เหน็บชาเพราะปลาร้า (ตอนที่ 5)

เหน็บชาเพราะปลาร้า

การรักษาจะมีจุดประสงค์ที่จะเติมไทอามีนที่ขาด ด้วยการให้อาหารเสริมไทอามีน ซึ่งอาจทำได้ด้วยการฉีดหรือกินทางปาก พร้อมวิตามินอื่นๆ หลังจากนั้นอาจทำการตรวจเลือดอีกเพื่อดูว่าร่างกายตอบสนองต่ออาหารเสริมไทอามีนนั้นอย่างไร

คนที่เป็นเหน็บชาแล้วไม่ทำการรักษามักจะเสียชีวิต แต่ถ้าทำการรักษาอาการก็มักจะหายดีอย่างรวดเร็ว หัวใจที่ถูกทำลายก็จะฟื้นกลับได้ อย่างไรก็ดีหากมีอาการหัวใจล้มเหลวอย่างเฉียบพลันแล้วก็ยากที่จะทำการรักษาได้

เช่นเดียวกัน ระบบประสาทก็สามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิมได้หากทำการรักษาแต่แรก แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่รีบรักษาแต่แรกอาการบางอย่าง เช่น ความจำเสื่อม ก็อาจจะคงอยู่ แม้จะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม

อาการแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเหน็บชา ได้แก่

  • โคม่า (Coma)
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)
  • เสียชีวิต
  • เป็นโรคจิต (Psychosis)

ส่วนโรคเหน็บชาอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่นอกจากการได้รับสารอาหารไม่พอ เช่น การเป็นโรคหรือการผ่าตัดเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) การฟอกไต (Dialysis) ความบกพร่องทางพันธุกรรม (Genetic deficiencies) ซึ่งสาเหตุทั้งหมดจะทำให้เกิดการกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางกระตุ้นให้เกิดอาการ Wernicke's disease หรือ Wernicke's encephalopathy

[Wernicke’s encephalopathy เป็นรูปแบบหนึ่งของการได้รับบาดเจ็บทางสมองซึ่งเป็นผลมาจากภาวะขาดวิตามินบี 1 ในผู้ติดสุรา ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะนำไปสู่สมองถูกทำลายและสูญเสียความจำอย่างถาวร ลักษณะทางคลินิกที่สำคัญของ Wernicke’s encephalopathy ได้แก่ สับสน อาการตากระตุก (อาจมีอัมพาตของตาด้วย) เดินเซ มักจะพบอาการปลายประสาทอักเสบร่วมด้วยประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่มี Wernicke’s encerphalopathy]

การป้องกันโรคเหน็บชาอาจทำได้ด้วยการกินอาหารที่มีวิตามินบี 1 และวิตามินอื่นๆ โดยเฉพาะแม่ที่ให้นมบุตรควรแน่ใจว่าตัวเองและทารกได้รับอาหารที่มีวิตามิน ส่วนคนที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ควรลดหรือเลิกเสียเพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายได้รับและสะสมวิตามินบี 1 ที่พอเพียง

สำหรับอาหารที่มีวิตามินบี 1 โดยทั่วไป ได้แก่ เนื้อหมู เมล็ดทานตะวัน พืชมีฝัก (Legumes) จมูกข้าวสาลี (Wheat germ) แตงโม โฮลเกรน (Whole Grains คือธัญพืชที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อย มีเส้นใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้องถั่วเมล็ดแห้ง งา ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาเล่ย์) ถั่วกรีนบีน (Green Beans) แอสพารากัส (Asparagaus) เห็ด น้ำส้ม เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ เซียงจี้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี มีอาหารบางชนิดที่เป็นปฏิปักษ์กับวิตามินบี 1 ซึ่งได้แก่ พวกปลาและหอยบางชนิด (พบในปลาร้าและหอยดิบ) ที่มีเอนไซม์ที่เรียกว่า Thiaminase โดยมีฤทธิ์ย่อยสลายวิตามินบี 1 ซึ่งการปรุงให้สุกจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และพวกชา กาแฟ หมาก เมี่ยง พลู ที่มีสาร Tannic acid และ Caffeic acid ที่ไปจับกับวิตามินบีหนึ่งและส่งผลยับยั้งการดูดซึมของร่างกาย

แหล่งข้อมูล

  1. Beriberi. http://en.wikipedia.org/wiki/Beriberi [2015, March 11].
  2. Beriberi. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000339.htm [2015, March 1].
  3. Beriberi: Vitamin B1 deficiency. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000339.htm [2015, March 11].