องทางเดินอาหาร อันเนื่องจากการรับประทานยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)

ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้ลดการระคายเคืองของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ รวมถึงของแผลภายในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ และทำให้สภาวะการหลั่งกรดของกระเพาะอาหารมีสมดุลมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ขนาด 20, 40, 150, 200, 300 และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูล ขนาด 150 และ 300 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาฉีด 50 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร

ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขอยกตัวอย่างของยาในกลุ่มเอช 2 แอนตาโกนิสต์ที่มีการใช้บ่อย 4 รายการ ดังนี้

1. Cimetidine:

ก. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น

  • รักษาแผลในลำไส้: รับประทาน 800 มิลลิกรัมก่อนนอน
  • รักษาอาการอาหารไม่ย่อย: รับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัมก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ ขนาดรับประทานอาจให้ซ้ำอีก 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
  • บำบัดอาการกรดหลั่งมาก: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็นและก่อนนอน
  • รักษาอาการกรดไหลย้อน: รับประทาน 800 – 1,600 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็นเวลา 12 สัปดาห์

ข. สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ไม่มีข้อมูลแนะนำขนาดยานี้ชัดเจน การใช้ยานี้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

2. Famotidine:

ก. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น

  • รักษาแผลในลำไส้: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง หรือแบ่งเป็น 20 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
  • ป้องกันการเกิดแผลในลำไส้: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหาร: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน
  • รักษาอาการอาหารไม่ย่อย: รับประทาน 10 มิลลิกรัมเมื่อมีอาการ ขนาดรับประทานอาจให้ซ้ำ อีก 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
  • บำบัดอาการกรดหลั่งมาก: รับประทาน 20 มิลลิกรัมทุกๆ 6 ชั่วโมง
  • รักษาอาการกรดไหลย้อน: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง อาจต้องให้ยาถึง 6 สัปดาห์

ข. สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ไม่มีข้อมูลแนะนำขนาดยานี้ชัดเจน การใช้ยานี้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

3. Nizatidine:

ก. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น

  • รักษาแผลในกระเพาะและ/หรือลำไส้: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน หรือแบ่งเป็น 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
  • ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละครั้ง ก่อนนอน
  • ป้องกันภาวะอาหารไม่ย่อย: รับประทาน 75 มิลลิกรัมก่อนอาหาร 30 - 60 นาที เมื่อมีอาการอาจให้ยาซ้ำอีก 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
  • รักษาอาการกรดไหลย้อน: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง

ข. สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ไม่มีข้อมูลแนะนำขนาดยานี้ชัดเจน การใช้ยานี้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

4. Ranidine:

ก. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น

  • รักษาแผลในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง หรือ 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละครั้ง ก่อนนอน
  • ป้องกันและบำบัดอาการอาหารไม่ย่อย: รับประทาน 75 มิลลิกรัมเมื่อมีอาการ อาจให้ยาซ้ำอีก 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
  • รักษาภาวะกรดหลั่งมาก: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
  • รักษาอาการกรดไหลย้อน: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นถ้าจำเป็น

ข. สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ไม่มีข้อมูลแนะนำขนาดยานี้ชัดเจน การใช้ยานี้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง:

  • การใช้ยาไม่ว่าจะเป็นรายการใดในยากลุ่มเอช 2 แอนตาโกนิสต์ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามไม่ให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยาเอง
  • ยาในกลุ่มนี้รับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึง ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา เอช 2 แอนตาโกนิสต์สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาในกลุ่มเฮช 2 แอนตาโกนิสต์ อาจทำให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
  • วิงเวียน
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปัสสาวะขัด

