เสริมคาง “เทียม” อาจก่อปัญหา “แท้” (ตอนที่ 1)

ในสหรัฐอเมริกา การเสริมคางเทียม (Chin augmentation) ถือเป็นศัลยกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และกำลังได้รับความนิยมมากสำหรับหนุ่มสาวที่รักสวยรักงาม จนเป็นที่คุ้นหูกันดีในสังคมชาวอเมริกันว่า “ความสวยที่มาจากพลาสติก”

รายงานการสำรวจเกี่ยวกับการเสริมความงามทั่วเรือนร่างของกลุ่มเป้าหมายจำนวน 20,680 คน ในปี พ.ศ. 2554 ปรากฏว่า จำนวนผู้ที่นิยมเสริมความงามพุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 71 ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2553 แต่ความนิยมในการเสริมคางยังคงอยู่ในอัตราส่วนที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการศัลยกรรมในรูปแบบอื่นๆ

ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษกล่าวว่า การผ่าตัดใส่คางเทียมนั้นไม่ค่อยแยกทำต่างหาก แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจ (Package) ศัลยกรรมความงามด้านอื่นๆ มากกว่า การเสริมคางด้วยการผ่าตัด (Implant surgery) สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้าง (Structure) ส่วนสำคัญๆ ที่ทำให้ใบหน้าดูดีขึ้น

บางครั้งการผ่าตัดเสริมคางก็ทำพร้อมๆ กับการทำศัลยกรรมจมูก (Rhinoplasty) เพื่อทำให้ใบหน้าดูสมส่วน การเสริมคางอาจทำโดยการจัดกระดูกขากรรไกรล่าง (Mandible) ซึ่งถือเป็นวิธีการที่แก้ไขข้อบกพร่องได้ดีกว่าการเสริมด้วยของเทียม (Prosthetics)

การเสริมคางช่วยสร้างรูปโครงหน้า (Profile) ให้ดีขึ้น อาจใช้กระดูกจากซี่โครง (Ribs) และบางส่วนของกระดูก สะโพก (Ilium) ของตนเอง อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้กระดูกของผู้เข้ารับการทำศัลยกรรมเอง แต่อัตราการติดเชื้อก็ยังสูงอยู่

การเสริมคางยังคงเป็นที่นิยมอยู่เพราะว่าการผ่าตัดนั้นทำค่อนข้างง่ายและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเค้าโครงหน้าอย่างเห็นได้ชัด การผ่าตัดชนิดนี้มักทำโดยศัลยแพทย์ช่องปากและใบหน้าขากรรไกร (Oral and maxillofacial surgeon) ศัลยแพทย์โสตศอนาสิก (Otolaryngologist) หรือศัลยแพทย์ตกแต่ง (Plastic surgeon)

ePTFE (= Expanded polytetrafluoroethylene) คือ วัสดุสังเคราะห์อย่างหนึ่งในกลุ่มของพลาสติกที่ใช้เป็นวัสดุตกแต่งในศัลยกรรมตกแต่ง มีคุณสมบัติของการเข้ากันได้ทางชีวภาพกับร่างกายมนุษย์ (Bio-compatible) และไม่ก่อให้เกิดปัญหาภายในร่างกายมนุษย์

นอกจากนี้ยังมีลักษณะนุ่มและยืดหยุ่นได้แต่แข็งแรง จึงมักจะถูกเสริมเข้าไปในระหว่างการผ่าตัดและยึดติดกับกระดูกด้วยสกรูไททาเนียม (Titanium) แต่แรงยึดที่แท้จริงนั้นเกิดจากการคุณสมบัติรูพรุน (Porous) เล็กๆ ทำให้เนื้อเยื่อแทรกผ่านเข้าไปเจริญเติบโตได้ จึงสามารถยึดติดกับกระดูกได้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในร่างกาย

วัสดุที่ใช้เสริมคางอีกชนิดที่มีชื่อเรียกในทางการค้าว่า “AlloDerm” เป็นเนื้อเยื่อที่ได้รับการบริจาคมาจากผู้ตาย ภายหลังจากการตายทันที เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการจะเลาะแผ่นหนังบางๆ ออกและใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) และสารเคมีอื่นๆ เพื่อกำจัดเซลล์และ DNA (=Deoxyribonucleic acid) ของผู้ตายที่อาจทำให้เกิดปฏิกริยาต่อต้านออก เนื้อเยื่อปลูกถ่ายที่เกิดขึ้น (Graft) จะถูกนำไปปิดคางที่เสริม

นอกจากนี้ยังมีวัสดุเสริมคางที่เป็นซิลิโคน (Silicone) ซึ่งแตกต่างกันไปตามคุณสมบัติของความนิ่ม อย่างซิลิโคนที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นแบบยางธรรมชาติ (Silicone elastomers) และพลาสติกสังเคราะห์ที่มีรูพรุนที่ใช้ในศัลยกรรมตกแต่ง (Porous polyethylene)

แหล่งข้อมูล:

  1. ผ่าตัดเสริมคาง…เทรนด์ศัลยกรรมหนุ่มสาวมะกัน http://www.thaipost.net/x-cite/170512/56904 [2012, May 24].
  2. Chin augmentation. http://en.wikipedia.org/wiki/Chin_augmentation [2012, May 24].