เสียงแหบจากใช้เสียงผิดวิธี (Vocal misuse and overuse)

สารบัญ

ทั่วไป

เสียงแหบ (Hoarseness) เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งชนิดมีพยาธิสภาพ (โรค) ของกล่องเสียง เช่น โรคมะเร็งกล่องเสียง สายเสียงมีพังผืด ฯลฯ และชนิดไม่มีพยาธิสภาพของกล่องเสียง เช่น การใช้เสียงผิดวิธี

ในที่นี้ จะกล่าวถึงเฉพาะเสียงแหบที่ไม่มีพยาธิสภาพของสายเสียง ที่พบบ่อยคือ เสียงแหบเกิดจากใช้เสียงผิดวิธี (Vocal misuse and overuse) ที่พบได้ประมาณ 0.19-4.20% ของสาเหตุเสียงแหบทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มมีอาชีพที่ใช้เสียงมาก เช่น ครู พยาบาลประจำหน่วยผู้ป่วยนอก แม่ค้า นักร้อง ประชาสัมพันธ์ พนักงานในโรงงาน ฯลฯ ผู้ป่วยเสียงแหบจะมีประสิทธิภาพในการทำงาน และมีคุณภาพชีวิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้การพูดในการทำงาน

เสียงแหบจากใช้เสียงผิดวิธีมีสาเหตุจากอะไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

สาเหตุของเสียงแหบที่เกิดจากการใช้เสียงผิดวิธี คือ การใช้เสียงมากเกินไป หรือการใช้กล้ามเนื้อสายเสียงในการพูดผิดวิธี ซึ่งหากมีอาการเสียงแหบจากสาเหตุนี้อย่างต่อเนื่อง เรื้อรัง จะก่อพยาธิสภาพ หรือ ก่อให้เกิดผลข้างเคียง จากมีการฉีกขาดของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงสายเสียง และเป็นสาเหตุให้เกิด ปุ่มเนื้อ หรือ ติ่งเนื้อเมือก หรือ อาการ บวม แดง ที่สายเสียง จึงขัดขวางผิวสัมผัสระหว่างสายเสียงทั้งสองข้าง ทำให้สายเสียงเคลื่อนชนกันได้ไม่สนิทขณะออกเสียงพูด หรือร้องเพลง จึงพูดเสียงเบาและมีลมแทรก หรือคนทั่วไป เรียกว่า เสียงแหบ ซึ่งกรณีต่างๆดังกล่าวจะเป็นสาเหตุให้เกิดเสียงแหบเรื้อรัง ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ทำอย่างไรเมื่อมีเสียงแหบจากใช้เสียงผิดวิธี?

เมื่อมีอาการเสียงแหบต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อคัดแยกโรคเสียงแหบชนิดมีพยาธิสภาพของกล่องเสียงและชนิดไม่มีพยาธิสภาพของกล่องเสียง เพราะโรคทั้งสองกลุ่มมีวิธีรักษาไม่เหมือนกัน และเพื่อวินิจฉัยแยก โรคมะเร็งกล่องเสียงโดยเฉพาะในคนสูงอายุ

รักษาเสียงแหบจากใช้เสียงผิดวิธีได้อย่างไร?

การรักษาเสียงแหบที่เกิดจากใช้เสียงผิดวิธี ที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การฝึกพูด เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุโดยตรง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เสียงใหม่ และเสริมสร้างสุขอนามัยของสายเสียง ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางหูคอจมูก จะทำการตรวจสายเสียงในเบื้องต้น แล้วจึงส่งผู้ป่วยพบกับนักแก้ไขการพูด

ดูแลสุขอนามัยของเสียงอย่างไร?

การปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยของเสียง จะช่วยลดอาการเสียงแหบชนิดเกิดจากใช้เสียงผิดวิธี และส่งเสริมพฤติกรรมการใช้เสียงที่ถูกต้องได้ ซึ่งการปฏิบัติมีดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการใช้เสียงมากเกินไป เช่น การตะโกน การเชียร์กีฬาดังๆ การพูดเสียงดังๆ หรือการพูดมากเกินไป ฯลฯ เพราะจะทำให้สายเสียงบวม แดง อักเสบได้
  2. หลีกเลี่ยงการไอ กระแอม หรือขากเสมหะบ่อยๆ เพราะจะทำให้สายเสียงบาดเจ็บ บวมได้ ควรจิบน้ำ กลืนน้ำลายแทน หรือไอ กระแอมเบาๆ เป็นเสียงกระซิบหากจำเป็นจริงๆ
  3. หลีกเลี่ยงการพูดหรือร้องเพลงในขณะเป็นหวัด
  4. หลีกเลี่ยงการพูดในที่มีเสียงดัง เช่น ขณะที่รถแล่น สถานบันเทิง หรือ บริเวณที่มีเสียงดังตลอดเวลา ฯลฯ เพราะจะทำให้ต้องพูดเสียงดังกว่าปกติ และทำให้สายเสียงบาดเจ็บได้
  5. หลีกเลี่ยงการเลียนเสียงแปลกๆ เช่น พูดเสียงเล็กแหลม หรือเสียงต่ำเกินไป
  6. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรืออยู่ในที่มีควันบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ ทำลายเซลล์สายเสียงโดยตรง
  7. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อสายเสียง เช่น ชา กาแฟ และ แอลกอฮอล์
  8. หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานานๆ ในกรณีที่จำเป็นต้องอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานานๆ ควรใช้ภาชนะปากกว้างใส่น้ำวางไว้ข้างๆครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ หรือ ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ และจิบน้ำบ่อยๆ
  9. ควรพูดด้วยระดับเสียงและความดังที่เหมาะสมกับเพศและวัย
  10. ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง
  11. ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสจัด และควรรับประทานอาหารมื้อเย็นก่อนเข้านอน 3-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันโรค หรือ ภาวะกรดไหลย้อน (ไหลกลับ) ซึ่งจะทำให้สายเสียงอักเสบได้
  12. รักษาความสะอาดของปากและฟันโดยการแปรงฟันหลังอาหารและก่อนนอน
  13. ดื่ม หรือจิบน้ำบ่อยๆ วันละ 8-12 แก้ว (แก้วละ 250 ซีซี) เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะหลังตื่นนอนและระหว่างทำกิจกรรมในแต่ละวันเพื่อให้ความชุ่มชื้นกับปากและคอ
  14. ดื่มน้ำผลไม้ (ชนิดน้ำตาลและเกลือต่ำ เพื่อป้องกันโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง) เป็นประจำ
  15. ควรใช้เครื่องช่วยพูด เช่น ไมโครโฟน โทรโข่ง ในกรณีที่ต้องใช้เสียงพูดติดต่อกันนานๆ หรือเมื่อสอนนักเรียนในห้องเรียน
  16. ควรควบคุมอารมณ์และจิตใจไม่ให้เครียด และทำกิจกรรมสันทนาการที่ไม่ต้องใช้เสียง เช่น การอ่านหนังสือ การฟังเพลง ฯ ให้มากขึ้น
  17. ฝึกพูดให้ช้าลง และหายใจทางจมูกเพื่อให้มีลมหายใจเข้าในปริมาณมาก และเพียงพอต่อการพูด
  18. ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30-45 นาที/วัน สัปดาห์ละ 3– 4 วัน เพื่อความแข็งแรงของสุขภาพโดยรวม ซึ่งรวมทั้งสายเสียงด้วย

ป้องกันเสียงแหบจากใช้เสียงผิดวิธีได้อย่างไร?

หากท่านมีอาชีพที่ต้องใช้เสียงมากและมีความเสี่ยงต่อการมีเสียงแหบ ควรป้อง กันเสียงแหบจากการใช้เสียงผิดวิธีด้วยการปฏิบัติตามสุขอนามัยของสายเสียง ดังกล่าวแล้ว และหลีกเลี่ยงศัตรูของเสียงที่มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป ในความเป็นจริง เราอาจไม่ สามารถกำจัดศัตรูของเสียงที่มีอยู่ในธรรมชาติได้ แต่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ใน สภาพดังกล่าวและหลีกเลี่ยงการพูดสื่อสารในสถานที่ที่มีศัตรูของเสียงในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วไปได้

ศัตรูของเสียงในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วไปที่ควรหลีกเลี่ยง คือ

  1. คุณภาพของอากาศไม่ดี ได้แก่ ฝุ่น ควัน หมอก ไอระเหยต่าง ๆ
  2. สิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังรบกวน ได้แก่ งานเลี้ยงสังสรรค์ ที่มีการใช้เครื่องขยายเสียงหรือไมโครโฟน พื้นที่สาธารณะที่มีเสียงดัง เช่น ตลาดสด สถานีรถปรับอากาศ เป็นต้น
  3. ความชื้นที่มากหรือน้อยเกินไปซึ่งอาจมีปัญหาต่อทางเดินหายใจได้
  4. เสียงรบกวนต่างๆ ได้แก่ เสียงรบกวนขณะมีการสนทนา เสียงรบกวนจาก เครื่องมือการทำงาน ฯลฯ
  5. ระยะห่างระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง เช่น ระยะห่างระหว่าผู้พูดและผู้ฟังไกลเกินไป ห้องหรือสถานที่ที่ต้องพูดติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นห้องโล่ง เปิดหน้าต่าง หรือใหญ่เกินไป ซึ่งหากจำเป็นต้องพูดควรใช้ไมโครโฟน

บรรณานุกรม

  1. Williams N, Carding P. (2005). Occupational voice loss. Boca Raton : Taylor & Francis.
  2. Verdolini K, Ramig LO (2001). Review: occupational risks for voice problems. Logoped Phoniatr Vocol; 26(1): 37-46.
  3. Smith E, Gray SD, Dove H, Kirchner L, Heras H. (1997). Frequency and effects of teachers' voice problems. J Voice; 11(1):81-7.
  4. Chan RW. (1994). Does the voice improve with vocal hygiene education? A study of some instrumental voice measures in a group of kindergarten teachers. J Voice; 8(3): 279-91.
  5. Boone DR . (1977). Voice Therapy for problems of vocal hyperfunction . Boone DR , Editor. The voice and voice therapy. 2nd edition edition. London : Prentice Hall: 100-63.
  6. Irving RM, Epstein R, Harries ML. Care of the professional voice. Clin Otolaryngol Allied Sci 1997; 22(3):202-5.