*อนึ่ง จะเห็นว่ายากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย หรือในผู้ป่วยหลายคนก็ไม่พบผลข้างเคียงแต่อย่างใด แต่หากพบอาการผิดปกตินอกเหนือไปจากนี้ เช่น ใบหน้าบวม หายใจไม่ออก/หายใจลำบากหลังใช้ยาต่างๆรวมถึงยาในกลุ่มนี้ ให้หยุดการใช้ยาทันทีแล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • การใช้ยากับ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น
  • ยาส่วนใหญ่ในกลุ่มเอช 2 แอนตาโกนิสต์ สามารถผ่านไปกับน้ำนมของมารดาได้ ดังนั้น ระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้ควรเว้นการให้นมมารดากับบุตร เพื่อป้องกันมิให้ทารกได้รับผลกระทบ/ผล ข้างเคียงจากยา
  • ยากลุ่มเอช 2 แอนตาโกนิสต์ส่วนมาก จะถูกตับเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีและขับออกมากับปัสสาวะ ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีปัญหาของไตและ/หรือตับทำงานผิดปกติ (โรคไต โรคตับ) แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Ranidine ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจทำให้ระดับของ Warfarin อยู่ในร่างกายได้นานขึ้น แพทย์จะปรับขนาดรับประทานเพื่อความเหมาะสมต่อร่างกายคนไข้
  • การใช้ยา Nizatidine ร่วมกับยาแก้ปวด Aspirin อาจทำให้ระดับ Aspirin ในกระแสเลือดเพิ่มสูง ขึ้นจนผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยา Aspirin ได้ จึงควรเลี่ยงในการรับประทานร่วมกัน
  • การใช้ยา Nizatidine ร่วมกับยาต้านไวรัส เช่นยา Atazanavir จะทำให้การดูดซึมของยา Atazanavir ลดลง แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นกรณีไป
  • การใช้ยา Famotidine ร่วมกับยาต้านไวรัส เช่นยา Atazanavir หรือยาต้านเชื้อรา เช่นยา Itraconazole และ Ketoconazole จะส่งผลให้ยาต้านไวรัสและยาต้านเชื้อราถูกดูดซึมลดลงจนทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาด้อยลงไปด้วย แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมตามสภาพร่างกายของผู้ ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยา Cimetidine ร่วมกับยาต้านไวรัส เช่นยา Atazanavir หรือยาต้านเชื้อรา เช่นยา Itraconazole และ Ketoconazole จะทำให้การดูดซึมของยาต้านไวรัสและยาต้านเชื้อราลดลงจนอาจส่งผลต่อการรักษา แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป

ควรเก็บรักษายาเอช 2 แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

สามารถเก็บยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cidine (ซิดีน) Medifive
Citidine (ซิทิดีน) Atlantic Lab
Siamidine (ไซมิดีน) Siam Bheasach
Ulcemet (อัลซิเมท) T. O. Chemicals
Cigamet (ซิกาเมท) General Drugs House
Manomet (มาโนเมท) March Pharma
Stomedine (สโตเมดีน) Osoth Interlab
Alserine (แอลเซอรีน) Union Drug
Chintamet (จินตาเมท) Chinta
Cimet (ไซเมท) Chinta
Cimetidine Utopian (ไซเมทิดีน ยูโทเปียน) Utopian
Cimet-P (ไซเมท-พี) P P Lab
Clinimet (คลินิเมท) Bangkok Lab & Cosmetic
G.I. (จี.ไอ.) T. Man Pharma
Iwamet (อิวาเมท) Masa Lab
Lakamed (ลาคาเมด) T. Man Pharma
Peptidine (เปปทิดีน) A N H Products
Sertidine (เซอร์ทิดีน) Chew Brothers
Shintamet (ชินตาเมท) YSP Industries
Sincimet (ซินซิเมท) SSP Laboratories
Tacamac (ทาคาแม็ก) Medicine Products
Ulcacin (อัลเคซิน) Utopian
Ulcine (อัลซีน) Pharmahof
Vescidine (เวสซิดีน) Vesco Pharma
Cencamat (เซนเคแมท) Pharmasant Lab
Cimag (ซิแม็ก) T P Drug
Cimetidine GPO (ไซเมทิดีน จีพีโอ) GPO
Cimetin (ไซเมทิน) T. Man Pharma
Ciminpac (ไซมินแพค) Inpac Pharma
Duotric (ดูโอทริค) Asian Pharm
Gastasil (แก๊สตาซิล) Heromycin Pharma
K.B. Cymedin (เค.บี. ไซมิดิน) K.B. Pharma
Milamet (มิลาเมท) Milano
Promet (โปรเมท) Millimed
Setard (ซิทาร์ด) Charoon Bhesaj
Simaglen (ซิมาเกลน) Unison
Startidine (สตาร์ทิดีน) Inpac Pharma
Tagapro (ทากาโปร) Medicine Products
Ulcimet (อัลซิเมท) Polipharm
Ulsamet (อัลซาเมท) Burapha
Acicare (อะซิแคร์) Unique
Ranit-VC Injection (รานิท-วีซี อินเจ็คชั่น) Vesco Pharma
Xanidine (ซานิดีน) Berlin Pharm
Ranidine (รานิดีน) Biolab
Ratic (ราติค) Atlantic Lab
Zantac (แซนแท็ค) GlaxoSmithKline
Histac (ฮีสแท็ค) Ranbaxy
Ranicid (รานิซิด) M & H Manufacturing
Ranin-25 (รานิน-25) Umeda
Rantodine (แรนโทดีน) Utopian
R-Loc (อาร์-ล็อค) Zydus Cadila
Zanamet (ซานาเมท) T. O. Chemicals
Aciloc (อะซิล็อก) Cadila
Ramag (ราแม็ก) T P Drug
Ranid (รานิด) T. Man Pharma
Rantac 150 (แรนแท็ก 150) Medicine Products
Ratica (ราติกา) L. B. S.
Utac (ยูแท็ก) Millimed
Axid (เอซิด) Eli Lilly
Famosia (ฟาโมเซีย) Asian Pharm
Famotidine March Pharma (ฟาโมทิดีน มาร์ช ฟาร์มา) March Pharma
Pharmotidine (ฟาร์โมทิดีน) Community Pharm PCL
Vesmotidine (เวสโมทิดีน) Vesco Pharma
Famotab (ฟาโมแท็บ) Bangkok Lab & Cosmetic
Pepfamin (เปปฟามิน) Siam Bheasach
Ulfamet (อัลฟาเมท) T. O. Chemicals
Agufam (อะกูฟาม) ST Pharma
Famoc (ฟาม็อก) Berlin Pharm
Famonox (ฟาโมน็อก) Charoen Bhaesaj Lab
Famopsin (ฟาม็อพซิน) Remedica
Pepcine (เปปซีน) Masa Lab
Peptoci (เปปโทซี) Pharmasant Lab
Fad (ฟาด) T. Man Pharma
Famocid (ฟาโมซิด) Sun Pharma
Famopac (ฟาโมแพ็ค) Inpac Pharma
Fasidine (ฟาซิดีน) Siam Medicare
Pepdenal (เปปดีนอล) MacroPhar
Ulceran (อัลซีแรน) Medochemie

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/H2_antagonist [2020,Nov14]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Category:H2_receptor_antagonists [2020,Nov14]
  3. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-4091-7033/ranitidine-oral/ranitidine-tablet-oral/details [2020,Nov14]
  4. https://patient.info/digestive-health/indigestion-medication/h2-blockers [2020,Nov14]
  5. https://www.webmd.com/heartburn-gerd/h2-blockers-how-acid-reducers-can-help-treat-gerd-symptoms [2020,Nov14]
  6. https://medical-dictionary.thefreedictionary.com/H-2+Blockers [2020,Nov14]
  7. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fcimetidine%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov14]
  8. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2franitidine%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov14]
  9. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2ffamotidine%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov14]
  10. http://gerd.emedtv.com/famotidine/drug-interactions-with-famotidine.html [2020,Nov14]
  11. http://gerd.emedtv.com/cimetidine/drug-interactions-with-cimetidine-p2.html [2020,Nov14]
  12. https://www.drugs.com/cons/histamine-h2-antagonist-oral-injection-intravenous.html [2020,Nov14]